พยายามรักษาศีล แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
โดย apiwit  25 ก.พ. 2559
หัวข้อหมายเลข 27494

ในความเป็นจริงแล้ว การรักษาศีลเพียง 5 ข้อ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่าย แต่ในบางครั้งเมื่อถึงเวลาจริงๆ เรากลับห้ามมันไม่ได้ แม้จะรู้ว่ามันผิด เนื่องจากกิเลสมันรุนแรงมาก บางทีก็มีโทสะ บางทีก็มีราคะ จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถ้าตัดกิเลสไม่ได้ ศีลย่อมไม่มีทางบริสุทธิ์ได้เลย ผมเองเคยลองไปนั่งสมาธิให้จิตดิ่งชั่วคราวเพื่อให้ราคะ โทสะมันเบาลง แต่ก็ไม่ได้ผล จึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับกิเลสดี เพราะมันมักพาเราไปทำผิดศีลอยู่บ่อยๆ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำวิธีการฆ่ากิเลสด้วยครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 26 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ โทสเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ซึ่งความโกรธสามารถเกิดได้เป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่หนาด้วยกิเลส ที่ยังเป็นปุถุชน ซึ่งผู้ที่จะละความโกรธได้จนหมดสิ้น คือ พระอนาคามี ครับ

ซึ่งในความเป็นจริง โกรธ เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้น โดยมากของผู้ที่เผินในการศึกษาพะรธรรม ย่อมที่จะละความโกรธ เพียงเพราะรู้ความโกรธไม่ดี ก็เป็นตัวเราที่จะละ เป็นตัวเราที่ไม่ดี เป็นตัวเราที่โกรธ เป็นตัวเราที่จะละความโกรธ ก็ไม่มีทางละความโกรธได้เลย เพราะฉะนั้น โกรธไม่ดี รู้แค่เข้าใจขั้นการฟัง ว่า โกรธไม่ดี แต่ยังไม่ได้รู้จักตัวความโกรธจริงๆ ในลักษณะของความโกรธที่เกิดขึ้น จึงยังไม่รู้ว่าโกรธเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกต้องในการละความโกรธ คือ เข้าใจความโกรธที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ย่อมเป็นหนทางการละความโกรธได้ในที่สุด ครับ

ศีลจะบริสุทธิ์ก็เพราะมีปัญญา การบรรลุเป็นพระโสดาบัน ปัญญาเป็นสำคัญ ส่วน การไม่ล่วงศีล ๕ อีกเลย เป็นผลมาจากการบรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเป็นผล ไม่ใช่เหตุ ซึ่งธรรมดาของปุถุชน ย่อมมีโอกาสล่วงศีล ได้เป็นธรรมดา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม แม้พระโพธิสัตว์ก็ล่วงศีลได้ แม้ ชาติสุดท้ายของพระอริยสาวก ก็ล่วงศีล ๕ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก่อนบรรลุ แสดงถึงความเป็นไปของสภาพธรรม ที่ถ้าไม่ใช่พระโสดาบันแล้ว ก็มีโอกาสล่วงศีลได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจะต้องละเอียดรอบคอบ แยกระหว่างเหตุและผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อะไรคือเหตุ ให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน คือ การเจริญอบรมปัญญา คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น พร้อมด้วยศีล คือ อินทรียสังวรศีล และ พร้อมด้วยสมาธิ และ ด้วยปัญญา เป็นไตรสิกขาในขณะนั้น นี่คือเหตุ ให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่ เรากำลังเอาผล คือ การเป็นพระโสดาบัน ผล คือ ศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่ล่วงศีล มากลายเป็นเหตุ ให้เป็นพระโสดาบัน คือ จะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เพื่อความเป็นพระโสดาบัน แต่ นั่น กำลังสับสนเอาเหตุมาเป็นผล ผลมาเป็นเหตุ เพราะ ศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นผลมาจากการเจริญอบรมปัญญา ทำให้เป็นพระโสดาบัน เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ศีล ๕ ย่อมบริสุทธิ์เอง เพราะฉะนั้น ควรอบรมเหตุที่ถูกต้อง ไม่ใช่พยายามรักษาศีลให้ดี จะได้เป็นพระโสดาบัน นั่นไม่ใช่เหตุที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน ครับ

ต้องเห็นโลภะจึงละโลภะได้

ท่านอาจารย์สุจินต์ เป็นคนที่ผิดปกติไหมคะ แต่เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง ด้วยความไม่รู้ก็ทำให้คิดไปต่างๆ นานา แม้แต่จะปราบโลภะ จะพยายามทำให้โลภะไม่เกิด แต่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย ขณะนั้นก็ด้วยโลภะนั่นเองที่มีความต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นตัวโลภะด้วยปัญญาจริงๆ ไม่สามารถจะละได้ และการละอกุศลต้องตามลำดับขั้น ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงในขณะที่เห็น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วจะไปละโลภะได้อย่างไร ไม่มีทางเลย เรียกว่า “ข้าม” พยายามไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งละเอียด คัมภีร ลึกซึ้ง เวลาที่โกรธ ต้องการอะไรคะ

สุกัญญา ก็ไม่ได้สิ่งที่พอใจ

สุ. ต้องการไม่ให้โกรธ ใช่ไหมคะ

สุกัญญา ใช่ค่ะ

สุ. ไม่ใช่รู้ลักษณะของโกรธซึ่งกำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้ว เมื่อไรจะถึงการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ไม่เห็นโลภะ ไม่เห็นอวิชชา ก็ละไม่ได้

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 26 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีล ๕ เป็นเรื่องปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวัน เป็นศีล ซึ่งไม่พ้นไปจากกาย วาจา ใจของแต่ละบุคคล ในแต่ละวันจิตใจเป็นกุศลหรือเป็นกุศลมากน้อยเท่าใด เมื่อเทียบกันแล้วกุศลย่อมมีมากกว่า แต่ถ้ามีการล่วงศีล มีการกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากิเลสมีกำลังมากทีเดียว ซึ่งทุกคนควรจะได้ทราบและพิจารณาตนเองว่ามีการล่วงศีลข้อใดบ้างในแต่ละวัน กล่าวคือ มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ มีการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา ของผู้อื่น มีการดื่มสุราของมึนเมาทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท บ้างหรือไม่? ซึ่งเป็นการพิจารณาตนเองในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้สำรวมระมัดระวังความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม โดยงดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น แล้วประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ก็เป็นศีลเช่นเดียวกัน

การเจริญกุศลขั้นศีล เป็นการขัดเกลาจิตใจของตนให้เบาบางจากกิเลส แม้ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ก็จริง แต่ก็เป็นการอบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลสกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทราบว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์อื่น บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ ก็อาจจะเกิดความยินดีพอใจในความไม่ดีเหล่านี้ก็เป็นได้ และเมื่อเป็นกิเลส เป็นกุศลธรรม เป็นกุศลกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี (กุศลวิบาก) ข้างหน้าสำหรับตนเองอีกด้วย เมื่อไม่ทราบอย่างนี้ เจตนาที่จะงดเว้นก็จะไม่มี แต่ถ้าทราบ ก็จะสามารถละคลายให้เบาบาง หรือว่างดเว้นเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งก็จะเป็นการชำระจิตใจให้เบาบาง ให้บรรเทาจากกิเลสและกุศลได้ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นผู้มีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีการล่วงอีกเลย เมื่ออบรมเจริญปัญญาบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน (ตามข้อความจากพระไตรปิฎกที่ได้ยกมา ที่แสดงถึงคุณธรรมของพระโสดาบัน คือ มีศีล ๕ ที่ครบบริบูรณ์ ไม่ขาด) และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ กว่าที่ศีลจะบริสุทธิ์ได้จริงๆ ก็ต้องมีปัญญา เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และอีกประการหนึ่ง การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม จึงควรตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ ครับ.

…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....


ความคิดเห็น 3    โดย apiwit  วันที่ 26 ก.พ. 2559

กราบขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 5    โดย สุณี  วันที่ 29 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย mon-pat  วันที่ 1 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย บริบทธรรม  วันที่ 4 มี.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา สาธุครับ


ความคิดเห็น 8    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ