๒. ภัททชิเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระภัททชิเถระ
โดย บ้านธัมมะ  19 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40547

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 103

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๓

๒. ภัททชิเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระภัททชิเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 103

๒. ภัททชิเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระภัททชิเถระ

[๒๗๙] ได้ยินว่า พระภัตทชิเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

พระเจ้าปนาทะมีปราสาททอง กว้างโยชน์กึ่ง สูง ๒๕ โยชน์ มีชั้นพันชั้น ร้อยพื้น สล้างสลอนไปด้วยธง แวดล้อมไปด้วยแก้วมณี สีเขียวเหลือง ในปราสาทนั้น มีคนธรรพ์ ประมาณ ๖,๐๐๐ แบ่ง เป็น ๗ พวก พากันฟ้อนรำอยู่.

อรรถกถาภัททชิเถรคาถา

คาถาของท่านพระภัททชิเถระ เริ่มต้นว่า ปนาโท นาม โส ราชา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า พระเถระนี้เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว เรียนจบศิลปวิทยาของพราหมณ์ทั้งหลาย ละกามทั้งหลายแล้ว บวชเป็นดาบส ให้เขาสร้างอาศรมอยู่ที่ชัฎป่า วันหนึ่ง เห็นพระศาสดาเสด็จไปโดยอากาศ เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ยืนประคองอัญชลีอยู่. พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของดาบสแล้ว เสด็จลงจากอากาศ. ดาบสน้อมเอาน้ำผึ้ง เหง้าบัว เนยใส และน้ำนม เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ดาบส จึงทรงรับไว้ตรัสอนุโมทนา แล้วเสด็จหลีกไป.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 104

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในภพดุสิต ดำรงอยู่ในดุสิตพิภพนั้นจนตลอดอายุ แต่นั้นก็ท่องเที่ยววนไปเวียนมาอยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น (เกิด) เป็นเศรษฐี มีทรัพย์มาก ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ยังภิกษุสงฆ์ ๖๘.๐๐๐ ให้ฉันภัตตาหาร แล้วให้ครองไตรจีวร.

เขาบำเพ็ญกุศลเป็นอันมากอย่างนี้แล้ว บังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ ในเทวโลกนั้นจนตลอดอายุ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วบังเกิดในมนุษย์ เมื่อโลกว่างจากพระพุทธเจ้า ก็บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๕๐๐ ด้วยปัจจัย ๔ จุติจากมนุษยโลกแล้ว บังเกิดในราชตระกูล สืบราชสมบัติมาโดยลำดับ บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ของพระองค์) ผู้บรรลุปัจเจกโพธิญาณดำรงอยู่แล้ว เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เก็บพระธาตุมาก่อพระเจดีย์บูชา เขากระทำบุญนั้นๆ ไว้ในภพนั้นๆ อย่างนี้แล้ว เกิดเป็นบุตรคนเดียวของ ภัตทิยเศรษฐี ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในภัตทิยนคร ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ มีนามว่า ภัททชิ ได้ยินมาว่า อิสริยสมบัติ โภคสมบัติ และบริวารสมบัติ เป็นต้นของท่านได้มีเหมือนของพระโพธิสัตว์ในภพสุดท้าย.

ในครั้งนั้น พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี เสด็จไป ภัททิยนคร พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อจะทรงสงเคราะห์ภัททชิกุมาร ทรงคอยความแก่กล้าแห่งญาณ ของภัททชิกุมาร จึงประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน. แม้ภัททชิกุมาร นั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน เปิดสีหบัญชรมองดู เห็นมหาชน เดินทางไปฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถามว่า มหาชนกลุ่มนี้ไปที่ไหน? ทราบเหตุนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา ด้วยบริวารเป็นอันมาก แม้ตนเอง ฟังธรรมอยู่ ทั้งๆ ที่ประดับประดาไปด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ยังกิเลสทั้งมวลให้สิ้นไป บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 105

ครั้งนั้น เราลงสู่สระโบกขรณี ที่ช้างนานาชนิดเสพแล้ว ถอนเหง้าบัวในสระน้ำ เพราะเหตุจะกิน สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ตื่นแล้ว ทรงผ้ากัมพลสีแดง สลัดผ้าบังสุกุล เหาะไปในอากาศ เวลานั้น เราได้ยินเสียงจึงแหงนขึ้นไปดู ได้เห็นพระผู้นำโลก เรายืนอยู่ในสระโบกขรณีนั่นแหละ ได้ทูลอ้อนวอนพระผู้นำโลกว่า น้ำผึ้งกำลังไหลออกจากเกษรบัว น้ำนมและเนยใส กำลังไหลจากเหง้าบัว ขอพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาจักษุ โปรดทรงรับเพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ศาสดา ทรงประกอบด้วยพระกรุณา มียศใหญ่ มีพระปัญญาจักษุ เสด็จลงจากอากาศ มารับภิกษาของเรา เพื่อความอนุเคราะห์ ครั้นแล้ว ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่เราว่า ดูก่อนท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านจงเป็นผู้มีความสุขเถิด คติจงสำเร็จแก่ท่านด้วยการ ให้เหง้าบัวเป็นทานนี้ ท่านจงได้สุขอันไพบูลย์เถิด ครั้นพระสัมพุทธชินเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ตรัสฉะนี้แล้ว ได้ทรงรับภิกษา แล้วเสด็จไปในอากาศ ลำดับนั้น เราเก็บเหง้าบัวจากสระนั้น กลับมายังอาศรม วางเหง้าบัวไว้บนต้นไม้ ระลึกถึงทานของเรา ครั้งนั้น ลมพายุใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว พัดเป่าให้สั่นสะเทือน อากาศดังลั่นในเมื่อฟ้าผ่า ลำดับนั้น อสนีบาตได้ตกลงมาบน ศีรษะของเรา ในกาลนั้น เราก็นั่งตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 106

เราเป็นผู้ประกอบด้วยบุญกรรม เข้าถึงสวรรค์ชั้นดุสิต ซากศพของเราตกไป ส่วนเรารื่นรมย์อยู่ในเทวโลก นางเทพอัปสร ๘๔,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม ต่างก็บำรุงเราทุกเช้าเย็น นี้เป็นผลแห่งการถวาย เหง้าบัว ครั้งนั้น เรามาสู่กำเนิดมนุษย์ เป็นผู้ถึงความสุข ความบกพร่องในโภคทรัพย์ไม่มีแก่เราเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัว เราอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐกว่าทวยเทพผู้คงที่พระองค์นั้นทรงอนุเคราะห์แล้ว จึงเป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวง บัดนี้ภพใหม่ ไม่มีอีก ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายเหง้าบัวใดในกาลนั้น ด้วยการถวายเหง้าบัวนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัว. เราเผากิเลส ทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็เมื่อภัททชิกุมารนั้น บรรลุพระอรหัตแล้ว พระศาสดาตรัสเรียก ภัททิยเศรษฐีมาว่า บุตรของท่าน ประดับตกแต่งแล้ว ฟังธรรมอยู่ ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ด้วยเหตุนั้น การบวชของภัททชิกุมารนั้น ในบัดนี้เท่านั้นสมควรแล้ว ถ้าไม่บวชจักต้องปรินิพพาน ดังนี้. ท่านเศรษฐี กราบทูลว่า เมื่อบุตรของข้าพระองค์ยังเล็กอยู่เช่นนี้ ยังไม่ควรปรินิพพาน ขอพระองค์จงทรงยังเขาให้บวชเถิด พระศาสดาทรงยังภัททชิกุมารให้บรรพชาแล้วให้อุปสมบท เสด็จประทับอยู่ในภัททิยนครนั้นตลอด ๗ วัน แล้วเสด็จถึงโกฏิคาม ก็บ้าน (โกฏิคาม) นั้นอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา ชาวบ้านโกฏิคาม บำเพ็ญมหาทานถวาย ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 107

พระภัททชิเถระ พอเมื่อพระศาสดาทรงปรารภเพื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา ก็ออกไปนอกบ้าน คิดว่า เราจักออกจากสมาบัติ ในเวลาที่พระศาสดา เสด็จมาใกล้ทางที่ฝั่งน้ำคงคา แล้วนั่งเข้าสมาบัติ. แม้เมื่อพระมหาเถระทั้งหลาย มาถึงก็ยังไม่ออกจากสมาบัติ ในเวลาที่พระศาสดาเสด็จมาแล้วนั่นแหละจึงออก ภิกษุผู้เป็นปุถุชนทั้งหลาย พากันกล่าวยกโทษว่า พระภัททชินี้ บวชได้ไม่นาน เมื่อพระมหาเถระทั้งหลายมาถึง กลับเป็นผู้กระด้างเพราะมานะ ไม่ยอมออกจากสมาบัติ พวกชาวโกฏิคาม ผูกเรือขนานจำนวนมากเพื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ พระศาสดาทรงพระดำริว่า เอาเถิด เราจักประกาศอานุภาพของพระภัททชิเถระ ดังนี้แล้ว ประทับยืนบนเรือขนาน ตรัสถามว่า ภัททชิอยู่ไหน? พระภัททชิเถระ ขานรับว่า ข้าพระองค์ภัททชิอยู่นี่พระพุทธเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ประนมมือยืนอยู่แล้ว พระศาสดาตรัสว่า มาเถิดภัททชิ ท่านจงขึ้นเรือลำเดียวกันกับเรา พระภัททชิเถระ เหาะขึ้นแล้วไปยืนอยู่ในเรือลำที่พระศาสดาประทับ ในเวลาที่เรือไปถึงกลางแม่น้ำคงคา พระศาสดาตรัสว่า ภัททชิ รัตนปราสาทที่เธอเคยอยู่ในเวลาที่เธอเป็นพระราชามีนามว่า มหาปนาทะ อยู่ตรงไหน? พระภัททชิเถระกราบทูลว่า จมอยู่ในที่นี้พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ภัททชิ ถ้าเช่นนั้น เธอจงตัดความสงสัยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย.

ในขณะนั้น พระเถระ ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ไปด้วยกำลังฤทธิ์ ยกยอดปราสาทขึ้นด้วยหัวแม่เท้าแล้วชะลอปราสาท สูง ๒๕ โยชน์ เหาะขึ้น บนอากาศ และเมื่อเหาะขึ้นได้ ๕๐ โยชน์ ก็ยกปราสาทขึ้นพ้นจากน้ำ ลำดับนั้น ญาติทั้งหลายในภพก่อนของท่าน เกิดเป็นปลาเป็นเต่าและเป็นกบ ด้วยความโลภอันเนื่องอยู่ในปราสาท เมื่อปราสาทนั้น ถูกยกขึ้นก็หล่นตกลงไปในน้ำ พระศาสดาเห็นสัตว์เหล่านั้นตกลงไป จึงตรัสว่า ภัททชิ ญาติทั้งหลายของเธอจะลำบาก. พระเถระจึงปล่อยปราสาท ตามคำของพระศาสดา


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 108

ปราสาทกลับตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเทียว. พระศาสดาเสด็จถึงฝั่ง อันภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปราสาทนี้ พระภัททชิเถระเคยอยู่เมื่อไร พระเจ้าข้า จึงตรัสมหาปนาทชาดก แล้วยังมหาชนให้ดื่มน้ำอมฤต คือ พระธรรม. ก็พระเถระครั้นแสดงปราสาททอง อันตนเคยอยู่อาศัยแล้ว พรรณนาด้วยคาถาทั้ง ๒ พยากรณ์พระอรหัตตผลว่า

พระเจ้าปนาทะ มีปราสาททอง กว้างโยชน์กึ่ง สูง ๒๕ โยชน์ มีชั้นพันชั้น ร้อยพื้น สร้างสลอนไปด้วยธง แวดล้อมไปด้วยแก้วมณีสีเขียวเหลือง ในปราสาทนั้น มีคนธรรพ์ ประมาณหกพัน แบ่งเป็น ๗ พวก พากันฟ้อนรำอยู่ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปนาโท นาม โส ราชา ความว่า พระเถระแสดงตนเหมือนคนอื่น เพราะความเป็นผู้มีอัตภาพอันตรธานแล้วว่า ในอดีตกาลได้มีพระราชาทรงพระนามว่า ปนาทะ อธิบายว่าพระราชาพระองค์นั้นแหละ ปรากฏพระนามว่า พระเจ้ามหาปนาทะ เพราะมีราชานุภาพมาก และเพราะเป็นผู้ประกอบไปด้วยกิตติศัพท์ อันเกรียงไกรโดยนัยมีอาทิว่า จำเดิมแต่เสวยราชย์ ทรงมีสมบัติคือพระอุตสาหะทุกเมื่อ ดังนี้.

บทว่า ยสฺส ยูโป สุวณฺณิโย ความว่า ปราสาทสำเร็จด้วยทองนี้ ของพระราชาใด.

บทว่า ตีริยํ โสฬสุพฺเพโธ ความว่า กว้างประมาณชั่วลูกศรตก ๑๖ ครั้ง ก็ปราสาทนั้นกว้างประมาณกึ่งโยชน์.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 109

บทว่า อุจฺจมาหุ สหสฺสธา ความว่า เบื้องบน คือ ส่วนสูงของปราสาทนั้น พันชั้น คือ ประมาณพันช่วงลูกศร ก็ปราสาทนั้นสูงประมาณ ๒๕ โยชน์ ก็ในคาถานี้ อาจารย์บางพวกกล่าวอธิบายว่า เพื่อความสะดวกใน การประพันธ์คาถาท่านจึงทีฆะ อหุ เป็น อาหุ ได้รูปเป็นอาหุ.

บทว่า สหสฺสกณฺโฑ ได้แก่ มีชั้นพันชั้น.

บทว่า สตเคณฺฑุ ความว่า มีพื้น (หอคอย) หลายร้อย.

บทว่า ธชาลุ ความว่า สมบูรณ์ด้วยธงที่ติดที่ปลายไม้และธงปฎาก เป็นต้น ที่เขาปักไว้ที่เนินเขาเป็นต้นนั้นๆ.

บทว่า หริตามโย ความว่า สำเร็จด้วยทองคำธรรมชาติ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คล้ายแก้วมณีสีเขียวสดธรรมชาติ.

บทว่า คนฺธพฺพา ได้แก่ นางฟ้อน.

บทว่า ฉ สหสฺสานิ สตฺตธา ความว่า คนธรรพ์ประมาณ ๖,๐๐๐ แบ่งเป็น ๗ กลุ่ม พากันฟ้อนรำ เพื่อสร้างความอภิรมย์แก่พระราชา ในที่ทั้ง ๗ แห่ง.

คนธรรพ์เหล่านั้น แม้ร่ายรำอยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจทำพระราชาให้รื่นเริงได้ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงส่งเหล่านางเทพอัปสร ผู้ชำนาญในการร่ายรำ ไปให้แสดงมหรสพ ในครั้งนั้น พระราชาจึงทรงพระสำราญ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาภัททชิเถรคาถา