ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนตฺตา”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
คำว่า อนตฺตา เป็นคำภาษาบาลี มีรากศัพท์มาจากคำว่า น (ไม่ ไม่ใช่) + อตฺตา (ตัวตน) แปลง น เป็น อน ต่อกันกับ อตฺตา จึงสำเร็จรูปเป็น อนตฺตา (อ่านว่า อะ - นัด - ตา) เขียนเป็นไทยได้ว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน คำว่า อนัตตา มีอรรถหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คือ เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ดังข้อความจากพระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ ตอนหนึ่ง ว่า อนึ่ง จักขุ (หมายถึง ตา เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง) นั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑ (หมายเหตุ ในที่นี้ยกมาเฉพาะ จักขุ เท่านั้น แท้ที่จริงแล้วธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา)
ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ หงุดหงิดโกรธขุ่นเคืองไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด ธรรม ไม่ได้หมายถึงเพียงสภาพธรรมฝ่ายดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่พ้นไปจากธรรมเลยเ มื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา จิต เจตสิก รูปนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ที่ไม่เที่ยงนั้นเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้นเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหมด แต่เมื่อกล่าวถึงอนัตตาแล้ว ไม่มีเว้นธรรมอะไรเลย หมายรวมถึงพระนิพพานด้วย เพราะพระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด เพราะพระธรรมทั้งหมดอุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจว่า มีแต่ธรรม ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และคำว่า อนัตตา นี้ ก็ครอบคลุมพระธรรมทั้งหมด
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ