เรื่อง ปาฏิกาชีวก
โดย khampan.a  2 ก.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23117

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ ๖๐

เรื่องปาฏิกาชีวก

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอาชีวกชื่อ ปาฏิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ปเรสํ วิโลมานิ" เป็นต้น

ชาวบ้านสรรเสริญธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

ดังได้สดับมา หญิงแม่เรือนคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ปฏิบัติอาชีวก ชื่อปาฏิกะ ตั้งไว้ในฐานะดังลูก. พวกมนุษย์ในเรือนใกล้เคียงของนาง ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มาพรรณนาพระพุทธคุณโดยประการ ต่างๆ เป็นต้นว่า "แหม พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ (นัก)"

นางอยากไปฟังธรรมแต่ไม่สมประสงค์

หญิงแม่เรือนนั้น ฟังถ้อยคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว ประสงค์จะไปสู่วิหารแล้วฟังธรรม จึงเล่าความนั้นแก่อาชีวก แล้วกล่าว ว่า "พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันจักไปสำนักของพระพุทธเจ้า." อาชีวกนั้นห้ามว่า " อย่าไปเลย" แล้วก็เลยห้ามนางแม้ผู้อ้อนวอน อยู่แล้วๆ เล่าๆเสียทีเดียว.

นางคิดว่า "พระผู้เป็นเจ้านี้ ไม่ให้เราไปวิหารฟังธรรม. เรา จักนิมนต์พระศาสดามา แล้วฟังธรรมในที่นี้แหละ" ดังนี้แล้ว ใน เวลาเย็น จึงเรียกบุตรชายมาแล้วส่งไปด้วยคำว่า "เจ้าจงไป จงนิมนต์ พระศาสดามาเพื่อเสวยภัตตาหารพรุ่งนี้"

บุตรชายนั้น เมื่อจะไป ก็ไปที่อยู่ของอาชีวกก่อน ไหว้อาชีวก แล้วนั่ง. ทีนั้น อาชีวกนั้นถามเขาว่า "เธอจะไปไหน"

บุตร ผมจะไปนิมนต์พระศาสดาตามคำสั่งของคุณแม่.

อาชีวก อย่าไปสำนักของพระองค์เลย.

บุตร ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ผมจักไป.

อาชีวก เราทั้งสองคน จักกินเครื่องสักการะที่คุณแม่ของเธอทำ ถวายพระศาสดานั่น อย่าไปเลย.

บุตร ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า คุณแม่จักดุผม.

อาชีวก ถ้ากระนั้น ก็ไปเถิด ก็แล ครั้นไปแล้ว จงนิมนต์ (แต่) อย่าบอกว่า 'พระองค์พึงเสด็จไปเรือนของพวกข้าพระองค์ในที่ โน้น ในถนนโน้น หรือโดยหนทางโน้น' (ทำ) เป็นเหมือนยืนอยู่ใน ที่ใกล้เหมือนจะไปโดยหนทางอื่น จงหนีมาเสีย

บุตรชายทำตามคำของชีวก

เขาฟังถ้อยของอาชีวกแล้วไปสำนักของพระศาสดา นิมนต์แล้ว ทำกิจทุกสิ่งโดยทำนองอาชีวกกล่าวแล้วนั่นแล แล้วไปสำนักของอาชีวก นั้น ถูกอาชีวกถามว่า "เธอทำอย่างไร" จึงตอบว่า "ที่ท่านบอกทั้งหมด ผมทำแล้ว ขอรับ" อาชีวกกล่าวว่า "เธอทำดีแล้ว เรา ทั้งสองคนจักกินเครื่องสักการะที่คุณแม่ของเธอทำไว้เพื่อพระศาสดานั้น" ดังนี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้น อาชีวกได้ไปสู่เรือนนั้นแต่เช้าตรู่ พวกคนในบ้านพาชีวกนั้นให้ไปนั่งที่ห้องหลัง พวกมนุษย์คุ้นเคยฉาบทาเรือนนั้นด้วยโคมัยสด โปรยดอกไม้ซึ่งมีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ลง แล้วปูลาด อาสนะอันควรแก่ค่ามาก เพื่อประโยชน์แก่การประทับนั่งของพระศาสดา จริงอยู่ พวกมนุษย์ที่ไม่คุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า ย่อมไม่รู้จักการปูลาดอาสนะ

พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยือนอุบาสิกา

อนึ่ง ชื่อว่ากิจ (เนื่อง) ด้วยผู้แสดงทาง ย่อมไม่มีแก่พระ- พุทธเจ้าทั้งหลาย: เพราะหนทางทั้งหมดแจ่มแจ้งแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วว่า "ทางนี้ไปนรก, นี้ไปกำเนิดดิรัจฉาน, นี้ไปเปตวิสัย, นี้ไป มนุษยโลก, นี้ไปเทวโลก, นี้ไปอมตนิพพาน" ในวันที่ทรงยังหมื่นแห่ง โลกธาตุให้หวั่นไหว แล้วบรรลุสัมโพธิที่โคนต้นโพธินั่นแล, จึงไม่มี คำที่ควรกล่าวในหนทางแห่งสถานที่ต่างๆ มีคามและนิคมเป็นต้นเลย เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวรแล้ว จึงเสด็จไปสู่ประตูเรือน ของมหาอุบาสิกาแต่เช้าตรู่. นางออกมาจากเรือน ถวายบังคมพระศาสดา ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ อัญเชิญให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ให้ประทับนั่ง เหนืออาสนะแล้วถวายทักษิโณทก อังคาสด้วยชาทนียะ และโภชนียะ อันประณีต. อุบาสิกาประสงค์จะให้พระศาสดาผู้ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาจึงรับบาตรแล้ว.

อุบาสิกาฟังธรรมแล้วถูกอาชีวกด่า

พระศาสดา ทรงเริ่มธรรมกถาสำหรับอนุโมทนา ด้วยพระสุรเสียง อันไพเราะ อุบาสิกาฟังธรรมพลางให้สาธุการว่า "สาธุ สาธุ" อาชีวกนั่งอยู่ห้องหลังนั่นแล ได้ยินเสียงนางให้สาธุการแล้วฟังธรรมอยู่ ไม่อาจจะอดทนอยู่ได้ จึงออกไป ด้วยคิดว่า "ทีนี้แหละ นางไม่เป็นของเราละ" ดังนี้แล้ว ด่าอุบาสิกาและพระศาสดาโดยประการต่างๆ ว่า "อีกาลกิณี มึงเป็นคนฉิบหาย มึงจงทำสักการะนี้แก่สมณะนั่นเถิด" ดังนี้เป็นต้น หนีไปแล้ว

อุบาสิกามีจิตฟุ้งซ่าน

อุบาสิกาละอาย เพราะถ้อยคำของอาชีวกนั้น ไม่อาจจะส่งจิตซึ่งถึงความฟุ้งซ่านไปตามกระแสแห่งเทศนาได้

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า "อุบาสิกา เธอไม่อาจทำจิตให้ไปตาม (แนว) เทศนาได้หรือ"

อุบาสิกา พระเจ้าค่ะ เพราะถ้อยคำของอาชีวกนี้ จิตของข้าพระองค์ เข้าถึงความฟุ้งซ่านเสียแล้ว

พระศาสดา ตรัสว่า "ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำที่ชนผู้ไม่เสมอภาค กันเห็นปานนี้กล่าว การไม่คำนึงถึงถ้อยคำเห็นปานนี้แล้ว ตรวจดูกิจ ที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้นจึงควร" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถา นี้ว่า :- น ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ อตฺตโน ว อเวกฺเขตยฺย กตานิ อกตานิ จ

"บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ ในใจ ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคน เหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำ ของตนเท่านั้น"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า น ปเรสํ วิโลมานิ ความว่า ไม่ควรทำคำแสยงขน คือคำหยาบ ได้แก่คำตัดเสียซึ่งความรัก ของตนเหล่าอื่นไว้ในใจ

บาทพระคาถาว่า น ปเรสํ กตากตํ ความว่า ไม่ควรแลดู กรรมที่ทำแล้วและยังไม่ทำแล้ว ของคนเหล่าอื่น อย่างนั้นว่า "อุบาสก โน้น ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส แม้วัตถุมีภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน เขาก็ไม่ให้ สลากภัตเป็นต้น เขาก็ไม่ให้ การให้ปัจจัยมี จีวรเป็นต้น ไม่มีแก่อุบาสกนั่น อุบาสิกาโน้นก็เหมือนกัน ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน นางก็ไม่ให้สลากภัตเป็นต้น ก็ไม่ให้ การให้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ก็ไม่มีแก่อุบาสิกา นั้น ภิกษุโน้นก็เช่นกัน ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทั้งไม่ทำอุปัชฌายวัตร ไม่ทำอาจริยวัตร ไม่ทำอาคันตุกวัตร ไม่ทำวัตรเพื่อภิกษุผู้เตรียมจะไป ไม่ทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ ไม่ทำวัตรในโรงอุโบสถ ไม่ทำวัตรที่หอฉัน ไม่ทำวัตรมีวัตรในเรือนไฟ เป็นต้น ทั้งธุดงค์ไรๆ ก็ไม่มีแก่เธอ แม้เหตุสักว่าความอุตสาหะ เพื่อความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ก็ไม่มี"

บาทพระคาถาว่า อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย ความว่า กุลบุตร ผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อระลึกถึงโอวาทนี้ว่า "บรรพชิต พึงพิจารณาเนืองๆ ว่า 'วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่" ดังนี้แล้ว ก็พึงแลดูกิจ ที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนอย่างนั้นว่า "เราไม่อาจจะยกตนขึ้นสู่ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทำให้เกษมจากโยคะ หรือหนอ"

ในกาลจบเทศนา อุบาสิกาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว เทศนา มีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล

เรื่องปาฏิกาชีวก จบ



ความคิดเห็น 1    โดย สิริพรรณ  วันที่ 5 มิ.ย. 2564

กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า
กราบขอบพระคุณอ.คำปั่นด้วยความเคารพค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น