ดำรงรักษาสิ่งที่มีค่าที่สุด
โดย khampan.a  21 ก.ย. 2561
หัวข้อหมายเลข 30108

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประมวลสาระสำคัญ

จากการสนทนาพิเศษ เรื่อง

"พุทธบริษัท กับการดำรงพระพุทธศาสนา"

ที่บ้านคุณทักษพล-คุณจริยา เจียมวิจิตร

วันศุกร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑

(ภาพขณะสนทนา)

(ทีมงานอาสาสมัครบันทึกวีดีโอการสนทนาพิเศษในครั้งนี้)

~ ฟัง และ เข้าใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่น เป็นที่เคารพ เป็นที่พึ่งที่จะละคลายกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต)
~ ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้นำ พอมีคนให้เราไปถวายซองเงินแก่พระภิกษุ เราก็ขอเอาซองเงินออก หรือว่า ถ้าคนอื่นไม่เอา (ซองเงิน) ออก เราในฐานะที่เป็นผู้ที่เข้าใจพระวินัยแล้ว จะไม่มีส่วนในการทำลายพระพุทธศาสนา เรื่องของคนอื่น เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ การให้เงินแก่พระภิกษุเป็นโทษกับพระภิกษุ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ใหญ่ นี่แหละ ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น
~ เพราะ...เขาไม่เคยเห็นการกระทำที่ถูกต้อง (จึงมีการกระทำที่ผิดตามๆ กันไป) แต่ถ้ามีการกระทำที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เขาก็ต้องสนใจใคร่จะรู้ว่าความจริงที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร แล้วเราก็เป็นผู้นำในการที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่ทำสิ่งที่ถูก
~ ที่จริง ใครจะทำอย่างไร เราก็ไปฝืนอัธยาศัยเขาไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน เขาก็ฝืนอัธยาศัยเราไม่ได้ ถ้าเราได้เข้าใจธรรมและพระวินัย และเพื่อประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาที่จะดำรงต่อไป เราก็ต้องรักษาความถูกต้อง ทั้งพระธรรมและพระวินัย เพราะฉะนั้น ใครไม่ทำ แต่เราทำ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ใครจะฝืนเราไม่ให้ทำ ไม่ได้ ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นความถูกต้อง นั่น เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา แต่เป็นความเข้าใจความถูกต้องที่เห็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นซึ่งถ้าเขาไม่ได้รับฟังหรือว่าไม่เห็นว่าเราทำอะไร (ที่ถูกต้อง) เขาก็ไม่มีทางเลยที่จะรู้ได้
~ ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว เราก็จะเห็นประโยชน์มหาศาลที่เกิดมาแล้วก็ตายไป ก่อนตาย มีโอกาสได้เข้าใกล้พระธรรม ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากความเข้าใจธรรมซึ่งเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้น อะไรคงไม่มีค่าที่จะทำให้เราต้องกลายเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรที่จะให้ถูกทำลายไปด้วยความไม่รู้
~ จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาได้อย่างไร? ถ้าไม่พบคำตอบที่ถูกต้อง ไม่มีทางที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เลย เพราะฉะนั้น ตอบได้ไหมว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร? ถ้าไม่รู้คำตอบ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีการเข้าใจ (ในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร
~ ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจธรรม ชื่อว่า พระพุทธศาสนาอันตรธาน (สูญสิ้น) แล้วจากคนนั้น เพราะคนไม่เข้าใจธรรมนั่นแหละ พระพุทธศาสนาจึงอันตรธาน แต่ตราบใดที่ยังมีผู้ศึกษาด้วยความเคารพ รักษาดำรงความถูกต้องในพระธรรมวินัยไว้ พระพุทธศาสนา ก็ยังคงดำรงอยู่
~ ลองคิดดู "มีภิกษุ แต่ไม่รู้จักภิกษุ" กับ "มีภิกษุแล้วรู้ว่าภิกษุเป็นใคร" อะไรถูกต้อง?
~ สิ่งที่ผิด จะนำมาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้
~
ทุกคน ก็มีชีวิตที่ตรงต่อธรรม ถ้าไม่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ ก็ศึกษาธรรมในเพศคฤหัสถ์ ด้วยความสะดวกสบาย ด้วยความอิสระ ไม่เดือดร้อนเลย เพราะรู้ว่าทำอย่างพระภิกษุไม่ได้ แต่ไม่ใช่อ้างว่าแล้วพระภิกษุจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีเงินและทอง ก่อนบวชรู้แล้วใช่ไหมว่าพระไม่มีเงิน สละเงินแล้วด้วย นี่ก่อนบวชต้องรู้ และขณะที่บวช ก็รู้ว่าสามารถที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีเงินอย่างคฤหัสถ์ได้
~ ถ้ารู้สึกตน ว่า ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตการลาสิขาได้ทันที โดยการบอกกล่าวกับบุคคลที่รู้ความได้ จากนั้นก็เป็นคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ไม่มีข้ออ้าง ไม่ใช่ว่า แล้วถ้าพระภิกษุจะอยู่ได้อย่างไร ก่อนบวชก็รู้แล้วว่าพระภิกษุอยู่ได้อย่างไร? คือ อยู่ได้ตามพระธรรมวินัย
~ แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาพระวินัยอย่างละเอียดเหมือนอย่างพระภิกษุ แต่เพียงแค่รู้ว่าภิกษุไม่ใช่คฤหัสถ์ พระภิกษุสละอาคารบ้านเรือนสละทรัพย์สมบัติด้วย แค่นี้ก็ถูกแล้ว แล้วจะเอาทรัพย์สมบัติหรือเงินทองไปให้พระภิกษุท่านได้อย่างไร ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าภิกษุคือใคร รู้ตั้งแต่ต้นด้วยว่าพระภิกษุต่างจากคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่า ภิกษุสละหมด ทั้งทรัพย์สินเงินทองวงศาคณาญาติ, แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาละเอียดลึกซึ้งสักเท่าไหร่เลย แต่เพียงแค่แรกเริ่มเดิมทีที่จะจากเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตก็รู้แล้วว่าต่างกันที่ไม่มีเงินทอง ไม่มีทรัพย์สมบัติ แล้วจะบอกว่าคฤหัสถ์ไม่รู้จักพระภิกษุหรือ เพียงแต่ไม่สนใจในความละเอียดเท่านั้น
~ แม้แต่อุบาสกอุบาสิกา ก็ยังรู้ว่าพระภิกษุต้องเป็นพระภิกษุที่สละ เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุใด ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย เช่น รับเงินรับทอง เป็นต้น อุบาสกอุบาสิกา ผู้รู้ความต่างของเพศบรรพชิตตั้งแต่ต้น ก็เพ่งโทษ (กล่าวให้รู้ว่า สิ่งนั้น เป็นโทษ) ติเตียน (กล่าวให้ได้รู้ความจริงว่า พระภิกษุในพระธรรมวินัย มีความประพฤติที่ไม่ดีอย่างนั้นได้อย่างไร) โพนทะนา (กล่าวกระจายข่าวให้ความจริงปรากฏในทุกที่ทุกสถาน เพื่อบุคคลอื่นจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง)
~ ถ้ารู้ว่าสิ่งใดผิดวินัย ก็ไม่สนับสนุน เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่จะสำนึกว่าอะไรถูกอะไรผิด โดยเฉพาะเรื่องของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ประเสริฐมาก ถ้ามีความเห็นถูกต้องยิ่งขึ้น ทุกคนก็ร่วมกันทำสิ่งที่ถูกต้องได้ ทำเท่าที่จะทำได้ แต่ละคนถ้ามีจำนวนมากขึ้นก็ต้องสำเร็จ (เป็นการช่วยกันดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ไม่ไปทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุดให้หมดสิ้นไป)
~ อะไรจะเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่าหนทางไหนเป็นหนทางถูก หนทางผิด? ถ้าเขาไม่ทำอาการผิดปกติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาถูกหรือเขาผิด แต่ถ้าสนทนากันและเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง เพื่อที่จะดำรงความถูกต้องและดำรงพระพุทธศาสนาไว้ ทุกคนที่มีความเห็นหลากหลายต่างกัน ถ้าเพื่อประโยชน์ เพื่อความถูกต้อง ก็คือ สนทนากันซักไซ้ ทุกประเด็น อย่างละเอียดตามพระธรรมวินัย ก็จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด
~
มีธรรมฝ่ายดี (กุศล) กับ ฝ่ายชั่ว (อกุศล) เพราะฉะนั้น ผลก็ต้องตรงกับเหตุถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นเหตุที่ดี ก็ต้องนำมาซึ่งผลที่ดี ถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดี ก็ต้องนำมาซึ่งผลที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่า ทำไม่ดี ทำทุจริตแล้วก็จะได้เงินทองมาก แต่อย่างที่เราเคยได้สนทนากันว่า โครงการระยะสั้นมาก คือ แค่ชาตินี้ แต่โครงการที่ยาวถึงสังสารวัฏฏ์ เขาไม่คิดถึงเลย
~ การให้อภัย การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ความดี) แล้ว

~ เห็นค่าของพระรัตนตรัย เพราะว่า เป็นที่พึ่งจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชาติ เราไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกได้ด้วยตนเอง แต่ว่าเมื่อมีผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงมีพระมหากรุณาแสดงความจริง และเมื่อมีโอกาสที่จะได้เข้าใจความจริงในชาตินี้ นั่น ย่อมเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ซึ่งทุกคน ก็ไม่รู้ว่าจะมีเวลาอีกนานเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่ได้เข้าใจธรรม เป็นขณะที่มีค่าที่สุด เพราะเหตุว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เหลือ.


...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย panasda  วันที่ 21 ก.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย Dusita  วันที่ 25 ก.ย. 2561

กราบ อนุโมทนา ค่ะ..


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ