เรียนถามความหมายคำว่า ภาวนายัญบูชา
โดย natural  4 เม.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 22728

ขอเรียนถามความหมายคำว่า “ภาวนา” และ “บูชา” “ยัญ” จากที่ได้อ่านข้อความเกี่ยวกับผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล) ,ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล) , การบูชาแล้วมี (ผล) เป็นต้น มีความหมายว่าอย่างไรคะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยพยัญชนะใด นัยใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง

จากคำถามที่คุณ natural ได้ยกมานั้น มี ๓ คำ คือ ภาวนา ยัญ และ บูชา

-คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ, การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนา จึง ไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น

ในทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงภาวนา ๒ ที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนา เป็นการอบรมความสงบของจิตจนบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายไปเกิดที่พรหมโลก วิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญยิ่งขึ้น ย่อมรู้ความจริง คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ละกิเลสได้ตามลำดับมรรค สูงสุดคือ บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ดับภพชาติไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ภาวนาทั้ง ๒ เป็นเรื่องของผู้มีปัญญา คือ ปฏิสนธิพร้อมด้วยปัญญา และมีปัญญาเห็นสิ่งทั้งปวงในโลกว่าไม่มีแก่นสารสาระ จึงหาหนทางเพื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

การภาวนา

และในบางนัยทรงแสดงให้เข้าใจถึงความเป็นจริงที่ว่า การละกิเลส เป็นเรื่องที่ยาวไกลและยากมาก จึงต้องอาศัยการอบรมเจริญกุศล ที่เป็นภาวนาทั้ง ๔ ประการ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศล โดยตลอด ดังต่อไปนี้ คือ

๑.สัพพสัมภารภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลทั้งหมด

การอบรมเจริญหนทางเพื่อการดับกิเลสนั้น คือ การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น แต่ที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ การเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ถ้าหากยังเต็มไปด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย พร้อมกันนั้นก็ไม่อบรมเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองแล้ว ก็ยากที่จะเดินทางไปถึงการดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น จึงแสดงถึงการเจริญกุศลทุกประการ ไม่มีเว้นเลยแล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใด เมื่อมีโอกาสแล้วก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดลอยไป

๒.นิรันตรภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลติดต่อกันไป

การอบรมเจริญกุศลประการต่างๆ ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย เพราะอกุศลมีเยอะมากที่พร้อมจะเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจทุกเวลา ถ้าไม่บำเพ็ญกุศลอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะเป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้

๓.จิรกาลภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลตลอดกาลนาน

การเจริญกุศล การอบรมปัญญา ต้องใช้เวลาหรืออาศัยเวลาในการอบรมเจริญที่ยาวนาน ไม่ใช่วันเดียว ชาติเดียว หรือ สองชาติ จะต้องค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

๔.สักกัจจภาวนา คือ การบำเพ็ญกุศลด้วยความเคารพ

เคารพในกุศลธรรม คารพในความดี เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล พร้อมทั้งกระทำด้วยความเคารพเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง

เพราะฉะนั้นในการอบรมเจริญกุศลนั้น จึงต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ เจริญอย่างต่อเนื่อง เคารพในกุศลธรรม และ ต้องอบรมเจริญสะสมไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จึงจะสามารถดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุมรรคผล ดับกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด

นี้คือ ความเข้าใจเบื้องต้นในส่วนของคำว่า ภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศล โดยตลอด

-จากข้อความที่แสดงถึงความเห็นที่ถูกต้องว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล การบูชา มีผล

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ...

สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐ [มหาจัตตารีสกสูตร]

แสดงตามลำดับ ดังนี้

-ทาน มุ่งหมายถึง การสละวัตถุสิ่งของเพื่อรประโยชน์แก่ผู้อื่น

-ประโยคต่อมา คือ ยัญที่บูชาแล้ว ในที่นี้ มุ่งหมายถึงการบูชาเคารพสักการะนับถือในบุคคลผู้มีคุณ และ ในสิ่งที่ควรบูชา มีพระรัตนตรัยเป็นต้น โดยมีกุศลจิตเป็นเครื่องบูชา เพราะกุศลจิตเกิดขึ้น มีจึงเกิดมีความเคารพสักการะ ซึ่งเป็นการกระทำในสิ่งที่ดี เป็นกุศล

[คำว่า ยัญ มีอรรถหลายอย่าง ทั้ง ทาน ศีล การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง การอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น ก็ชื่อว่า ยัญ ซึ่งเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส]

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ ...

ยัญ

-ประโยคต่อมา คือ การบูชา มีผล ในบางแห่งจะอธิบายว่าเป็นสักการะที่เพียงพอ มุ่งหมายถึง มงคลกิริยา คือ การกระทำที่เป็นสิ่งที่ดี มีการต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยข้าวน้ำ ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ...

การบวงสรวง

ทานที่ให้แล้วมีผล ๑ ยัญที่บูชาแล้วมีผล ๑

ความเห็นทั้ง ๓ ประการข้างต้นนั้น เป็นการเชื่อเรื่องของกรรมและผลของกรรมว่า มีจริง เมื่อทำแล้ว ย่อมให้ผล จึงเป็นความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ไม่ใช่ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภาวนา คือ การอบรมเจริญขึ้นในสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม ภาวนา เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า ภาวนา จะต้องเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ จะต้องมีปัญญาเสมอ เพราะหากไม่มีปัญญา ก็ไม่ชื่อว่า ภาวนา เพราะไม่สามารถทำให้สภาพธรรมที่ดีงาม คือ กุศลธรรมเจริญขึ้นได้เลย แต่เพราะมีปัญญา จึงทำให้มีการเจริญขึ้นในฝ่ายกุศลธรรม

ซึ่ง ปัญญาที่เป็นภาวนา จึงแบ่งเป็นสองส่วน คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนา เป็นปัญญาที่เจริญขึ้นของกุศลธรรม แต่ไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดกุศลจิตต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น อกุศลก็ไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่สามารถละกิเลสได้ เพราะเพียงเป็นปัญญาที่ทำให้กุศลเกิดต่อเนื่อง ไม่มีโอกาสของอกุศลเกิด เปรียบเหมือน หินที่ทับหญ้า หญ้าไม่เจริญงอกงาม แต่ไม่ได้หมายความว่าหญ้านั้นตาย

วิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญขึ้นของกุศลธรรม โดยเฉพาะปัญญา และที่กล่าวไว้คือ เมื่อกล่าวถึงคำว่า ภาวนา จะต้องมีปัญญาเห็นถูกตามความเป็นจริง เพียงแต่ว่าเป็นปัญญาระดับใดเท่านั้น ปัญญาในระดับวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญขึ้นของปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันเป็นภาวนาที่เลิศ เพราะสามารถถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ส่วนข้อความที่ว่า

“ทานที่ให้แล้ว มี (ผล) ,ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล) , การบูชาแล้วมี (ผล) เป็นต้น มีความหมายว่าอย่างไร

จากข้อความนี้ กำลังแสดง ถึงความหมายของคำว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ซึ่งเป็นการแสดงถึงการเชื่อกรรมและผลของกรรม ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล คือ เมื่อทำกุศล คือ การให้ทานที่เป็นเหตุ ผลย่อมมี

ยัญที่บูชาแล้วมีผล หมายถึง ยัญ ที่ไม่ใช่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่หมายถึง บุคคล หรือ สิ่งที่ควรบูชา มีคุณธรรม เมื่อบูชาด้วยอามิส และ ปฏิบัติบูชา ย่อมมีผล คือ ย่อมทำให้เกิด กุศลวิบากได้

การบูชาแล้วมีผล เป็นการแสดงถึง ตัวเหตุ คือ การบูชา ที่เป็นทั้งอามิส และ ปฏิบัติบูชา ล้วนแล้วแต่จะต้องเป็นกุศลจิต เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เมื่อเหตุมี คือ การบูชา ผลก็ย่อมมีด้วย

ผู้ใดก็ตามที่มีความเห็นว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล) ,ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล) , การบูชาแล้วมี (ผล) เป็นต้น แสดงถึงผู้มีปัญญา มีความเห็นถูก แต่ผู้ใดก็ตาม มีความเห็นตรงกันข้าม ก็เท่ากับปฏิเสธเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็เป็นผู้มีความเห็นผิด

ซึ่งความเห็นถูกเหล่านี้จะมีได้ ก็ดวยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แม้ความเห็นถูกจะยังไม่บริบูรณ์ แต่เพราะอาศัยการเจริญภาวนา อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ก็ย่อมมีการทำกุศล มีการบูชาที่สมควร และ ทำให้เกิดความเห็นถูกที่สมบูรณ์ได้ เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย natural  วันที่ 4 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย kinder  วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย nong  วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ