พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 751
อรรถกถาการันทิยชาดกที่ ๖
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ พระธรรมเสนาบดี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอโก อรญฺเญ ดังนี้.
ได้ยินว่า พระเถระให้ศีลแก่คนทุศีลทั้งหลาย มีพรานเนื้อและ คนจับปลาเป็นต้น ที่ผ่านๆ มา ซึ่งท่านได้พบได้เห็นเท่านั้นว่า ท่าน ทั้งหลายจงถือศีล ท่านทั้งหลายจงถือศีล. ชนเหล่านั้น มีความเคารพ ในพระเถระ ไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของพระเถระนั้น จึงพากันรับศีล ก็แหละครั้นรับแล้วก็ไม่รักษา คงกระทำการงานของตนๆ อยู่อย่างเดิม พระเถระเรียกสัทธิวิหาริกทั้งหลายของตนมาแล้วกล่าวว่า อาวุโสทั้ง หลายคนเหล่านี้รับศีลในสำนักของเรา ก็แหละครั้นรับแล้วก็ไม่รักษา
สัทธิวิหาริกทั้งหลายกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านให้ศีลโดยความไม่พอใจ ของชนเหล่านั้น พวกเขาไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของท่านจึงรับเอา ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านอย่าได้ให้ศีลแก่ชนทั้งหลายเห็นปานนี้ ภิกษุทั้งหลายได้สดับเรื่องราวนั้นแล้วก็สนทนากันขึ้นในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่าพระสารีบุตรให้ศีลแก่คนที่ท่านได้ประสบพบเห็นเท่านั้น. พระ-ศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระสารีบุตรนี้ก็ให้ศีลแก่คนที่ตนได้ประสบพบเห็น ซึ่งไม่ขอศีลเลย แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว ได้เป็น อันเตวาสิกผู้ใหญ่ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักกศิลา ชื่อว่า การันทิยะ. ครั้งนั้น อาจารย์นั้นให้ศีลแก่คนที่ได้ประสบพบเห็นมีชาว ประมงเป็นต้นผู้ไม่ขอศีลเลยว่า ท่านทั้งหลายจงรับศีล ท่านทั้งหลาย จงรับศีล ดังนี้. ชนเหล่านั้นแม้รับเอาแล้วก็ไม่รักษา. อาจารย์จึงบอก ความนั้นแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย อันเตวาสิกทั้งหลายจึงพากัน กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านให้ศีลโดยความไม่ชอบใจของชนเหล่านั้น เพราะ ฉะนั้น พวกเขาจึงพากันทำลายเสีย จำเดิมแต่บัดนี้ไป ท่านพึงให้ เฉพาะแก่คนที่ขอเท่านั้น อย่าให้แก่คนที่ไม่ขอ. อาจารย์นั้นได้เป็น ผู้วิปฏิสารเดือดร้อนใจ. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยังคงให้ศีลแก่พวกคน ที่ตนได้ประสบพบเห็นอยู่นั่นแหละ. อยู่มาวันหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลาย มาจากบ้านแห่งหนึ่ง เชิญอาจารย์ไปเพื่อการสวดของพราหมณ์
อาจารย์นั้นเรียกการันทิยมาณพมาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนพ่อ ฉันจะไม่ ไป เธอจงพามาณพ ๕๐๐ นี้ไปในที่สวดนั้น รับการสวดแล้ว จง นำเอาส่วนที่เขาให้เรามา ดังนี้ แล้วจึงส่งไป. การันทิยมาณพนั้นไป แล้วกลับมา ในระหว่างทาง เห็นซอกเขาแห่งหนึ่งจึงคิดว่า อาจารย์ ของพวกเราให้ศีลแก่คนที่ได้ประสบพบเห็น ซึ่งไม่ขอศีลเลย จำเดิม แต่บัดนี้ไป เราจะทำอาจารย์นั้นได้ให้ศีลเฉพาะแก่พวกคนที่ขอเท่านั้น เมื่อพวกมาณพนั้นกำลังนั่งสบายอยู่ เขาจึงลุกขึ้นไปยกศิลาก้อนใหญ่ โยนลงไปในซอกเขา โยนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นแหละ.
ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นจึงลุกขึ้นพูดกะการันทิยมาณพนั้นว่า อาจารย์ ท่านทำ อะไร. การันทิยมาณพนั้นไม่กล่าวคำอะไรๆ . มาณพเหล่านั้นจึงรีบไป บอกอาจารย์. อาจารย์มาแล้ว เมื่อจะเจรจากับการันทิยมาณพนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ท่านผู้เดียวรีบร้อน ยกก้อนหินใหญ่ กลิ้งลงไปในซอกเขาในป่า ดูก่อนการันทิยะ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยการทิ้งก้อน หินลงในซอกเขาเล่านี้หนอ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกนุ ตวยิธตฺโถ ความว่า ประโยชน์อะไรหนอ ด้วยการที่ท่านทิ้งศิลาลงในซอกเขานี้.
การันทิยมาณพนั้นได้ฟังคำของอาจารย์นั้นแล้ว ประสงค์จะ ท้วงอาจารย์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
ข้าพเจ้าเกลี่ยหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ลง จักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ ซึ่งมีมหาสมุทรสี่ เป็นขอบเขต ให้ราบเรียบเพียงดังฝ่ามือ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ทิ้งหินลงใน ซอกเขา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่าอห หิม ความว่า ก็ข้าพเจ้า เกลี่ยหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ลง จักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ ให้ราบ เรียบ. บทว่า สาครเสวิตนฺต ได้แก่ อันสาครทะเลใหญ่บรรจบแล้ว มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นที่สุด. บทว่า ยถาปิ ปาณิ ความว่า เราจัก กระทำให้ราบเสมอดังฝ่ามือ. บทว่า วิกีริย แปลว่า เกลี่ยแล้ว. บทว่า สานูนิ จ ปพฺพตานิ ได้แก่ ภูเขาดินและภูเขาหิน.
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
ดูก่อนการันทิยะ เราสำคัญว่า มนุษย์ คนเดียว ย่อมไม่สามารถจะทำแผ่นดินให้ราบ เรียบดังฝ่ามือได้ ท่านพยายามจะทำซอกเขา นี้ให้เต็มขึ้น ท่านก็จักละชีวโลกนี้ไปเสีย เปล่าเป็นแน่.
บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กรณายเมยเมโก นี้ ท่านแสดง ว่า คนผู้เดียวไม่อาจกระทำได้ คือไม่สามารถจะกระทำได้. บทว่า มญฺามิมญฺเว ทรึ ชิคึส ความว่า เราย่อมสำคัญว่า แผ่นดิน จงยกไว้ก่อนเถิด ซอกเขานี้เท่านั้น ท่านพยายามเพื่อต้องการจะทำให้ เต็มขึ้น เที่ยวแสวงหาหินทั้งหลายมา คิดค้นหาอุบายอยู่นั่นแล. จะ ละคือจักละชีวโลกนี้ไป อธิบายว่า จักตายเสียเปล่า.
มาณพได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หากว่ามนุษย์คน เดียว ไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่นี้ให้ราบ เรียบได้ ฉันใด ท่านก็จักนำมนุษย์เหล่านี้ผู้มี ทิฏฐิต่างๆ กันมาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
คำที่เป็นคาถานั้นมีความว่า ถ้ามนุษย์คนเดียวนี้ ไม่อาจ คือ ไม่สามารถทำแผ่นดิน คือ ปฐพีใหญ่นี้ให้ราบเรียบ ฉันใด ท่านก็จัก นำมนุษย์ทุศีลผู้มีทิฏฐิต่างกันมาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือท่านกล่าว กะมนุษย์เหล่านั้นว่า พวกท่านจงรับศีล จักนำมาสู่อำนาจของตนไม่ได้ ฉันนั้น ด้วยว่าคนที่เป็นบัณฑิตเท่านั้น ย่อมติเตียนปาณาติบาตว่า เป็นอกุศล ส่วนคนพาลไม่เชื่อสังสาระ เป็นผู้มีความสำคัญในข้อ นั้นว่าเป็นกุศล ท่านจักนำคนเหล่านั้นมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านอย่าให้ศีลแก่คนที่ได้ประสบพบเห็น จงให้แก่คนที่ขอเท่านั้น.
อาจารย์ได้ฟังดังนั้นคิดว่า การันทิยะพูดถูกต้อง บัดนี้ เรา จักไม่กระทำอย่างนั้น ครั้นรู้ว่าตนผิดแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-
ดูก่อนการันทิยะท่านได้บอกความ จริงโดยย่อแก่เรา ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง แผ่นดินนั้น มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบ เรียบได้ ฉันใด เราก็ไม่อาจทำมนุษย์ทั้งหลาย ให้มาอยู่ในอำนาจของเราได้ ฉันนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมาย ตัดเป็น สมา อย.
อาจารย์ได้ทำความชมเชยมาณพอย่างนี้. ฝ่ายมาณพนั้นท้วง อาจารย์นั้นแล้ว ตนเองก็นำท่านไปยังเรือน พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรง ประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร ส่วน การันทิยบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาการันทิยชาดกที่ ๖
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ดีมากค่ะ
ขออนุโมทนาครับ