เรียนถามอาจารย์ทั้งสองท่านค่ะ จากการที่ศึกษาเรื่อง "เหตุ" ซึ่งเป็นเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก ก็พอเข้าใจความสำคัญคือ เหตุปัจจัยมีความสำคัญมาก เหมือนเป็นรากแก้ว ที่ทำให้เกิดผลอย่างงอกงามไพบูลย์เหมือนเป็นรากแก้ว ต่างกับปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เหตุปัจจัย
แต่คราวนี้มีความสงสัยเกี่ยวกับการที่กล่าวถึงโมหเจตสิกว่าเป็น "อเหตุกะ" หรือ "สเหตุกะ" ได้แล้วแต่กรณี ว่ามีนัยสำคัญอย่างไรหรือไม่ คือโมหเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตและโทสมูลจิต จะเป็น "สเหตุกเจตสิก" เนื่องจากเกิดร่วมกับเหตุคือโลภเจตสิกและโทสเจตสิกตามลำดับ แต่สำหรับโมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต ซึ่งมีเหตุเดียว โมหเจตสิกนั้นจะเรียกว่าเป็น "อเหตุกเจตสิก" ดิฉันสงสัยว่าการที่กล่าวถึงว่าโมหเจตสิกมีการแยกเป็นอเหตุกะและสเหตุกะดังกล่าวนี้มีนัยสำคัญอย่างไรหรือไม่คะ เพราะเข้าใจว่าน่าจะมีความสำคัญอะไรอยู่ จึงมีการกล่าวถึงค่ะ เหมือนกับการที่ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะ จึงมีการบัญญัติคำเพื่ออธิบาย ไม่แน่ใจว่าจะอธิบายสิ่งที่ตัวเองสงสัยถูกหรือไม่ค่ะ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านอย่างยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า อเหตุกะ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ส่วน สเหตุกะ คือ สภาพธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ เหตุ ก็ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภทที่เป็นเหตุ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ และ อโมหะ (ปัญญา)
สำหรับ การกล่าวถึงโมหเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต กล่าวได้ว่า โมหเจตสิก เป็นเหตุ แต่ในขณะที่โมหมูลจิตเกิดขึ้นนั้น โมหะเป็นเพียงเหตุเดียวเท่านั้น จึงไม่ได้เกิดร่วมกับเหตุอื่น ดังนั้น โมหเจตสิก ที่เกิดกับโมหมูลจิต จึงเป็น อเหตุกะ คือ ไม่มีเหตุ เกิดร่วมด้วย (กล่าวคือ ไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะหรือโทสะเลย)
แต่ถ้ากล่าวถึง โมหเจตสิก ที่เกิดกับโลภมูลจิต และ โทสมูลจิต ต้องเป็นสเหตุกะ อย่างแน่นอน เพราะถ้าเกิดกับโลภมูลจิต ก็มีโลภะ เกิดร่วมด้วย ถ้าเกิดกับโทสมูลจิต ก็มีโทสะ เกิดร่วมด้วย
แสดงตามความเป็นจริงของธรรม ที่เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ทั้งหมด คือ สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่มีการฟังการศึกษา ก็เพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และการศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด อนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ