นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นบัญญัติให้รู้อาการลักษณะของรูป
โดย chatchai.k  7 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43726

ต่อไปเป็นคำถามของท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายมา มีข้อความว่า

ถ. กระผมมีความเห็นในการเจริญสติปัฏฐาน ในอิริยาบถนั่ง มีรูปนามดังนี้ คือ ขณะที่ยืนอยู่นั้นสภาพธรรมเคร่งตึงของกายก็มี ขณะที่หย่อนกายลงนั่ง สภาพธรรมที่ไหวของกายก็มี ขณะผัสสะกับที่นั่งนั้น สภาพธรรมที่แข็งก็มี ที่อ่อนก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้น สภาพธรรมที่เย็นและร้อนมาผัสสะกายก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่เห็นก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่ได้ยินก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่รู้กลิ่นก็มี ขณะนั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่คิดนึกก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่คันก็มี ขณะที่นั่งอยู่นั้นสภาพธรรมที่ปวดเมื่อยก็มี

ฉะนั้น สภาพธรรมที่กระผมกล่าวมานี้ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานใช่ไหม ส่วนอิริยาบถต่างๆ เหล่านี้ เช่น นั่งขัดสมาธิบ้าง นั่งพับเพียบบ้าง นั่งยองๆ บ้าง นั่งชันเข่าบ้าง นั่งไขว่ห้างบ้าง นั่งห้อยเท้าบ้าง นั่งเหยียดเท้าบ้าง นั่งคุกเข่าบ้าง เหล่านี้เป็นต้น กระผมมีความเห็น เรียกว่าอิริยาบถใช่ไหม ฉะนั้น มีบางอาจารย์กล่าวว่ารูปนั่ง กระผมไม่ทราบว่า ดูรูปนั่งนั้นมีอยู่ตรงไหน ขอท่านอาจารย์ช่วยให้ความสว่างแก่กระผมด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

สุ. นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นบัญญัติให้รู้อาการลักษณะของรูปว่า ทรงอยู่ในลักษณะอย่างไร แต่ถ้าเป็นสภาพปรมัตถธรรม ต้องเป็นรูปใน ๒๘ รูป แล้วการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ กำลังเห็น อะไรปรากฏ กำลังได้ยิน อะไรปรากฏ ขณะนี้นั่ง อะไรกำลังปรากฏ ตามปกติธรรมดา ต้องรู้ลักษณะทางหนึ่งทางใด อย่าไปสร้างสิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะนั้นขึ้น อย่าไปจงใจจดจ้องจะรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น ถ้ากำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ มีอะไรปรากฏ มีอาตาปี เพียรใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียรรู้อย่างอื่น ไม่ใช่ไปเพียรทำอย่างอื่นขึ้นด้วย แต่หมายความว่าสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ก็มีอาตาปี เพียรใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกภูมิ ทุกภพ เหมือนกันหมด บนสวรรค์ รูปพรหม ก็ยังคงเห็น ได้ยิน การที่จะรู้แจ้ง ละความเห็นผิด ละความไม่รู้ ละความสงสัย ก็ด้วยการเจริญความรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่าข้ามสิ่งที่กำลังปรากฏไปหาสิ่งอื่น ได้ยินก็มี ทำไมไม่มีสติระลึก รู้ลักษณะของได้ยินหรือเสียง ทำไมไปจดจ้องต้องการรู้สิ่งอื่น ถ้าท่านไม่เคยรู้รูปนั่ง ก็ไม่ต้องไปรู้ ในเมื่อเห็นกำลังเห็น ได้ยินกำลังได้ยิน ถ้ามีกลิ่นปรากฏ กลิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ควรรู้ ทำไมจะต้องไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏให้รู้

ทางตาเห็นสี สีเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ แล้วรูปนั่งอยู่ที่ไหน จิตที่รู้สีทางตาดับไปแล้ว จิตที่รู้สีทางใจก็รู้สีนั้นต่อ เมื่อจิตรู้เสียงทางหูดับไปแล้ว จิตก็รู้เสียงนั้นทางใจต่อ เพราะฉะนั้น รูปที่รู้ได้ทางใจ ก็เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ที่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั่นเอง ตรงตามปริยัติหรือไม่ตรง

ดิฉันขอให้ท่านพิจารณา เพราะว่าการพิจารณาเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ท่านจะพิจารณาหรือว่าจะรู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏหรือไม่ปรากฏ ปกติไหม แล้วท่านจะเจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้ หรือยังต้องการเก็บความไม่รู้นั้นไว้มากๆ ถ้าไม่เก็บก็ต้องเจริญสติ เพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ที่บางท่านกล่าวว่า ฟังเรื่องของการเจริญสติ-ปัฏฐานมาก็นานแล้วแต่ไม่เข้าใจลักษณะของนามและรูป จนกระทั่งท่านต้องไปสู่สถานที่เงียบสงบ แล้วก็ได้เข้าใจลักษณะว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป

ใคร่ที่จะถามท่านผู้นั้นว่า สติ คือการรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะที่ท่านอยู่ในสถานที่ๆ สงบเงียบนั้น ต่างกับสติ การระลึกได้ตามปกติอย่างไร เพราะว่าลักษณะของสติแล้ว ต้องเป็นสภาพที่ระลึกได้ จะระลึกได้ในเรื่องของทาน หรือว่าจะระลึกได้ในเรื่องของศีล จะระลึกได้ในเรื่องของการทำให้จิตสงบจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ หรือว่าจะระลึกได้ในเรื่องปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อละความไม่รู้ นี่เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องทราบว่า ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แต่ว่าจะระลึกได้ขณะใด ขั้นใดนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ทราบลักษณะของสติ

สมมติว่า ท่านไปสู่สถานที่ๆ สงบและบอกว่า รู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะที่ท่านอยู่ในสถานที่นั้น สติในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของนามและรูปในสถานที่ที่สงบ กับสติขณะที่ท่านกำลังรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ ไม่ใช่อยู่ในสถานที่ๆ จำกัดอย่างนั้น ลักษณะของสติต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ท่านจะตอบได้ไหม ต้องไตร่ตรองและต้องคิดให้ถูกต้องด้วยเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานที่ตั้งของการระลึกรู้ ท่านก็ทราบว่า นามรูปทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล สำหรับผู้ที่รู้แจ้งลักษณะของนามและรูปแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็คือ นามและรูปเท่านั้นเอง กำลังเห็นในขณะนี้เป็นของจริง ถ้าไม่ระลึกได้ ก็เป็นเราเห็น ซึ่งเป็นความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกได้ จะระลึกได้เมื่อไร ก็ควรจะระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยินเช่นเดียวกัน ถ้าระลึกไม่ได้ ก็เป็นเราได้ยิน ก็เป็นเสียงเรา หรือเสียงคนนั้นคนนี้ แต่ว่าถ้าระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของได้ยิน หรือว่ารู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ตามปกติธรรมดา

เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นสติปัฏฐาน นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิด กำลังกระทบสัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง หรือว่าอ่อนบ้าง แข็งบ้าง ท่านอาจจะคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะระลึกรู้ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน บางท่านอาจจะคิดอย่างนี้ แต่ขอให้ท่านทราบว่า ที่ท่านยึดถือว่า เป็นตัวตน อ่อนไหม แข็งไหม ถ้าไม่รู้ขณะใด อ่อนนั้นเป็นตัวท่าน แข็งนั้นก็เป็นตัวท่าน หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน ทำให้ยึดถือว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ว่า เพราะเหตุใดจึงต้องรู้ตามปกติ เป็นหนทางที่จะประจักษ์สภาพความจริงที่ปรากฏ และรู้ว่าสภาพนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะหนึ่ง ถ้าเป็นอ่อนหรือแข็งก็ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นเพียงลักษณะของอ่อนหรือแข็งเท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่พิจารณาเนืองๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า อ่อนหรือแข็งนั้นไม่ใช่ตัวตน จะรู้ได้อย่างไรว่า อ่อนหรือแข็งนั้นเกิดดับ ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาเรื่องของที่ตั้งของการระลึกรู้คือ สติ โดยถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ท่านข้ามสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติธรรมดา จริงหรือไม่ ท่านข้ามปกติธรรมดาทุกๆ ครั้งที่เห็น ทุกๆ ครั้งที่ได้ยิน ที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แล้วก็ต้องการจะไปดูสิ่งอื่น นั่นเป็นความต้องการที่จะดู ไม่รู้สิ่งที่มีปรากฏเลย เรื่องของตาไม่รู้เลย เรื่องของหูก็ไม่รู้ เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจก็ไม่รู้ แต่จะไปดูสิ่งซึ่งท่านไม่เคยเห็น โดยทุกสิ่งที่มีตามปกติมีอยู่แล้ว แต่ท่านไม่รู้เลย เมื่อไม่รู้จะชื่อว่า เจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

จิตก็มีทั้งโลภะ มีทั้งโทสะ มีทั้งโมหะ ถ้าไม่ระลึกรู้จิตที่เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง แล้วปัญญาจะรู้อะไร จิตมีตลอดเวลา ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ มีอยู่ตลอดเวลา เห็นมี ได้ยินมี เสียงมี สีมี กลิ่นมี รสมีตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้เลย และก็ไม่เจริญสติ ไม่ระลึก ไม่ใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วท่านจะรู้อะไร ในเมื่อที่ท่านคิดว่าท่านรู้นี้ ท่านไม่ได้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ จะชื่อว่าเจริญสติปัฏ-ฐานได้ไหม ละคลายอะไรบ้าง ถ้าเจริญโดยไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ แต่พอใจ ต้องการที่จะไปดูสิ่งซึ่งไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ

ถ้าท่านระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทุกขณะจะตรงกับมหาสติปัฏฐานไหม ในมหาสติปัฏฐานมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าสิ่งใดกระทบปรากฏที่กาย ก็รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงปกติธรรมดาทุกๆ ขณะ เพื่อจะละความไม่รู้ ความรู้สึกใดๆ จะเป็นความแช่มชื่น ไม่แช่มชื่นเกิดขึ้นขณะใด เป็นของจริงที่สติควรระลึกรู้ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ารู้แล้วก็ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดในความรู้สึกที่กำลังปรากฏ หรือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่กำลังปรากฏก็เป็นของจริง ผู้ที่ระลึกได้ ย่อมพิจารณาแล้วก็ละ

นี่คือมหาสติปัฏฐาน ตามปกติ ตามธรรมดาทุกอย่าง ไม่ควรข้าม แล้วต้องการดู พยายามไปดูให้เห็นสิ่งซึ่งไม่เห็นตามปกติ ซึ่งที่ถูกแล้วควรเจริญสติ ระลึกได้เมื่อกำลังดำเนินชีวิตตามปกติ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ขอให้เลิกละความต้องการที่จะไปดูสิ่งที่ไม่ใช่ปกติ เพราะขณะนั้นมีความพอใจ มีความต้องการอาศัยอยู่แล้ว จึงไม่ใช่การรู้ลักษณะของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่กำลังปรากฏตามปกติเลย

ก็ยังมีปัญหาต่อไปอีกสำหรับท่านที่ได้ฟังเรื่องของนามและรูปแล้ว ท่านกล่าวว่าปัญญาขั้นต่อไปนั้นเป็นอะไร เหมือนกับเป็นธรรมดาเสียเหลือเกินที่ท่านรู้แล้ว แต่ไม่ใช่รู้แล้วเลย เพราะเพียงทราบว่าอะไรเป็นนามอะไรเป็นรูปโดยการฟังว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นรูป เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้

หรือว่ากำลังได้ยินทางหู สภาพที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ ส่วนเสียงไม่ใช่สภาพรู้ ท่านเข้าใจอย่างนี้แล้วโดยปริยัติ แต่ไม่ใช่พอ อย่าคิดว่าแค่นี้พอแล้ว แค่นี้รู้แล้ว ความรู้ขั้นนี้เป็นแต่เพียงความรู้ขั้นปริยัติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ขั้นญาณ ไม่ใช่ผลของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ที่เกิดพร้อมกับสติ ระลึกได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละลักษณะ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งหมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูปที่ต่างกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปัญญายังเจริญอีกเรื่อยๆ ละคลายมากขึ้น และประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปที่มีอยู่ตามปกติธรรมดานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ไม่ใช่รู้แล้วโดยขั้นการฟัง แต่หมายความว่า จะต้องมีสติ ระลึกได้ และรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของนามและรูป

ถ้าท่านกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นระลึกได้ พิจารณาว่าเป็นสภาพรู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องให้ชัดเจนทั้งสองอย่าง อย่ารวมๆ ว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริงเลย

สำหรับในตอนนี้มีท่านผู้ใดสงสัยไหม เพราะว่าความจริงก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อยากให้สติของท่านระลึกรู้เนืองๆ ในสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ไม่ต้องการที่จะไปดู สิ่งซึ่งไม่ใช่เป็นปกติ เพราะเหตุว่าสภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม ไม่ใช่ท่านจะไปดูนามได้ แต่ท่านรู้นามได้ ท่านรู้รูปได้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นความรู้เจริญขึ้น ไม่ใช่ว่าจะไปดูจนกระทั่งเห็นอะไร ถ้าปัญญาไม่รู้แล้ว ไม่เห็นการเกิดของนาม ซึ่งเห็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม ที่จะรู้ลักษณะของนามได้ต้องเป็นนาม สภาพรู้ก็เป็นนาม ไม่ใช่จะไปดู แต่ว่ารู้ เจริญความรู้ให้มากขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 35

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 36