โลภะ ...ถาม - ตอบตอนที่ 1
โดย สารธรรม  12 พ.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 8637

ถาม เมื่อก่อนสงครามญี่ปุ่นเกิดขึ้น ผมมีโอกาสได้เป็นกรรมการประกวดผู้หญิงไทย เพื่อนฝูงมาแสดงความยินดี ตัวผมเองก็ยินดีที่จะได้เห็น ผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ระยะนั้นผมมีโลภะ มีอกุศลจิตเกิดขึ้น อย่างประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่า สราคจิต ใช่ไหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย สารธรรม  วันที่ 12 พ.ค. 2551

ส. ค่ะ ปกตินะคะ แล้วเวลานั้นก็คงจะมีกำลังเพิ่มขึ้นจนปรากฏเป็น ลักษณะที่ยินดีพอใจ เพราะโลภะมีหลายระดับขั้น ถ้าเป็นอาสวะ กามาสวะ ยากที่จะรู้ได้ เพราะทันทีที่เห็น ยินดี พอใจ ในสิ่งที่เห็นแล้ว เป็นกามาสวะทันที บางเบา ละเอียดจนไม่ปรากฏว่าเป็น ลักษณะของความพอใจ แต่เวลาที่ปรากฏลักษณะเป็นความยินดี พอใจ ให้รู้ได้ ขณะนั้นก็มีกำลังขึ้นแล้ว

บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ข้อความบางตอนจาก... แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๘๐


ความคิดเห็น 2    โดย บักกะปอม  วันที่ 12 พ.ค. 2551


เป็นสารธรรมจริงๆ ขออนุโมทนาค่ะ.


ความคิดเห็น 3    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 14 พ.ค. 2551

อนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 4    โดย prissna  วันที่ 14 พ.ค. 2551

ขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะ. จากความเห็นที่ ๑ โดย คุณสารธรรม
โลภะมีหลายระดับ ถ้าเป็น อาสวะ กามาสวะ ยากที่จะรู้ได้
ขอถามว่า

๑. อาสวะและกามาสวะ หมายความว่าอย่างไร ทำไมจึงยากที่จะรู้

๒. ปัญญาระดับไหนจึงจะรู้ อาสวะ กามาสวะได้คะ (เพราะทันทีที่เห็น ยินดี พอใจ ในสิ่งที่เห็นแล้ว เป็นกามาสวะทันที) เมื่อปรากฎลักษณะให้รู้ได้ ขณะนั้นมีกำลังขึ้นแล้ว

ขอถามว่า สติปัฏฐาน เกิดได้ ก็ต่อเมื่อกุศลหรืออกุศลนั้นมีกำลัง ใช่ไหมคะ

...........................................................


ความคิดเห็น 5    โดย ajarnkruo  วันที่ 14 พ.ค. 2551

อาสวะ คืออกุศลอย่างละเอียดที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แผ่วเบาจนยากที่จะรู้ ไม่ถึงขั้นกลุ้มรุมอย่างนิวรณ์ซึ่งมีกำลังแรงจนแสดงให้เห็น แต่แค่เพียงอาสวะเกิดร่วมกับจิต ยังไม่ทันจะแสวงหาอะไร อาสวะที่เกิดขณะนั้น ก็ทำให้จิตเป็นอกุศลแล้ว มีทั้งที่ยินดีในรูป ยินดีในภพชาติ ยินดีในฌาน ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมาจากความไม่รู้

อาสวะ ๓ คือกามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑ ทั้งสามต้องอาศัยมรรคเบื้องปลายจึงจะฆ่าได้หมดครับ ส่วนปัญญาขั้นไหนจึงจะรู้ได้นั้น ต้องเป็นปัญญาทีละเอียดมากแน่นอนจึงจะรู้ได้ เพราะถ้าไม่รู้ ก็จะละอาสวะไม่ได้ ถ้าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ปัญญายังไม่รู้ หรือสภาพธรรมะที่ปรากฏทางทวารอื่นๆ ที่ควรจะรู้ ยังรู้ไม่ทั่ว ก็ต้องค่อยๆ เจริญปัญญาให้เกิดความรู้ทั่วขึ้น ตามลำดับขั้น ทีละเล็กทีละน้อยครับ

สติปัฏฐาน มีปรมัตถอารมณ์ ไม่ต้องรอให้อกุศลมีกำลังแรงเกิด แล้วจึงจะระลึกครับ เพราะขณะนี้ที่กำลังเห็น ได้ยิน ... คิดนึก ถ้ามีเหตุปัจจัยเพียงพอ สติปัฏฐานก็เกิดได้ระลึกธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะปัจจุบันตามความเป็นจริง โดยความเป็นอนัตตาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย เซจาน้อย  วันที่ 14 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 7    โดย prissna  วันที่ 14 พ.ค. 2551

ขอขอบพระคุณคำตอบ โดย ajarnkruo ค่ะ
ขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะ.

อาสวะกับอนุสัยกิเลส เหมือนกันไหมคะ?
สติปัฏฐานที่ระลึกรู้ความคิด รู้ว่าอย่างไรคะ?
กรุณาอธิบายด้วยนะคะ


ความคิดเห็น 8    โดย ajarnkruo  วันที่ 15 พ.ค. 2551

เป็นธรรมฝ่ายอกุศลด้วยกันครับ แต่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกอกุศลไว้ทั้งหมด ๙ กองเพื่อให้เห็นถึงความต่างแม้จะเป็นอกุศลประเภทเดียวกันก็ตาม เช่น โลภเจตสิกเป็นกามาสวะ และก็เป็นกามราคานุสัยด้วย โทสเจตสิก ไม่เป็นอาสวะแต่เป็นปฏิฆานุสัย โมหเจตสิก เป็นอวิชชาอาสวะ และเป็นอวิชชานุสัยด้วย อนุสัยกิเลส มาจากคำภาษาบาลีว่า อนุ (ตาม) + สย (นอน) + กิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) รวมหมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิต ไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลัง ที่เป็นเชื้อให้กิเลสอย่างกลางและกิเลสอย่างหยาบเกิดขึ้นครับ

สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางใจที่กำลังคิด ว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่คน สัตว์สิ่งของ เรื่องราว ฯลฯ จิตคิดมีจริง บังคับบัญชาให้ไม่คิด ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอ สติก็เกิดระลึกขึ้นได้ว่า ที่กำลังคิดนั้นเป็นแต่เพียงนามธาตุ คือ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย สิ่งอื่นๆ ที่คิดว่ามีจริงๆ นั้น เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่จิตคิดเท่านั้น ถ้าไม่มีจิตคิด เรื่องราวนั้นก็จะไม่มี เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตคิดก็เพียงแต่ทำกิจการงานของตน ไม่มีเราคิด ไม่ใช่ความจำว่ามีเราที่กำลังคิด ไม่ใช่เรื่องราวต่างๆ มากมายที่เคยคิดไม่ใช่ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ สติเป็นอนัตตา เหตุใด จึงสงสัยลักษณะสติที่ระลึกรู้ที่ความคิดเหรอครับ?


ความคิดเห็น 9    โดย prissna  วันที่ 15 พ.ค. 2551

อ้างอิงจากความเห็นที่ ๘ โดย ajarnkruo ที่สงสัยเพราะว่าเข้าใจว่าสติระลึกรู้รูปธรรม ไม่ยากเท่ากับสติระลึกรู้นามธรรม ค่ะ ขออนุญาติอธิบายตามความเข้าใจดังนี้นะคะ

สติ (นามธรรม) ที่รู้รูป (รูปธรรม) แยกได้ชัดเจนแน่นอน เช่น จักขุวิญญาณ (นามธรรม) รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา (รูปธรรม) เท่านั้น เป็นต้น แต่ในชีวิตประจำวัน สติ เกิดน้อยมาก ส่วนมากเป็นความนึกคิด เช่น ขณะที่อ่านหรือฟังยังไม่ทันที่สติจะระลึก (สี หรือ เสียง) ก็เป็นตัวตนที่คิดไปเป็นเรื่องราวทันที เข้าใจว่าสติระลึกรู้ที่รูปธรรมนั้น มี ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต่างกับทางใจ

ยกตัวอย่างเช่น สติที่รู้ความต่างระหว่าง โลภะกับเมตตา นั้นต้องมีความเข้าใจขั้นปริยัติก่อนจึงจะรู้ได้ และเป็นปัจจัยให้วิรัติทุจริตได้ เข้าใจว่า นี่คือตัวอย่างของสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ทางมโนทวาร (ความคิด) เป็นการรู้นามธรรม (ลักษณะของเจตสิก) โดยนามธรรม (จิตคิดนึก) ส่วนเรื่องราวเป็นบัญญัติ ไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานและห้ามความคิดที่เป็นบัญญัติ ไม่ได้ด้วย จึงสงสัยว่าขณะคิดนึกเป็นบัญญัติ ถ้าสติเกิด ปัญญารู้อะไร
ข้อความเบื้องต้นเป็นการทบทวนความเข้าใจ ของตัวเองค่ะหากผิดถูกประการใด กรุณาแนะนำด้วยนะคะ.
ขออนุโมทนา.


ความคิดเห็น 10    โดย อนุโมทนา  วันที่ 15 พ.ค. 2551

ลืมความเป็นอนัตตา สติไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ว่าเป็นอย่างไร และสติก็เป็นอนัตตา ไม่ได้เลือกว่าจะเกิดรู้ตรงนั้นตรงนี้ก่อน ดังนั้น การอบรมปัญญาในการอบรมสติปัฏฐานจึงไม่ใช่การเทียบเคียง แต่ให้รู้ว่าเป็นธรรมดาที่สติจะไม่เกิดและหลงลืมสติ ต้องสงสัยเพราะสติไม่เกิด เมื่อสติเกิด (เลือกไม่ได้) ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง จะเป็นสภาพธรรมอะไรก็ได้ที่มีจริง ไม่ว่าทวารไหนซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมื่อสติเกิดก็ไม่เลือกทวารเลย ตามเหตุปัจจัย จึงเป็นเรื่องเบา คิดก็คิด ให้เข้าใจถูกว่าไม่ใช่สติปัฏฐานสะสมความเข้าใจด้วยความมั่นคงว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาแม้สติและอารมณ์ที่สติจะระลึก ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 11    โดย suwit02  วันที่ 16 พ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 10 โดย อนุโมทนา

ลืมความเป็นอนัตตา สติไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ว่าเป็นอย่างไร และสติก็เป็นอนัตตา ไม่ได้เลือกว่าจะเกิดรู้ตรงนั้นตรงนี้ก่อน ดังนั้น การอบรมปัญญาในการอบรมสติปัฏฐานจึงไม่ใช่การเทียบเคียง แต่ให้รู้ว่าเป็นธรรมดาที่สติจะไม่เกิดและหลงลืมสติ ต้องสงสัยเพราะสติไม่เกิด เมื่อสติเกิด (เลือกไม่ได้) ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง จะเป็นสภาพธรรมอะไรก็ได้ที่มีจริง ไม่ว่าทวารไหนซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมื่อสติเกิดก็ไม่เลือกทวารเลย ตามเหตุปัจจัย จึงเป็นเรื่องเบา คิดก็คิด ให้เข้าใจถูกว่าไม่ใช่สติปัฏฐานสะสมความเข้าใจด้วยความมั่นคงว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาแม้สติและอารมณ์ที่สติจะระลึก ขออนุโมทนา

สาธุ


ความคิดเห็น 12    โดย พุทธรักษา  วันที่ 17 พ.ค. 2551

เพราะลืมความเป็นอนัตตาเพราะไม่เงี่ยโสตลงสดับด้วยดีเพราะสติไม่เกิด...จึงต้องสงสัย.
.................................................

อนุโมทนาค่ะ.


ความคิดเห็น 13    โดย prissna  วันที่ 18 พ.ค. 2551


ลืมความเป็นอนัตตาก็หลงทาง
อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย บักกะปอม  วันที่ 21 พ.ค. 2551

ความเป็นอนัตตา มีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะจุดหมายคือพระนิพพานค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย บักกะปอม  วันที่ 22 พ.ค. 2551

ผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ ย่อมทราบว่า การวิรัติทุจริตต้องทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น ไม่พูดโกหก เป็นต้น ความเป็นอนัตตาเป็นสัจจธรรมก็จริงแต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำทุจริต เพียงเพื่อสนองโลภะของตนเอง