การใส่บาตรพระ
โดย ศิรพัฒน์  25 ส.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23434

1. คนใส่บาตรพระ เพื่อสะเดาะเคราะห์จะทำได้ไหมครับ

2. ใส่บาตรพระจำเป็นต้องถอดรองเท้าหรือไม่ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 25 ส.ค. 2556

1. คนใส่บาตรพระ เพื่อสะเดาะเคราะห์จะทำได้ไหมครับ

การใส่บาตรพระภิกษุ จุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุดำรงชีวิตอยู่ เพื่อประพฤติ พรหมจรรย์ สำคัญ คือ เพื่ออนุเคราะห์ผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตนเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่า จะเป็นการทำบุญอะไรก็ตาม เป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ ดังนั้น การทำกุศล เพื่อที่จะให้ตนเองพ้นภัย เพื่อตนเอง นั่นไม่ถูกต้อง ครับ

ซึ่งกุศล ไม่ได้มีประการเดียว ไม่ใช่เพียงการให้ทาน การรักษาศีล ก็เป็นกุศล การช่วยเหลือ การมีจิตเมตตา และการฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เป็นกุศล และ เป็นกุศลที่สูงกว่า แม้จะไม่มีทรัพย์ สมบัติสิ่งของที่จะให้ แต่มีใจที่สละกิเลส คือ กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นกุศลแล้ว ซึ่งขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหมด เคราะห์ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ เพราะเคราะห์ คือ สิ่งที่ไม่ดีและสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ คืออะไร ก็คือ สภาพธรรมที่ไม่ดี คือ กิเลส ครับ ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไปในทาน ศีล ภาวนา ฟังธรรม ศึกษาพระธรรม หมดเคราะห์แล้ว โดยไม่ต้องไป ปรารถนาให้หมดเคราะห์ ครับ

2. ใส่บาตรพระจำเป็นต้องถอดรองเท้าหรือไม่ครับ

ควรถอดรองเท้าครับ เป็นการเคารพพระภิกษุด้วย แม้พระภิกษุเมื่อท่านแสดงธรรมให้ พร ถ้าเราใส่รองเท้าอยู่ ท่านก็ต้องอาบัติครับ ดังนั้นควรถอดรองเท้า ตอนใส่บาตร หรือ ฟังพระธรรมครับ การถอดรองเท้า จึงเป็นการเคารพผู้ที่เราจะให้ อันเป็นเพศพระภิกษุที่ เป็นเพศสูงและเป็นการเคารพพระธรรมด้วยครับ เมื่อท่านแสดงธรรมให้พร เพราะพระ ธรรมเป็นสิ่งที่เลิศ ไม่ควรใส่รองเท้าครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 25 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว จะแก้อย่างไร? แก้ไม่ได้เลย นอกจากสะสมกรรมดี ต่อไป เพราะว่าเหตุดีต้องให้ผลที่ดี กรรมดี ย่อมให้ผลที่ดี, ทำอกุศลกรรมแล้วไปสะเดาะเคราะห์ อกุศลกรรมที่ทำแล้ว จะไม่ให้ผลหรืออย่างไร?

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๘

- สะเดาะเคราะห์ คือ อะไร? ที่เข้าใจกัน (ผิด) ส่วนใหญ่ คือ การกระทำให้กรรมที่ ตนเองได้กระทำแล้วหมดสิ้นไป ไม่ต้องได้รับผล อีก แล้วความจริง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว สะสมไว้แล้ว ในจิตเมื่อได้เหตุปัจจัย ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ตามควรแก่เหตุ ที่ดีที่สุด แล้ว คือ เริ่มสะสมความดีในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อได้ เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ตกไปในฝ่ายผิดอีก

พระพุทธศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนที่เป็นเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก โดย ตลอดไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ การมีโอกาสได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม เป็น การสะสมในสิ่งที่ดี แทรกคั่นในระหว่างที่เป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะชีวิตประจำ วัน อกุศลเกิดมากทีเดียว การเจริญกุศลประการต่างๆ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลา กิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อหวังผลอย่างอื่น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ขณะ ที่กุศลเกิดขึ้น เป็นขณะที่ดี เป็นการรักษาตนเองในพ้นจากอกุศลในขณะนั้น และเมื่อ ได้สะสมเหตุที่ดีไว้แล้ว ผลที่ดี ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ครับ

- พระภิกษุเป็นบรรพชิตโดยเพศ ท่านเป็นผู้ทรงคุณสูงกว่าคฤหัสถ์ ในเวลาเช้า ท่านเดินบิณฑบาต ตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ท่านไม่สวมรองเท้า เมื่อ คฤหัสถ์นิมนต์ท่านเพื่อรับอาหาร นอกจากยกมือไหว้แล้ว การถอดรองเท้าก็เป็น การแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ด้วย ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 25 ส.ค. 2556

การทำบุญเพื่อสะเดาะเคราะห์เป็นความเข้าใจผิด แต่ทำบุญเพื่อละกิเลสเป็น ปัญญา ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nopwong  วันที่ 27 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 6    โดย Chanida  วันที่ 28 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา