ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"เข้าใจอุปาทานในชีวิตประจำวัน"
ถอดจากคำสนทนาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
สนทนาธรรม ไทย - ฮินดี
วันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
(ดอกบัวบานที่ มศพ. _ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔)
~ เมื่อไหร่จะรู้ว่าทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ได้ยินคำว่า อุปาทาน คำนี้ เข้าใจว่าอย่างไร? คำที่พระองค์ตรัส ตรัสถึงสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ทุกคำของพระองค์ กำลังกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้
~ อุปาทาน คำนี้ พูดถึงสิ่งที่มีจริง ใช่ไหม? คุณอาช่า ชอบอาหารอร่อยไหม? ทุกมื้อ ใช่ไหม? ทุกวัน ใช่ไหม? ไม่เว้นเลย ใช่ไหม? ไม่ได้ชอบแต่เพียงอาหารอร่อยเท่านั้น เขาชอบเสียงเพราะ เสื้อผ้าส่าหรีทุกอย่างต้องสวยด้วย กลิ่นก็ต้องหอมด้วยเวลาปรุงอาหาร เพราะฉะนั้น ชอบทุกอย่าง ถ้าอาหารแข็งไป ก็ไม่ชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เขาต้องการสิ่งที่เขาพอใจ ใช่ไหม? สิ่งที่เขาชอบ คือ สิ่งที่มีในชีวิตประจำวันของเขาทุกวันทั้งหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาชอบมากขึ้นๆ ทุกวันๆ มากพอที่จะยึดมั่น ไม่ปล่อย ไม่สามารถที่จะละความยินดีติดข้องนี้ได้ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น เข้าใจคำว่าอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) หรือยัง?
~ เราฟังทีละคำ เข้าใจทีละคำ ได้ยินคำว่าอุปาทาน เป็นสิ่งที่มีแน่นอน คือ ความติดข้อง ไม่สามารถที่จะละได้ เพราะยึดมั่นมาก สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ก็ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด เป็นกามุปาทาน (ยึดมั่นถือมั่นด้วยความติดข้องยินดีพอใจในกาม)
~ เวลาไปซื้อของ ต้องเลือกของที่ชอบมากๆ ใช่ไหม? ขณะนั้นรู้ไหมว่าเป็นอุปาทาน เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่ต้องไปหาที่อื่นเลย ชีวิตประจำวันทั้งหมด เริ่มเข้าใจอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)
~ สิ่งที่น่าพอใจทางตาที่ปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ เสียงที่น่าพอใจทางหูที่ปรากฏ กลิ่นที่น่าพอใจทางจมูก รสที่น่าพอใจทางลิ้น การกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจทางกาย มีไหม ในชีวิตประจำวัน? รู้จักหรือยังว่าเป็น “กาม” คือ สิ่งที่น่าพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มั่นคงมาก ต้องการทุกอย่างที่ปรากฏ ละไม่ได้เลย
~ กาม เป็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏให้เห็น น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่อุปาทานเป็นความพอใจที่ติดข้องมั่นคง จึงรวมเป็นกามุปาทาน คือ ความติดข้องยินดีพอใจมั่นคงในกาม
~ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่น่ายินดีพอใจ เป็นกามคุณ ๕ และสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นอุปาทาน เพราะฉะนั้น อุปาทาน ความยึดมั่น มีหลายอย่าง แต่เราพูดถึงกามุปาทาน เป็นหนึ่งของอุปาทาน
~ อุปาทาน มีจริง เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่รู้อะไร จะติดข้องได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สภาพรู้ มีมากมายหลายอย่าง สภาพรู้อย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ติดข้อง ชื่อว่า โลภะหรือความต้องการซึ่งละไม่ได้ ยึดมั่นอยู่ตลอด จึงเป็นอุปาทาน
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้จำให้เรียกชื่อต่างๆ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้
~ พระอรหันต์ เห็นดอกไม้สวยๆ เปลี่ยนดอกไม้สวยๆ ให้เป็นไม่สวยไม่ได้ แต่ไม่มีโลภะ ไม่มีกามุปาทาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สวยนั้น เป็น กาม แต่ไม่ใช่กามุปาทาน ไม่ได้เป็นอารมณ์ของความยึดมั่น
~ นอกจากกามุปาทานแล้ว ยังมีความเห็นผิดที่เขายึดมั่นว่าเป็นตัวเขา ใช่ไหม? ละยากไหม? ดับยากไหม? ไม่ให้เป็นเรา ยากไหม? เพราะฉะนั้น ต่างจากการที่ยึดมั่นในกาม ก็คือ ยึดมั่นว่ามีเรา เป็นเรา เป็นอัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในความเห็นผิดว่ามีเรา)
~ เกิดมา เราเกิด เราติดข้อง เราต้องการ เมื่อมีความเห็นผิดว่าเป็นเรา ก็ต้องการทุกอย่างเพื่อเรา เพราะฉะนั้น พยายามทุกทางเพื่อที่จะได้ทุกอย่างที่ต้องการ เพื่อเรา
~ คิดว่าเครื่องรางของขลัง ต้นไม้ใบหญ้า สามารถที่จะดลบันดาลให้ได้ นั่น เป็นความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐุปาทาน เพิ่มความเห็นผิด เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจผิดยึดมั่นว่ามีเรา
~ การกระทำทั้งหมด ไม่ว่าจะไหว้ต้นไม้ ไหว้นกหรือไหว้กา หรืออะไรก็ตามแต่ ที่เข้าใจว่าจะนำสิ่งที่ดีมาให้ทั้งหมด การกระทำนั้นๆ ผิด เป็นสีลัพพตุปาทาน
~ ความยึดมั่นที่มองเห็นได้ ที่มีจริงๆ ก็มี ๔ อย่าง ได้แก่
กามุปาทาน (ยึดมั่นในกาม)
อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นด้วยความเห็นผิดว่ามีเรา)
ทิฏฐุปาทาน (ยึดมั่นด้วยความเห็นผิด เช่น เห็นผิดว่า บุญ บาป ไม่มี เป็นต้น)
และสีลัพพตุปาทาน (ยึดมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด)
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับกิเลสหมด ดับอุปาทานหมด และทรงแสดงหนทางให้คนเข้าใจหนทางที่จะดับด้วย
~ โลภะ ความติดข้อง มีโทษไหม? เพราะฉะนั้น จะละอุปาทานทั้งหมดทีเดียว ได้ไหม? ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เห็นได้จริงๆ ว่า อุปาทาน ติดแน่นมาก ยากที่จะละได้
~ การดับอุปาทาน ยากไหม? เพราะว่า แม้ว่าไม่มีความเห็นผิดที่จะไปไหว้นกไหว้กิ้งก่าตุ๊กแก แต่ว่า ยังมีความยึดมั่นว่าเป็นเรา
~ ถ้าปัญญาไม่เห็นสีลัพพตุปาทานซึ่งเป็นเพราะโลภะในขณะนั้น ก็ละสีลัพพตุปาทานไม่ได้
~ ธรรม ละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้ความละเอียดลึกซึ้งแม้ของโลภะซึ่งเป็นอุปาทานด้วย
~ ถ้าขณะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นโลภะที่ทำให้มีความเห็นผิดในขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะละสีลัพพตุปาทานได้ ด้วยเหตุนี้ ทุกอย่างละเอียดมาก ปัญญาเท่านั้นที่รู้ว่าโลภะ เป็นสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ที่ ๒ เป็นทุกขสมุทยสัจจะ
~ ถ้าไม่เห็นโลภะ ปัญญาก็ละโลภะไม่ได้ เพราะว่า ขณะที่เป็นสีลัพพตุปาทาน ก็เพราะมีโลภะตรงนั้น
~ ทุกครั้งที่เห็นผิด ต้องมีความพอใจยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น แต่โลภะไม่ใช่ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะละโลภะที่เกิดกับความเห็นผิด แต่ก็ยังมีโลภะที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้
~ จากคนธรรมดาซึ่งมากไปด้วยความไม่รู้ มากไปด้วยกิเลส เป็นปุถุชนบุคคล จะถึงความเป็นพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิดอีกเลย ไม่เหลือเลย ไม่เกิดอีกเลย เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย ยากที่สุด ลึกซึ้งที่สุด
~ ถ้าไม่เคยฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?
~ มีโอกาสที่จะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ไหม ว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีความมั่นคงว่าฟังธรรมเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีซึ่งไม่ใช่เรา ก็จะไม่ได้อะไรเลยจากการฟังธรรมถ้าไม่มั่นคงอย่างนี้
~ ถ้าอ่านธรรม ฟังธรรม มีชื่อธรรม แต่ไม่เข้าใจธรรม ก็ไร้ประโยชน์
~ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าการฟังธรรม เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่รู้เลย ยากมาก ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
~ สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ รู้ได้แน่นอน แต่ไม่ใช่ด้วยตัวเอง แต่รู้ได้เมื่อได้ฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้รู้ว่าเพื่อเข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังมี
~ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ นั่นเป็นความเห็นถูกต้องหรือเปล่าเพราะไม่รู้ความจริง?
~ ขอให้มีปัญญาเดี๋ยวนี้เยอะๆ ให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ ได้ไหม? นี่ยังขอไม่ได้ แล้วอะไรจะขอได้ จะขออะไรได้ เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม? เพราะว่า เหตุที่จะทำให้เข้าใจขึ้น คือ ฟัง พิจารณา ไตร่ตรองเหตุผล จนกระทั่งเข้าใจถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องขอเลย แต่ถ้าเหตุเป็นอย่างนี้ ผล ก็คือ เข้าใจขึ้น
~ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ไม่สามารถเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าเข้าใจสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ จะเข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าหมายความถึงอะไร
~ อาสวะ (กิเลสที่บางเบา) ไม่ได้ปรากฏเหมือนความโกรธหรือความชอบมากๆ หรือความต้องการแรงๆ แต่ว่าเมื่อมีสิ่งใดปรากฏ ขณะนั้นชอบโดยไม่ปรากฏเลยว่าเป็นชอบเลย
~ อนุสัย (กิเลสที่ละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในจิต) อยู่ไหน? อยู่ในจิตทุกขณะ นอกจากจิตของพระอริยบุคคลที่ดับอนุสัยเป็นประเภทๆ นอกจากนั้น ก็มีอนุสัย ครบ เพราะฉะนั้น จึงต้องเรียน ต้องรู้
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ซึ่งทุกคนไม่รู้ ไม่อย่างนั้นก็ได้แต่เพียงจำชื่อ แต่ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นอะไร
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าท่านอาจารย์และอนุโมทนาค่ะ
ถ้าเราศึกษาธรรมด้วยความเห็นถูกและเป็นคนตรงสุดท้ายแล้วเราจะไม่เหลืออะไรเลยถูกต้องไหมครับ...
กราบอนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๘ ครับ
แต่ละขณะเกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ความเข้าใจถูกเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป มีโอกาสได้ฟังพระธรรมอีก ก็จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นต่อไปอีก ยังไม่ต้องกล่าวถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นก็ได้ แต่ขณะนี้ก็ได้เริ่มในการอบรมเจริญความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว จากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะผู้ที่จะถึงการที่จะไม่มีการเกิดอีก ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง คือ พระอรหันต์ เมื่อปรินิพพาน (ตาย) แล้ว จะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบ อนุโมทนาสาธุค่ะท่านอาจารและกัลยนมิตทุกท่านค่ะ
กราบอนุโมทนา และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ