อัตตา ๓ ประการ
โดย natural  12 พ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24846

อัตตา ๓ ประการคืออะไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า อัตตาให้ถูกต้องเสียก่อนครับว่า คือ อะไร อัตตา คือ ความเป็นเรา ซึ่งหากอธิบาย อัตตา 3 ความเป็นเรา 3 ประการ ก็สามารถอธิบายได้ดังนี้ ครับ

มีเรานั้น ก็มีด้วย อำนาจสภาพธรรม 3 อย่าง คือ ตัณหา ที่เป็นโลภเจตสิก มานะ และ ทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด

-ตัณหา เป็นความติดข้องต้องการ (โลภเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด

-มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าดีกว่าเขา เสมอเขา หรือ เลวกว่าเขา

-ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ความเป็นไปของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น ย่อมยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยอำนาจตัณหา คือ โลภะบ้าง มานะความถือตัวบ้าง ทิฏฐิ ความเห็นผิดบ้าง เพราะยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ซึ่งขออธิบายความเป็นเรา 3 อย่าง ดังนี้ ครับ

ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิดความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเรา หรือ เป็นเขาด้วยความติดข้องหรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจ ในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น และแม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดีก็เป็นเราด้วยตัณหาแต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพูมิแต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา

ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบ ว่าเราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบ นอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่นดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบ ครับ

ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือเป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิดคือ ขณะนั้นเป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยงยั่งยืนและยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้นมีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย natural  วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณมากค่ะ เรียนรบกวนถามหัวข้อในพระไตรปิฎกเพื่ออ่านเพิ่มเติม จากข้อความว่า ..พระพุทธเจ้าตรัสถึง “การได้อัตตา” หรือ “การเข้าครองตัวตน” (อัตตปฏิลาโภ) ไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๓๐๒ .. ไม่ทราบว่าอยู่ในส่วนไหนของพระไตรปิฎกค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๒

อัตตปฏิลาโภ แปลว่า การได้ซึ่งอัตภาพ

จาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค โปฏฐปาทสูตร

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๗๑

[๓๐๒] พ. โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพ ๓ นี้ คือที่หยาบ ที่สำเร็จด้วยใจ ที่หารูปมิได้.

ก็การได้อัตตภาพที่หยาบเป็นไฉน. กายที่มีรูปเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ มีคำข้าวเป็นภักษา นี้คือการได้อัตตภาพที่หยาบ.

การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจเป็นไฉน. กายที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่เสื่อมทราม นี้คือการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ.

การได้อัตตภาพอันหารูปมิได้เป็นไฉน. กายอันหารูปมิได้สำเร็จด้วยสัญญา นี้ คือ การได้อัตตภาพอันหารูปมิได้

สภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง เช่น เห็น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ได้ยินเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูปก็เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เพราะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดคืออวิชชา จึงหลงยึดถือในสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นอัตตาหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 12 พ.ค. 2557

อัตตา คือ ความเป็นเรา ที่ยึดถือในขณะนี้ ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย natural  วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 17 ก.พ. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 6 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย Sottipa  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณและอนุโมทนาทุกๆ ท่านที่หวังดี และคอยช่วยเหลือ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย Jiratchapan  วันที่ 22 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 25 พ.ย. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)