เพราะเหตุใดจึงว่า การเจริญปัญญาโดยนั่งขัดสมาธิ ผิดปกติ
โดย สารธรรม  8 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43759

ถ. ที่อาจารย์บอกว่า การนั่งขัดสมาธิ เป็นการนั่งผิดปกติใช่ไหม ตอนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ต้องนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ ถึงจะตรัสรู้ได้ เจริญปัญญาโดยการนั่งขัดสมาธิ ไม่เจริญอิริยาบถอื่นเลย เพราะเหตุใดจึงว่า การเจริญปัญญาโดยนั่งขัดสมาธิ ผิดปกติ

สุ. ที่ดิฉันกล่าวเมื่อกี้นี้ ดิฉันหมายถึง เดี๋ยวนี้ที่ท่านกำลังนั่งอยู่ เวลานี้ถ้าท่านผู้ใดจะขัดสมาธิ ก็เป็นปกติของท่านผู้นั้น แต่ดิฉันพูดถึงทุกท่านที่เวลานี้ไม่ได้ขัดสมาธิ แล้วก็เข้าใจคิดว่าจะต้องขัดสมาธิ จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะยืนก็ยังเจริญสติปัฏฐานได้ เดินก็เจริญสติได้ นั่ง นอน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ เจริญสติได้ทั้งนั้น ไม่ใช่จำเพาะเจาะจงว่า เวลาจะเจริญสติก็มานั่งขัดสมาธิ

และที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้นั้น แบ่งเป็น ๓ ยาม ในปฐมยาม เจริญสมาธิ ระลึกชาติได้มากมาย แต่ระลึกเท่าไรก็ไม่สามารถละกิเลสให้หมดสิ้นด้วยการเพียงระลึกชาติได้

ในยามที่ ๒ มัชฌิมยาม รู้จุติปฏิสนธิ ถึงแม้ว่าจะมีอภิญญา ซึ่งเกิดจากสมาธิ รู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ในขณะนั้นสักเท่าไร ก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะละกิเลสให้หมดสิ้นได้ นั่นเป็นการเจริญสมาธิ แต่ที่ดิฉันกล่าวนี้ หมายความว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นท่านผู้ใดนั่งขัดสมาธิ แต่ถ้าท่านผู้ใดกำลังขัดสมาธิ กำลังเป็นปกติ ไม่ต้องเปลี่ยนอีกเหมือนกัน ไม่ต้องทำขึ้นด้วยความเข้าใจผิดที่คิดว่า จะต้องใช้อิริยาบถนั้นเท่านั้น เพราะเหตุว่าในขณะนั้นอิริยาบถนั้นยังไม่เกิด แต่ว่ามีเห็นไหม เคยไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเจริญปัญญารู้ เพื่อละความไม่รู้ กำลังได้ยินมีไหม เมื่อมี เจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ในขณะที่ได้ยิน ซึ่งไม่เคยรู้

ท่านผู้ฟังถามว่า ถ้าปกติเราสามารถนั่งขัดสมาธิได้ ก็ควรจะขัดสมาธิไหม เป็นตัวของท่านเองจริงๆ ไม่ใช่ห้าม การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ห้ามนั่งขัดสมาธิ และไม่ใช่ว่าต้องนั่งขัดสมาธิ แต่หมายความว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้มีปกตินั่งขัดสมาธิ สติระลึกได้ในขณะนั้น รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนั้นกำลังเป็นปกติ แต่ผู้ที่ขณะที่ระลึกได้ไม่ได้นั่งขัดสมาธิ ก็ไม่ใช่ต้องนั่งขัดสมาธิจึงจะระลึกได้ แต่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะว่า ถึงไม่นั่งขัดสมาธิ เห็นก็มี ได้ยินก็มี ที่สติจะต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น เพราะว่า เป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องที่จะสอบทานกับพระธรรมวินัย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 43