[คำที่ ๒๔๗] กิเลสโรค
โดย Sudhipong.U  19 พ.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 32367

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กิเลสโรค

คำว่า กิเลสโรค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า กิ - เล - สะ - โร - คะ] มาจากคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต,กิเลส) กับคำว่า โรค (สภาพที่เสียดแทง) รวมกันเป็น กิเลสโรค หมายถึง สภาพที่เสียดแทงจิต คือ กิเลส, โรค คือ กิเลส แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีจริง แต่เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี คือ เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ที่เมื่อเกิดขึ้น ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ แม้แต่น้อย ทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจ เป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรมากมาย ตามกำลังของกิเลส และที่น่าพิจารณาคือ ทุกขณะที่ไม่รู้ความจริง โรค คือ กิเลสเกิดขึ้นแล้ว

ข้อความจากอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา สุเมธาเถรีคาถา แสดงความหมายของโรคกิเลส ซึ่งเป็นโรคทางใจ ไว้ว่า

โรคทางใจ คือ กิเลส เสียดแทงจิตใจ”

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โรคสูตร แสดงความจริงว่า ใคร ไม่มีโรค คือ กิเลส ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่าง เป็นไฉน? คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑, ปรากฏอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอด เวลา ๑ ปี ก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปี ก็มี ๓ ปี ก็มี ๔ ปี ก็มี ๕ ปี ก็มี ๑๐ ปี ก็มี ๒๐ ปี ก็มี ๓๐ ปี ก็มี ๔๐ ปี ก็มี ๕๐ ปี ก็มี ๑๐๐ ปี ก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่า ไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ยังมากไปด้วยโรคทางใจ คือ กิเลส หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สารพัดโรคที่จะเกิดขึ้นเสียดแทงจิตใจ ทั้งโรคโลภะ ความติดข้องต้องการ โรคโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ โรคโมหะ ความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โรคมานะ ความสำคัญตน ถือตน โรคมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม โรคมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ไม่อยากให้สมบัติของตนทั่วไปแก่คนอื่น โรคริษยา เห็นอื่นได้ดีมีความสุขแล้วทนไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งถูกโรคกิเลสเหล่านี้ทำร้ายจิตใจมานับชาติไม่ถ้วน ไม่ใช่เพียงเฉพาะชาตินี้เท่านั้น และยังจะต้องเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับโรคกิเลสเหล่านี้ได้ตามลำดับขั้น จึงเป็นสิ่งที่จะควรจะได้พิจารณาว่า ไม่มีอะไร ที่จะมารักษาให้หายจากโรคเหล่านี้ได้ นอกจากได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

โรคทางใจ คือ กิเลส มี โรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ เป็นต้น นั้น เป็นโรคที่เห็นยาก เมื่อเป็นเช่นนี้โรคทางใจจึงรักษาได้ยากกว่าโรคทางกาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาอันยาวนานในการสะสมกุศล สะสมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาโรคทางใจให้หมดสิ้นไปได้ ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นโรคกิเลสที่ตนมีตามความเป็นจริงแล้วรีบขัดเกลาละคลาย ก็ย่อมจะดีกว่าการปล่อยให้โรคกิเลสนั้นกำเริบหนักยิ่งขึ้น ถ้ากิเลสมากมาย พอกพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้นก็ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะไม่ยอมแม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเลย แล้วกิเลสจะน้อยลงได้อย่างไร ถ้าเป็นบุคคลประเภทหลังนี้ ก็สามารถที่จะกล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่ยอมถูกรักษาด้วยพระธรรม เป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ยังจะต้องอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เต็มไปด้วยทุกข์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

บุคคลผู้ที่รู้ว่าตนเองเป็นผู้เต็มไปด้วยโรคใจ คือ กิเลส แล้วมีฉันทะ (ความพอใจที่เป็นกุศล) มีความเพียร มีความอดทน และจริงใจในการขัดเกลาละคลายกิเลสด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลทุกประการ เพราะเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าถ้ากุศลไม่เกิดก็เป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้น เป็นผู้สะสมอุปนิสัยในการอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติทุกๆ วัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง บุคคลประเภทนี้เป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่มีปัญญา ดำเนินตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งพึงเป็นผู้มีความมั่นคงในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทต่อไป ซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่จะเป็นไปเพื่อรักษาโรคทางใจ คือ การดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ได้ในที่สุด เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เท่านั้น ที่จะเป็นยารักษาโรคทางใจคือกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ไม่มีโรคทางใจอีกเลย นั่นก็คือ บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นหนทางที่ยาก และยาวไกลมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอดีตมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหมบุคคล ล้วนเป็นผู้ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ทั้งนั้น

เฉพาะฉะนั้นแล้ว การที่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นไปตามลำดับได้นั้น ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ