[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 73
๓. เรื่องพระเอกุทานเถระ [๑๙๖]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 73
๓. เรื่องพระเอกุทานเถระ [๑๙๖]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระขีณาสพ ชื่อว่าเอกุทานเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ตาวตา ธมฺมธโร" เป็นต้น
พวกเทวดาให้สาธุการแก่เทศนาของพระเถระ
ได้ยินว่า พระเถระนั้น อยู่ในราวไพรแห่งหนึ่งแต่องค์เดียว. อุทานที่ท่านช่ำชองมีอุทานเดียวเท่านั้นว่า:-
"ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางแห่งโมน ปฏิบัติ ผู้คงที่ ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ."
ได้ยินว่า ในวันอุโบสถ ท่านป่าวร้องการฟังธรรมเอง ย่อมกล่าวคาถานี้. เสียงเทวดาสาธุการดุจว่าเสียงแผ่นดินทรุด. ครั้นวันอุโบสถวันหนึ่ง ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้ไปสู่ที่อยู่ของท่าน. ท่านพอเห็นภิกษุเหล่านั้น ก็ชื่นใจ กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายมาในที่นี้ เป็นอันทำความดีแล้ว, วันนี้ พวกกระผมจักฟังธรรมในสำนักของท่าน ทั้งหลาย."
พวกภิกษุ. ท่านผู้มีอายุ ก็คนฟังธรรมในที่นี้ มีอยู่หรือ
พระเอกุทาน. มี ขอรับ, ราวไพรนี้ มีความบันลือลั่นเป็นอันเดียวกัน เพราะเสียงเทวดาสาธุการในวันฟังธรรม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 74
พวกเทวดาไม่ให้สาธุการแก่เทศนาของภิกษุ ๒ รูป
บรรดาภิกษุ ๒ องค์นั้น พระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกองค์หนึ่งสวดธรรม, องค์หนึ่งกล่าวธรรม. เทวดาแม้องค์หนึ่งก็มิได้ให้สาธุการ. ภิกษุเหล่านั้น จึงพูดกันว่า "ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า ในวันฟังธรรม พวกเทวดาในราวไพรนี้ ย่อมให้สาธุการด้วยเสียงดัง นี่ชื่ออะไรกัน"
พระเอกุทาน. ในวันอื่นๆ เป็นอย่างนั้น ขอรับ, แต่วันนี้กระผมไม่ทราบว่า "นี่เป็นเรื่องอะไร."
พวกภิกษุ. ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกล่าวธรรมดูก่อน.
ท่านจับพัดวีชนีนั่งบนอาสนะแล้ว กล่าวคาถานั้นนั่นแล. เทวดาทั้งหลายได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง.
พวกภิกษุติเตียนเทวดา
ครั้งนั้น ภิกษุที่เป็นบริวารของพระเถระทั้งสองยกโทษว่า "เทวดาในราวไพรนี้ ให้สาธุการด้วยเห็นแก่หน้ากัน, เมื่อภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก แม้กล่าวอยู่ประมาณเท่านี้, ก็ไม่กล่าวแม้สักว่าความสรรเสริญอะไรๆ. เมื่อพระเถระแก่องค์เดียวกล่าวคาถาหนึ่งแล้ว, พากันให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง." ภิกษุเหล่านั้นแม้ไปถึงวิหารแล้ว กราบทูลความนั้นแด่พระศาสดา.
ลักษณะผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า "เป็นผู้ทรงธรรม" ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม" ดังนี้แล้ว ตรัส พระคาถานี้ว่า:-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 75
๓. น ตาวตา ธมฺมธโร ยาวตา พหุ ภาสติ โย จ อปฺปมฺปิ สุตฺวาน ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ ส เว ธมฺมธโร โหติ โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ.
บุคคล ไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย, บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม, บุคคลนั้นแล เป็นผู้ทรงธรรม.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา เป็นต้น ความว่า บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ด้วยเหตุมีการเรียน และการทรงจำและบอกเป็นต้น. แต่ชื่อว่าตามรักษาวงศ์ รักษาประเพณี.
บทว่า อปฺปมฺปิ เป็นต้น ความว่า ส่วนผู้ใดฟังธรรมแม้มีประมาณน้อย อาศัยธรรมะ อาศัยอรรถะ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กำหนดรู้สัจจะมีทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าย่อมเห็นสัจธรรม ๔ ด้วยนามกาย ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม.
บาทพระคาถาว่า โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ ความว่า แม้ผู้ใดเป็นผู้มีความเพียรปรารภแล้ว หวังการแทงตลอดอยู่ว่า " (เราจักแทงตลอด) ในวันนี้ๆ แล" ชื่อว่าย่อมไม่ประมาทธรรม, แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเหมือนกัน.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระเอกุทานเถระ จบ.