ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์ ครั้งที่ ๑๙๕๒ ค่ะ
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็น่าคิดที่ว่า สัตว์เดรัจฉานเกิดมาแล้ว ก็มีตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แล้วคนที่เกิดเป็นมนุษย์ล่ะ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าจะปล่อยให้มีแต่อกุศลมากๆ ก็คงไม่ต่างกับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าผู้ใดเจริญกุศล นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ต่างกัน เพราะโอกาสของการเกิดเป็นมนุษย์ ควรจะเป็นโอกาสที่จะได้เจริญกุศล เพราะถ้าเกิดในอบายภูมิ ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลได้
นี่ก็เป็นวิริยกถาที่แสดงให้เห็นว่า ควรที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพราะว่าการเกิด การตายเป็นธรรมดาของชีวิต มื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย และทุกคนที่เกิดตายๆ ๆ ๆ ก็จะต้องเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่าในภพไหน ชาติไหนจะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม อย่างในชาตินี้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ว่าตอนที่จะจุติ คือ ตอนที่จะตาย ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผล ทุกคนเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานมาแล้วทั้งนั้น และทุกคนก็เกิดในสวรรค์มาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าชาติไหนเป็นเปรต เป็นสัตว์ในนรก เป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทไหน แต่ถ้าคิดถึงสภาพของปรมัตถธรรม โดยที่ไม่คิดถึงรูปร่าง อกุศลวิบากจิตไม่ว่าจะเกิดกับสัตว์เดรัจฉาน หรือเปรต หรือนรก อสุรกาย หรือมนุษย์ หรือเทวดา สภาพของอกุศลวิบาก ก็เป็นอกุศลวิบาก คือ จิตซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตาเหมือนกันหมด ถ้าไม่คำนึงถึงรูปร่าง อกุศลวิบากจิตก็คือขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นกำเนิดอะไรทั้งนั้น โสตวิญญาณอกุศลวิบากก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ฆานวิญญาณอกุศลวิบากก็ได้กลิ่นที่ไม่ดี ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ก็ลิ้มรสที่ไม่ดี ทุกขกายวิญญาณอกุศลวิบาก ก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ทำให้เกิดทุกขเวทนาสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ก็รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณหรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ โดยรู้อารมณ์ที่ไม่ดีสันตีรณอกุศลวิบาก ก็เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ