จากแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ 564 – 564 ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้บรรยายมูลเหตุที่ทรงบัญญัติพระวินัยไม่ให้พระภิกษุรับและยินดีในทองและเงิน เมื่อ ปี 2518 ไว้ดังนี้
...ท่านจะเห็นความต่างกันระหว่างคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็มีการรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีลเป็นประจำได้ แต่สำหรับเพศของบรรพชิตที่ต่างกันจริงๆ อย่างศีล ๘ กับศีล ๑๐ นั้น ก็คือ องค์ที่ ๑๐ คือเว้นจากการรับทองและเงิน ที่ต่างกันทำให้เป็นเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับประการที่ต่างกันที่สำคัญ คือ เว้นจากการรับทองและเงิน ซึ่งจะทำให้ฐานะของบุคคลเปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ก็คงจะต้องมีความสำคัญ เพราะเหตุว่าผู้ที่ยังไม่สามารถจะตัดขาด สละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ย่อมมีการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่พอใจ ตามความพอใจ ซึ่งก็จะต้องอาศัยเงินและทองเป็นปัจจัยในการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสามารถสละชีวิตของคฤหัสถ์ไปสู่ชีวิตของบรรพชิต ก็ย่อมจะต้องไม่ยินดีในการรับเงินและทองด้วย เพราะเมื่อต้องการจะสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะต้องสละเงินและทอง ปัจจัยที่จะให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย
สำหรับมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุรับหรือยินดีเงินและทอง ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๓ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องพระนันทศากยบุตร ข้อ ๑๐๕ มีข้อความว่า
๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๑๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน
ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เราแล้วหรือ?
บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว
อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา
บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้รับรูปิยะเหมือนพวกเรา
ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขาต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า
ดูกร อุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ?
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกร โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดังนี้แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำ ธรรมิกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้
พระบัญญัติ
๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดีซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรจบ
ถ้าท่านศึกษาพระวินัยบัญญัติ จะเห็นได้ว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นมูลเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ และที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายให้เห็นโทษของการกระทำของท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำในการที่รับรูปิยะ
จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำอย่างนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ลองพิจารณาดูว่า จริงหรือไม่จริง แม้ในสมัยปัจจุบันนี้ จะเลื่อมใสไหม ภิกษุที่รับรูปิยะ หรือว่ารับทองและเงิน ท่านก็กล่าวตำหนิเพ่งโทษอยู่เสมอ จริงหรือไม่จริง เวลาที่ได้ยินได้ฟัง ได้ข่าวว่า ภิกษุรูปใดเป็นผู้ที่ยินดีในทองและเงิน ไม่มีใครสรรเสริญ แต่จะสรรเสริญภิกษุผู้ที่ไม่ยินดีในทองและเงิน ในระหว่างพระภิกษุ ท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า ภิกษุรูปใดมีข้อปฏิบัติที่ชุมชนเลื่อมใส หรือว่าเป็นที่เลื่อมใสของชุมชน และข้อปฏิบัติอย่างใดไม่เป็นที่เลื่อมใส เคยได้ฟังคฤหัสถ์สรรเสริญพระภิกษุที่ท่านไม่ยินดีในทองและเงินไหม และเคยได้ฟังคฤหัสถ์ที่ติเตียน เพ่งโทษพระภิกษุที่ยินดีในทองและเงินใช่ไหม ก็เป็นปกติตามความเป็นจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยาย
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดที่จะยินดีรับทองและเงิน ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยาย ตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ซึ่งปกติถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะทำให้เป็นบุคคลที่เลี้ยงง่ายกว่าบุคคลที่ติดอย่างมากทีเดียวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้ที่ติดอย่างมาก ก็คือ คฤหัสถ์ ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเลี้ยงยาก ใช่ไหม ตั้งแต่รูปที่ปรากฏทางตา คฤหัสถ์ก็มีความยินดีมาก ปรารถนามาก ต้องการมาก แสวงหามาก ซื้อหาอยู่เป็นอันมากทีเดียวในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเครื่องใช้ ในที่อยู่อาศัย ในเสื้อผ้า ในการประดับตกแต่งต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้เงินทองเป็นอันมากสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ นี่เป็นผู้ที่เลี้ยงยาก แต่ว่าผู้ที่ไม่ยินดี ผู้มีความยินดีน้อย มีการมุ่งละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ย่อมจะเลี้ยงง่ายกว่ามาก แล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เกินจำเป็น เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นในการรับเงินทองหรือรูปิยะเลย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังแสวงหาเงินทองอยู่ ให้ทราบว่า ท่านเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเลี้ยงยาก แล้วก็เป็นผู้มีความพอใจต่างๆ นานาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นคนเลี้ยงยาก ก็เป็นคนที่บำรุงยาก มีเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงชีวิตให้สะดวกสบายมากขึ้น เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เป็นคนมักมาก เป็นคนไม่สันโดษ
พระผู้มีพระภาคตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ เมื่อยังมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้เป็นบรรพชิตก็ย่อมเป็นผู้ที่เลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ เมื่อยังเป็นผู้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งทำให้เลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษแล้ว ก็ยังจะต้องคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นผู้อุปถัมภ์ บำรุง อุปัฏฐาก อุปการะต่างๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสโทษแห่งความเป็นคนเกียจคร้านในการที่จะไม่แสวงหาด้วยสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นกิจของสมณะหรือบรรพชิต ด้วยความอุตสาหะหรือวิริยะ สำหรับสัมมาอาชีวะของบรรพชิต ทางที่จะได้มาซึ่งอาหารของบรรพชิตก็คือ บิณฑบาต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นผู้เกียจคร้านในการที่จะแสวงหาอาหารด้วยสัมมาอาชีวะ คือ บิณฑบาต แต่ถ้าเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ก็อาจจะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงอุปัฏฐากต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้เป็นคนเกียจคร้านในการแสวงหาด้วยสัมมาอาชีวะของบรรพชิต คือ บิณฑบาต ก็จะเป็นผู้พอใจในความสบาย ในการบำรุง อุปัฏฐากของคฤหัสถ์ นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วจึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทด้วยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ
สำหรับบัญญัติข้อนี้ ก็คือ
๑. อนึ่งภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดีซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์
ซึ่งถ้าท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้เลี้ยงง่าย ท่านก็จะไม่ยินดีในรูปิยะที่ชาวบ้านอุบาสกท่านนั้นบริจาคทรัพย์เพื่อท่าน ๑ กหาปณะ เมื่อท่านมีส่วนของเนื้อ แต่ว่าอุบาสกท่านนั้นก็ได้ให้ส่วนของท่านนั้นแก่บุตรของตนแล้ว ก็ควรจะจบเรื่อง ไม่ต้องห่วงใยอาลัยในการต้องการเนื้อ หรือว่ากหาปณะที่จะเก็บไว้สำหรับบริโภคใช้สอย เพราะเหตุว่าท่านยังมีความยินดีอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงขอรับทรัพย์กหาปณะหนึ่งจากอุบาสกนั้น ซึ่งเป็นการไม่ควรอย่างยิ่งสำหรับเพศสมณะ
สำหรับเรื่องการรับเงินทองของพระภิกษุ ก็เป็นปัญหาอยู่เสมอ ตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานว่าเป็นการกระทำที่ควรหรือไม่ควร
ข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มนิจูฬกสูตร มีข้อความว่า
มณิจูฬกสูตร
[๖๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน ย่อมรับทองและเงิน ฯ
เหมือนพุทธบริษัทสมัยนี้ไหม ก็ยังคงเป็นปัญหาซึ่งมักจะสนทนากันอยู่เสมอว่า ควรหรือไม่ควร
ข้อความใน มณิจูฬกสูตร ต่อไปมีว่า
[๖๒๔] ก็สมัยนั้นแล นายบ้านนามว่า มณิจูฬกะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้งนั้น นายบ้านนามว่ามณิจูฬกะได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า
ท่านผู้เจริญ อย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน นายบ้านมณิจูฬกะไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ ฯ
[๖๒๕] ครั้งนั้น นายบ้านมณิจูฬกะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อราชบริษัทนั่งประชุมกันในพระราชวังสังสนทนากันว่า ทองและเงินย่อมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน เมื่อราชบริษัทกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า ท่านผู้เจริญอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ทองและเงินย่อมไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน ย่อมไม่รับทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่อาจให้บริษัทนั้นยินยอมได้ เมื่อข้าพระองค์พยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้แลหรือ พระเจ้าข้า ฯ
[๖๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ นายคามณี เมื่อท่านพยากรณ์อย่างนี้ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนพึงติเตียนได้ เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน
ดูกร นายคามณี ทองและเงินควรแก่ผู้ใด เบญจกามคุณก็ควรแก่ผู้นั้น เบญจกามคุณควรแก่ผู้ใด ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น
ดูกร นายคามณี ท่านพึงทรงความที่ควรแก่เบญจกามคุณนั้นโดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่งเล่า เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย ฯ
จบ สูตรที่ ๑๐
ได้ทราบจากพระภิกษุบางรูปซึ่งท่านได้ศึกษาพระวินัย และท่านก็ใคร่จะประพฤติปฏิบัติตรงตามพระวินัยเท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้ และท่านก็ได้เห็นเหตุผลจริงๆ ว่า ด้วยเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุยินดีหรือรับเงินและทอง เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะมีกิจหลายประการ ซึ่งชีวิตจะดำรงอยู่ได้โดยอาศัยปัจจัย คือ เงินทอง แต่ว่าสำหรับเพศสมณะ ถ้ามีความตั้งใจมั่นจริงๆ ที่จะขัดเกลากิเลส แล้วพิจารณาพระวินัยบัญญัติทั้งหมดว่า ประโยชน์ของพระวินัยบัญญัตินั้นมีมาก ในการที่จะให้ผู้นั้นมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตามแล้วสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้โดยไม่รับทองและเงิน โดยไม่ยินดีทองและเงิน เพราะเหตุว่าความต้องการนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่สิ่งที่จำเป็น เมื่อมีการรับเงินทอง และเข้าใจว่า จะใช้สำหรับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แต่ในการใช้จริงๆ สิ่งที่คิดว่าจำเป็นก็จะก้าวต่อไปถึงสิ่งซึ่งแม้ไม่จำเป็น ก็เข้าใจว่าเป็นส่วนที่จำเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านเห็นว่าท่านสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่รับเงินทอง จริงๆ ในเรื่องของอาหารก็อยู่ได้ ในเรื่องของใช้ ก็พอที่จะเป็นไปได้ ก็เป็นสิ่งซึ่งพระภิกษุครั้งโน้นท่านได้ประพฤติปฏิบัติเป็นปกติ และท่านก็ดำรงชีวิตอยู่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าสิ่งนั้นจำเป็น สิ่งนี้ก็จำเป็นในการที่จะรับเงินทอง การรับเงินทองจะไม่หยุดอยู่เพียงในสิ่งที่คิดว่าจำเป็น แต่จะก้าวต่อไปถึงสิ่งอื่น เรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่ความจำเป็นด้วย ก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับยุคสมัยต่างๆ แต่ว่าพระธรรมก็คือพระธรรม พระวินัยก็คือพระวินัย สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ในการขัดเกลาและมีความตั้งใจมั่นคงจริงๆ ก็ย่อมพอที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้โดยไม่ยากเกินไป
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ