สำหรับการแสดงธรรมหรือการฟังธรรม พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงพระมหากรุณาประทานโอวาทไว้มาก
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปัจจยวัตตสูตร (ข้อ ๔๘๒) มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ ประการ ควรอย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ อำนาจประโยชน์ ๓ ประการ เป็นไฉน คือ
ผู้แสดงธรรม รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑
ผู้ฟัง รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑
ผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ ประการนี้แล ควร อย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ
การแสดงธรรมคงจะไม่ใช่ของที่ง่ายนัก การฟังก็ไม่ง่าย เพราะเหตุว่า ผู้แสดง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจสอบความถูกต้องกับพระไตรปิฎกทั้งพระวินัย ทั้งพระสูตร ทั้งพระอภิธรรม
ผู้แสดงธรรม รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย
รู้แจ้งอรรถ คือ รู้ผลว่า ผลของการแสดงธรรมนั้นเพื่ออะไร บุคคลที่ฟัง ปัญญาของคนฟังจะรู้อะไร นี่เป็นผล
รู้การเห็นกับสี นามกับรูปทางตาใช่ไหม
รู้ได้ยินกับเสียง นามกับรูปทางหูใช่ไหม
รู้การรู้กลิ่นกับกลิ่น นามกับรูปทางจมูกใช่ไหม
รู้รสกับรสที่ปรากฏ นามกับรูปทางลิ้นใช่ไหม
รู้สภาพที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึงไหวที่ปรากฏทางกาย และรู้สภาพที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง ไหว นามกับรูปทางกายใช่ไหม
รู้นาม รู้รูป ทางใจใช่ไหม
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาว่า ผู้ที่รู้อรรถ คือรู้ผลนั้น คืออะไร
และรู้ธรรม คือรู้เหตุนั้น คืออะไร
ผล คือ การรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ จึงจะละความเห็นผิดการที่เคยยึดถือ ยึดมั่นสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้
แต่เจริญเหตุอย่างไร จึงจะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง เพื่อละความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ผล แต่ก็ต้องรู้เหตุด้วย นั่นเป็นเรื่องของผู้แสดงธรรม เป็นประการหนึ่ง
สำหรับผู้ฟัง ผู้ฟังเป็นผู้ที่รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย คือ เมื่อฟังก็ต้องทราบว่า ปัญญาของตนเองที่จะเจริญขึ้นนั้นจะต้องรู้อะไร และจะต้องรู้ธรรม คือ เหตุ ว่าจะเจริญอย่างไร จึงจะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมเหล่านั้นได้
หมายความว่า ผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถในธรรมด้วย ซึ่งเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากจะตรวจสอบทานกับพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็ยังตรวจสอบกับสภาพความจริงทุกๆ ขณะได้
รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังเห็น กำลังได้ยินหรือยัง ถ้าไม่รู้ ควรจะรู้ไหม ถ้าควรจะรู้ จะเจริญอย่างไร เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เทียบเคียงได้
ในเรื่องของอาจารย์กับศิษย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยอีกนัยหนึ่ง
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อานันเตวาสิกานาจริยสูตร ข้อ ๒๓๖ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์อยู่ เป็นทุกข์ ไม่สำราญ ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ อยู่เป็นสุขสำราญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญเป็นไฉน
ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่าน อันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมสิงอยู่ภายในของบุรุษนั้น เพราะอกุศลธรรมสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สำราญอย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริที่ฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นไม่สิงอยู่ในภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่สิงอยู่ในภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่ครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่าไม่มีอาจารย์
สำหรับเวลาที่ได้ยินเสียงด้วยหู ได้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยกาย และธัมมารมณ์ด้วยใจนั้น ก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ดังนี้
ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ ผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุขสำราญ ดังนี้แล
ผู้ที่ยังมีอันเตวาสิกนั้น คือ ผู้ที่เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยหู หรือได้กลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว อกุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมนั้นย่อมสิงอยู่ภายในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อไปด้วยกัน อยู่ที่ไหน จะเป็นในป่า ที่บ้าน อกุศลธรรมนั้นไม่ได้อยู่นอกตัว ไม่ได้อยู่ไกล ไปด้วยกันทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นอกุศลธรรมที่อยู่ภายในจิตของบุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคเรียกว่า ภิกษุนั้นมีอันเตวาสิก
และอกุศลธรรมอันลามกที่ครอบงำภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงเรียกภิกษุผู้มี อกุศลธรรมอันลามก ที่ครอบงำภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์ เป็นผู้ที่ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ เชื่ออกุศลทุกอย่างที่มีอยู่ในใจ ถ้ามีโลภะๆ ให้ทำอะไรๆ ก็ทำ มีอกุศลของตัวเอง มีโลภะที่มีอยู่ในใจเป็นอาจารย์ ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ครอบงำบังคับบัญชาให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ
เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสนั้นเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ มีอันเตวาสิก และมีอาจารย์ เพราะเหตุว่ากิเลสนั้นมีกำลัง ทำให้ครอบงำจิตใจให้ประพฤติเป็นไปตามที่อาจารย์คือกิเลสสั่ง
ถ. การฟังกับการบรรยายสำคัญตรงไหนหรือ
สุ. ผู้ฟัง ฟังเพื่อให้ได้รับความเข้าใจ ผู้บรรยายเมื่อได้ศึกษาปฏิบัติธรรม มีความเข้าใจ ก็ไม่ได้ต้องการจะเก็บความรู้ความเข้าใจนั้นไว้เฉพาะตน เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และผู้ที่จะบรรยายได้นั้น ก็ไม่ใช่ว่านึกขึ้นมาได้เองรู้ได้เอง แต่ต้องอาศัยการฟัง หรือว่าการศึกษาจากท่านที่รู้แล้วและท่านที่แสดงแล้ว เมื่อได้เห็นคุณว่า ความรู้ที่ได้รับนั้นมาจากท่านที่รู้แล้วและจากท่านที่แสดงแล้ว ก็ย่อมเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่หรือว่าจะต้องแบ่งปันความรู้ที่ได้รับนั้นกับบุคคลอื่นต่อๆ ไปด้วย เป็นการอุปการะกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 53