ถ. การเรียนมหาสติปัฏฐานหรืออภิธรรม ผมเข้าใจว่า จะต้องเรียนสมมติ บัญญัติด้วย ไม่ใช่เรียนแต่ปรมัตถ์ ถ้าเรียนแต่ปรมัตถ์ สงสัยจะเป็นบ้า ผมเข้าใจแบบปุถุชน เรารู้ปรมัตถ์ เห็นก็แค่เห็น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไปคิดแต่ปรมัตถ์เท่านั้น เราจะลืมสมมติ เราจะลืมบัญญัติ กลายเป็นบ้า เราต้องเรียนทั้ง ๓ อย่างใช่ไหม และเน้นไปทางปรมัตถ์ ปรมัตถ์ คือ ของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอน แต่สมมติ บัญญัติเราทิ้งไม่ได้ ผมยังข้องใจอยู่ทุก
สุ. ความรู้มี ๓ ขั้น คือ ขั้นการศึกษา ขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ
ขั้นการศึกษา ถ้าไม่มีคำ ไม่มีพยัญชนะ ไม่มีอรรถ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร ขั้นของปริยัติจึงต้องมีอรรถ พยัญชนะ
สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงสภาวะลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยใช้พยัญชนะ อรรถ ที่ไม่ทำให้คนฟังเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน
ในการปฏิบัติ เมื่อผู้ฟังเข้าใจปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว การเจริญสติเพื่อจะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็น ปรมัตถธรรมจริงๆ จะต้องอาศัยสติระลึกรู้สภาวะลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม อย่างขณะที่กำลังคิดเป็นนามธรรม เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เราคิด ไม่ใช่ตัวตนที่คิด สภาพธรรมที่คิดนั้นเป็นของจริง เป็นนามธรรมที่กำลังรู้เรื่องที่คิด ไม่ใช่รู้สี ไม่ใช่รู้เสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น ไม่ใช่รู้รส สติจะต้องระลึกได้ มิฉะนั้นแล้วเวลาคิดทีไรก็เป็นตัวตนทุกที ละคลายอัตตาไม่ได้เลย หวั่นไหวไป หรือใช้วิธีพยายามไปกั้นไว้ บังคับไว้ไม่ให้คิด ผู้นั้นจะไม่รู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องฟังให้เข้าใจ และจะต้องเจริญสติด้วย ถ้าเพียงแต่ฟังเท่านั้นไม่สามารถพิสูจน์ธรรมได้ว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นอย่างไร และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของสติที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นคืออะไร ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้ปรมัตถธรรม จะละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนให้หมดไม่ได้เลย ไม่มีหนทางอื่น เพราะความเป็นตัวตนนี้ละเอียดและลึกมากทีเดียว
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 176