อัฏฐสาลินี แสดงเววจนะของจิตไว้ 10 อย่าง
โดย ใหญ่ราชบุรี  16 พ.ย. 2558
หัวข้อหมายเลข 27221

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อัฏฐสาลินี คืออะไร อยู่ที่ไหน อธิบายอะไร ท่านใดอธิบาย

๒. เววจนะ คืออะไร มีความหมายประการใด

๓. คำถามอย่างนี้ ปิดกั้นไม่ให้รู้สภาพธรรมหรือไม่ เป็นการติดในชื่อหรือไม่ ถ้าเป็นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะรู้ ใช่หรือไม่ ถ้าไม่เป็นแล้วมีประโยชน์อย่างไร

๔. ข้องใจมากๆ เรื่องติดในชื่อ ฟังก็มีชื่อ อ่านก็มีชื่อ คิดก็มีชื่อ สังเกตพิจารณาก็มีชื่อสนทนากันก็มีชื่อ มีเรื่อง "มีเรา" เสมอ ก็เตือนกันอยู่อย่างนี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องผิดไม่ถูกต้อง ควรตำหนิติติง (เหมือนพูดเป็นชื่อ เป็นเรื่อง ก็ เป็นติดชื่อติดเรื่องเสียแล้วคือ พูดไม่เป็นธรรม ฟังธรรมไม่เป็นธรรม แล้วจะศึกษากันอย่างไร) การที่จะเป็นลักษณะอาการที่ไม่มีชื่อ ก็ยังไม่อยู่ในฐานะ ในวิสัยที่จะเป็นไปได้ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 16 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-อรรถสาลินี เป็นคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระอภิธรรมปิฎก ในส่วนของธัมมปสังคณีปกรณ์ ซึ่งเป็นส่วนแรกสุดของพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น ธรรมหมวด ๓ ได้แก่ ธรรมที่เป็นกุศล ก็มี ธรรมที่เป็นอกุศล ก็มี ธรรมที่ไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็มี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ศึกษาอย่างยิ่ง เพราะทำให้เข้าถึงความเป็นจริงของธรรม ผู้ศึกษาก็ได้รับสาระประโยชน์จากคำอธิบายนั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วอรรถกถาทั้งหลาย พระพุทธโฆษาจารย์ได้แปลและเรียบเรียงจากอรรถกถาเดิม ซึ่งอรรถกถา หมายถึงคำอธิบายเนื้อความ ซึ่งเป็นการอธิบายขยายข้อความพระไตรปิฎก ซึ่งในสมัยครั้งพุทธกาลก็มีแล้ว คือส่วนหนึ่งมาจากปกิณณกเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนหนึ่งก็มาจากพระอรหันต์สาวกมีท่านพระสารีบุตรเป็นต้นท่านอธิบายไว้ ซึ่งล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด สาระสำคัญจึงอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกสำหรับผู้ที่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบอย่างแท้จริง
-เววจนะ หมายถึง คำ หรือ บางทีก็เรียกว่า ไวพจน์ อย่างเช่น คำที่กล่าวถึงจิต ก็มีหลายคำ เช่น วิญญาณ (สภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์) มนะ (สภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือ รู้อารมณ์) หทย (สภาพที่อยู่ภายใน) มนินทรีย์ (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ คือ จิต) เป็นต้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็คือ กล่าวถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

-ความคิดนึกก็เป็นไปหลากหลายตามการสะสม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง การติดในชื่อ ในเรื่อง ขณะนั้นไม่ได้ทำให้เข้าใจความจริง เพราะสนใจชื่อ สนใจเรื่อง ไม่ได้ใส่ใจในความเป็นจริง จากคำที่ได้ยินได้ฟัง แต่ควรที่จะอาศัยชื่อ อาศัยเรื่อง เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นการศึกษาธรรมให้เข้าใจไปทีละคำ
-การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แน่นอนจะต้องจะได้ยินคำ แต่ละคำ แต่คำที่ได้ยินได้ฟังนั้น เพื่อส่องให้เข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ไปติดที่คำ หรือติดที่ชื่อ แต่เพื่อความเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม สำคัญที่ความเข้าใจถูกจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะพูดว่า เรา หรือ บุคคล ไม่ได้ เพราะเข้าใจถูกต้องว่า จริงๆ แล้ว ไม่มีเรา มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ที่เรียกว่า เรา หรือ บุคคลอื่น ก็คือเพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม เวลาพูดกันสนทนากัน ก็ต้องมีการใช้คำ เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่ากำลังหมายถึงอะไร
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีมาก แต่ละคำที่พระองค์ตรัส ก็เพื่อความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง ที่จะต้องฟังต้องศึกษา ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อดทน จริงใจ โดยมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย pulit  วันที่ 17 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Jarunee.A  วันที่ 21 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ