การทำบุญตอนอารมณ์ไม่ดี
โดย zokenyo  15 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20778

ถ้าเราต้องไปทำบุญตอนอารมณ์ไม่ดี จะได้บุญหรือเปล่า มีผลอะไรหรือเปล่าคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ หรือ กุศล เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรก ด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล หรือ บุญ คือ ในขณะที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะจิตนั้นเป็นบุญ ครับ และจากคำกล่าวที่ว่า

อยากทราบว่าเวลาเราไปทำบุญแล้วอารมณ์ไม่ดีไม่ทราบว่าเราจะได้บุญไหมคะ

- ขณะที่เป็นบุญ ก็คือ ขณะจิตที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แต่ขณะที่อารมณ์ไม่ดีก็คือ ขณะทีจิตที่โกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด เป็นต้น ขณะนั้น เป็นอกุศล ไม่ใช่บุญ เป็นจิตอกุศลในขณะนั้นครับ

ควรเข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมครับว่า มีแต่ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งจิตเกิดขึ้น เกิดขึ้นทีละขณะและเกิดดับอย่างรวดเร็ว กุศล หรือ บุญ ในความเป็นจริงก็คือ จิต เจตสิกที่เป็นกุศล ไม่มีใคร หรือเราที่ทำบุญ ในขณะที่ไม่พอใจ เป็นอกุศล ขณะนั้น ก็เป็น จิต เจตสิกที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต ดังนั้น สภาพธรรมจึงแยกขาดจากกัน ไม่ปนกันเลย คือ กุศลจิต (บุญ) ก็เป็นกุศลจิต (บุญ) จะเป็นอกุศลจิต (ขณะที่อารมณ์ไม่ดี ไม่พอใจ) ไม่ได้ ส่วน อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล (โกรธ ไม่พอใจ เป็นต้น) จะเป็นกุศล (บุญ) ไม่ได้เลยเช่นกันครับ และตามหลักธรรม จิตจะต้องเกิดขึ้นและดับไป สลับกัน และตามที่กล่าวไว้คือ จิตแต่ละประเภทจะไม่ปนกัน กุศลจิต (บุญ) กับ อกุศลจิต (โกรธ ไม่พอใจ) ไม่ปนกัน ดังนั้นขณะที่ทำบุญ มีการให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น มีเจตนาดีที่จะสละวัตถุ สิ่งของเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น มีพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ขณะนั้นมีเจตนาที่ดี เป็นจิตที่ดี เป็นกุศลจิต เป็นบุญในขณะนั้นครับ

ดังนั้น ขณะที่เป็นบุญจะเปลี่ยนสภาพธรรมในขณะที่เป็นบุญให้เป็นอกุศลก็ไม่ได้ นี่คือ พระอภิธรรม ธรรมที่ละเอียดยิ่งไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่ เมื่อทำบุญ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น หลังจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดได้อีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลสสะสมกิเลสมามาก ก็ทำให้เกิดอกุศลจิต มีความไม่พอใจ หงุดหงิด เป็นต้นได้เป็นธรรมดา ขณะนั้น จิตก็เป็นอกุศล เป็นอกุศลจิต ซึ่ง อกุศลจิตในขณะนั้น จะเปลี่ยนให้เป็นกุศลจิตก็ไม่ได้ ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 15 มี.ค. 2555

ที่สำคัญที่สุด ธรรมไม่ใช่การหักล้างกัน แม้จะเกิดอกุศลจิต ทำไม่ดีมามากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ความดี คือ กุศลจิตได้ทำไปแล้ว มีการให้ทาน รักษาศีล เป็นต้นบุญ หรือกุศลจิตก็ไม่เปลี่ยนไปตามอกุศลที่ทำในขณะอื่นๆ ครับ เพราะ กุศลจิตและอกุศลจิตแยกขาดจากกัน ไม่นำมาลบล้างกันได้ ดังนั้น การใส่บาตร ทำบุญ บุญสำเร็จไปแล้ว เป็นกุศลไปแล้ว ส่วน ความไม่พอใจ หงุดหงิด โกรธ หรือ ทำไม่ดีก็เป็นส่วนของอกุศล ครับ ไม่เกี่ยวข้องกับบุญที่ทำไปแล้ว ที่จะไม่ทำให้ได้บุญ ครับ เพราะบุญสำเร็จแล้วนั่นเอง

ดังนั้น อารมณ์ไม่ดี เช่น โกรธ หงุดหงิด ที่เป็นอกุศลจิต มี ความโกรธเป็นต้น ก็ส่วนหนึ่ง แต่ขณะที่ทำบุญ มีการให้ทาน รักษาศีล บุญสำเร็จแล้ว เป็นบุญแล้ว ครับ

ดังตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่มีเศรษฐีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์หลายรูป รับอาหารของตน ก็เตรียมของมามากมาย เผอิญ ภิกษุเหล่านี้ไปรับอาหารที่อื่นมาแล้ว เมื่อมาถึงบ้านเศรษฐี ก็รับไม่มาก บอกเศรษฐีว่าพอแล้ว เศรษฐีโกรธไม่พอใจ ที่ตนเองนิมนต์แล้ว ก็ยังจะไปรับที่อื่นและก็ยังมาบอกว่ารับแต่น้อย เศรษฐีโกรธ จึงพยายามใส่ข้าวและอาหารให้กับพระภิกษุมากๆ เมื่อเสร็จการทำบุญของเศรษฐีแล้ว เศรษฐีเกิดความเดือดร้อนใจ เข้าไปทูลถามว่า ตัวท่านจะได้บุญ กุศลไหมเพราะว่าท่านเกิดความไม่พอใจ หงุดหงิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอทำกุศลมาก ข้าวทุกเมล็ดที่เธอใส่มีผลมาก เพราะเธอทำในเนื้อนาบุญอันดี เศรษฐีปลื้มใจ ที่ได้รับฟังครับ นี่แสดงให้เห็นว่า บุญ ส่วน บุญ อกุศลส่วนอกุศล แยกกันครับ บุญสำเร็จแล้ว ก็เป็นบุญครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย Zeta  วันที่ 15 มี.ค. 2555

แล้วทำไมถึงมีกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มีโลภะและอโลภะ โทสะและอโทสะ ล่ะ งง


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และที่สำคัญ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลยทุกขณะเป็นธรรม มีสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่เรียกว่า บุญ ก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่จิตเป็นไปในการให้ทาน ในการรักษาศีล ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา นั้นเป็นขณะที่จิตเป็นกุศล ซึ่งเกิดน้อยมาก ไม่ได้ส่วนกันเลยกับอกุศล จึงเป็นธรรมดาที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เพราะสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลจิตก็เกิดขึ้น เป็นประเภทที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ บ้าง เป็นประเภทที่ประกอบด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไ่ม่พอใจ หงุดหงิด (หรือที่เข้าใจกันในสังคมไทย คือ อารมณ์ไม่ดีอารมณ์เสีย) บ้าง และทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล จะไม่ปราศจากโมหะหรือความไม่รู้เลย มีโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งก็มีจริงในขณะนี้ ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ อกุศลเป็นอกุศล จะเปลี่ยนให้เป็นกุศลก็ไม่ได้ กุศล เป็นกุศล จะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ และไม่มีใครจะสามารถลวงสภาพธรรมได้เลย เพราะเป็นความจริง เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ขณะที่เป็นอกุศลเป็นคนละส่วนกันกับกุศล กุศลที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว เช่น การให้ทาน สำเร็จเป็นกุศลกรรมบถแล้ว ย่อมจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลที่ดีในภายหน้า ส่วนขณะที่โกรธ หงุดหงิด เป็นอกุศลไม่ใช่กุศล และไม่ใช่ในขณะเดียวกันกับกุศลด้วย เพราะเกิดร่วมกันไม่ได้อย่างแน่นอนสำหรับกุศลกับอกุศล ที่น่าพิจารณาคือ เพียงความหงุดหงิด ไม่พอใจ เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นเหตุทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า เพราะไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นทางกายหรือทางวาจา แต่ก็จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้ เพราะถ้าสะสมมากขึ้นๆ ก็อาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรม ทำในสิ่งที่ไม่ดีในภายหน้าได้ ถึงขนาดว่าอาจจกระทำอกุศลกรรมที่หนักๆ ก็ได้

ดังนั้น ตราบใดที่เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลจิตก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะเกิดแล้วเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถึงแม้จะมีอกุศลมาก ถ้าได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ อกุศลเกิดก็รู้ว่าเป็นอกุศล เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็จะทำให้ค่อยๆ ถอยกลับจากอกุศลไปทีละเล็กทีละน้อย ได้ครับ

สำหรับ กุศลจิต นั้น มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นความหลากหลายของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กุศลจิต เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ประกอบด้วยธรรมฝ่ายดี มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล จะเกิดร่วมกับกุศลจิตไม่ได้เลย ถ้าเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีอโมหะคือ ปัญญา เกิดร่วมด้วย ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง อันเป็นกิจหน้าที่ของปัญญาโดยตรง โดยไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม เท่านั้นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ย่อมเป็นกุศลที่ประเสริฐ

จิตที่ดีที่สุด คือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญา

กุศลทีประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 15 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ จากคำถามที่ว่า

แล้วทำไมถึงมีกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา

มีโลภะและอโลภะ โทสะและอโทสะ ล่ะ งง


- ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจ คำว่า ปัญญา ก่อนครับ

ปัญญา คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นความเห็นถูก ตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญามีหลายระดับ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาขั้นสมถภาวนา ปัญญาขั้นวิปัสสนา

สรุปได้ว่า ปัญญา คือ สภาพธรรรมที่เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาเป็นเจตสิกฝ่ายดี เกิดกับกับจิตที่ดี ซึ่ง กุศลจิตเป็นจิตที่ดี ก็มีทั้งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา พูดง่ายๆ คือ จิตที่ดีที่เป็นกุศล แต่ขณะนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เช่น ขณะที่ให้ทาน เกิดกุศลจิตที่จะให้ แต่ไม่ได้มีความเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่ให้ทาน แล้วมีความคิดในขณะนั้นว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาครับ


ส่วนประเด็นเรื่อง มีโลภะและอโลภะ โทสะและอโทสะ ล่ะ งง

- โลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ส่วน อโลภะ เมื่อเติมคำว่า อะ อะ แปลว่าไม่ เป็นอโลภะ แปลว่าไม่ติดข้อง ดังนั้น อโลภะ จึงเป็นสภาพธรรมที่ดีที่หมายถึง ความไม่ติดข้อง ครับ

- โทสะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี เป็นความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ส่วนอโทสะ เมื่อเติมคำว่า อะ อะ แปลว่า ไม่ เป็นอโทสะ หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง เป็นสภาพธรรมที่ดี ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย zokenyo  วันที่ 16 มี.ค. 2555

เข้าใจแล้วค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย jaturong  วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย เซจาน้อย  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ