ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้โดยสถาน ๓ [ฐานสูตร]
โดย เมตตา  23 พ.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16295

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓ - หน้าที่ 192-193

ฐานสูตร

[๔๘๑]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้โดยสถาน ๓

สถาน ๓ คืออะไรบ้าง? คือ

เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑

เป็นผู้ใคร่ที่จะฟังพระธรรม ๑

เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือ ตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างแล้ว (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑

ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้โดยสถาน ๓ นี้แล.

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนา จะฟังพระสัทธรรม กำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า ผู้มีศรัทธา.

จบฐานสูตรที่ ๒

อรรถกถาฐานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในฐานสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า วิคตมลมจฺเฉเรน ความว่า ปราศจากมลทินคือความตระหนี่.

บทว่า มุตฺตจาโค ความว่า มีการสละโดยไม่ข้องใจ.

บทว่า ปยตปาณี ความว่า มีมืออันล้างแล้ว อธิบายว่า ผู้ไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็จัดว่า ยังมีมือเปื้อนอยู่นั่นแล แต่คนมีศรัทธา ชื่อว่ามีมืออันล้างสะอาดแล้วทีเดียว เพราะเป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน.

บทว่า โวสฺสคฺครโต ความว่ายินดีแล้วในทาน กล่าวคือการเสียสละ.

บทว่า ยาจโยโค ความว่า สมควรให้ขอ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ยาจโยโค เพราะมีความเหมาะสมกับด้วยยาจกทั้งหลายบ้าง.

บทว่า ทานสํวิราครโต ความว่า เมื่อจะให้ทานก็ดี เมื่อจะทำการจัดแบ่งก็ดี ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ยินดีในทานและการจัดแบ่ง.

บทว่า ทสฺสนกาโม สีลวตํ ความว่า มีความประสงค์จะพบท่านผู้ทรงศีล ๑๐ โยชน์ก็ไป ๒๐ โยชน์ก็ไป ๓๐ โยชน์ก็ไป ๑๐๐ โยชน์ก็ไป ดุจปาฏลีปุตตกพราหมณ์ และพระเจ้าสัทธาติสสมหาราช. เกลากิเลสต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 18 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น