การฟังหลายๆ อาจารย์กับอาจารย์คนเดียว อย่างไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน
โดย chatchai.k  6 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43687

ถ. ประโยชน์ของการฟังหลายทางก็มี ในระยะนั้นก็คล้ายๆ กัน แต่ในการปฏิบัติแง่มุมก็ต่างกัน ก็ไม่ทราบผิดหรือถูก แต่ปัญญาไม่มีพอที่จะตัดสินคำอธิบายของท่านได้ ไม่ทราบความหมายของท่าน การฟังหลายๆ อาจารย์กับอาจารย์คนเดียว อย่างไหนจะมีประโยชน์กว่ากัน

สุ. ถ้าประโยชน์จริงๆ ของการฟัง ก็จะต้องทำให้ผู้ฟังคลายความสงสัยได้หมดความสงสัยได้ด้วยการที่มีปัญญา เกิดปัญญาความเข้าใจที่ชัดเจนถูกต้อง แต่โดยมากผู้ฟังก็เป็นผู้ที่คิดว่ายังเป็นผู้ที่ศึกษาอยู่ ยังมีปัญญาน้อยอยู่ ฉะนั้นก็ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง สอบทานได้เลยกับพระธรรมวินัย นอกจากจะสอบทานกับพระธรรมวินัยแล้ว ก็ยังสอบทานกับสภาพความจริงที่ปรากฏได้ ไม่ใช่ว่าพระธรรมวินัยกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีจริง พระธรรมวินัยกล่าวถึงทุกสิ่งที่มีจริง ฉะนั้น สิ่งใดเป็นความจริงสิ่งนั้นมีปรากฏในพระธรรมวินัย และสิ่งใดที่สอบทานกับพระธรรมวินัยแล้ว แล้วมาพิจารณาดูก็จะพบสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ได้ เป็นต้นว่าเรื่องของการคิดนึก เรื่องของนิวรณ์มีจริงหรือไม่จริง ถ้าจะบอกว่ามีจริงเพราะมีกล่าวไว้ในพระธรรมวินัย ไม่พอใช่ไหมคะ แต่ว่ามีจริงเพราะว่า กามฉันทนิวรณ์ มีการตรึกถึงนามและรูปด้วยความยินดีพอใจมี การตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยความพยาบาท หรือด้วยโทสะเป็นพยาปาทนิวรณ์มี เป็นของจริงเพราะมีไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนักถ้าจะฟังแล้วพิจารณา แล้วสอบทานกับพระธรรมวินัยพร้อมกับพิจารณาถึงสภาพของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สัญเจตนิยวรรค ซึ่งมีข้อความว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ใกล้โภคนคร พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า พระผู้มีพระภาคจะแสดง มหาปเทส ๔ ให้ภิกษุทั้งหลายฟังจงใส่ใจให้ดี แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็มหาปเทส ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร พึงสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้นเทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระธรรมวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่านี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ภิกษุนี้รับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว และในทางตรงกันข้าม ถ้าเทียบเคียงกันได้ในพระสูตร และสอบสวนกันได้กับในพระวินัย ข้อนี้พึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน และภิกษุนี้รับมาดีแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น มหาปเทสข้อที่ ๑ เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุรูปใดที่กล่าวว่า ได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ผู้ฟังก็อย่าเพิ่งยินดี อย่าเพิ่งคัดค้าน แต่พึงเทียบเคียงบท และพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี พึงเทียบเคียงในพระสูตร และสอบสวนในพระวินัยเมื่อเทียบเคียงแล้วเทียบเคียงกันได้ก็พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาค ถ้าเทียบเคียงกันไม่ได้ก็ไม่ใช่คำของพระผู้มีพระภาค นี่เป็นมหาประเทศข้อที่ ๑

สำหรับ มหาปเทสข้อที่ ๒ มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธาน ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา (คือ แทนที่ภิกษุนั้นจะกล่าวว่าท่านรับมาเอง ท่านก็กล่าวว่าท่านรับมาจากสงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งท่านพระเถระพร้อมทั้งท่านที่เป็นประธานทั้งหมดทีเดียว) แต่ท่านผู้ฟังอย่าพึงยินดีอย่าพึงคัดค้าน พึงเทียบเคียงกับพระสูตร สอบสวนในพระวินัยเสียก่อน นี่เป็นมหาประเทศข้อที่ ๒

ข้อที่ ๓ ก็มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นพระเถระมากด้วยกัน อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูตร ชำนาญในนิกาย (นิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย ซึ่งเป็นนิกายในพระสูตร) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา เมื่อได้ฟังอย่างนี้ อย่าพึงยินดี อย่าพึงคัดค้าน แต่พึงเทียบเคียงกับพระสูตร สอบสวนในพระวินัย

มหาปเทสข้อที่ ๔ มีข้อความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง อยู่ในอาวาสชื่อโน้น เป็นพหูสูตร ชำนาญในนิกาย เช่นทีฆนิกายเป็นต้น ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระ นี้เป็นธรรมว่า นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดาไม่ว่าใครจะกล่าว ไม่ว่าผู้กล่าวนั้นได้รับมาจากพระผู้มีพระภาคเอง หรือจากท่านซึ่งเป็นสงฆ์อยู่ในอาวาสชื่อโน้น พร้อมทั้งพระเถระ หรือว่ารับฟังจากพระภิกษุเถระรูปใดรูปหนึ่งก็ตามก็เป็นเรื่องที่จะต้องเทียบเคียง ฉะนั้น ข้อความที่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณาที่จะเข้าใจให้ชัดเจน ก็จะได้กล่าวถึงพระสูตรต่างๆ

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกนิบาต วีตโสกคาถา มีข้อความว่า ท่านวีตโสกเถระได้กล่าวว่า ช่างกัลบกเข้ามาหาเราด้วยคิดว่าจักตัดผมของเรา เราจึงรับเอากระจกจากช่างกัลบกนั้นมาส่องดูร่างกาย ร่างกายของเรา นี้ได้ปรากฏเป็นของเปล่า ความมืดคืออวิชชาในกายอันเป็นต้นเหตุแห่งความมืดมลได้หายหมดสิ้นไป กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวงเราตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ถ้าฟังภาษิตของพระเถระ ก็จะเห็นว่าท่านเปรียบเทียบสิ่งที่น่ารังเกียจ ทำให้เราพลอยรังเกียจไปด้วย ชั่วครู่ชั่วยามถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลเป็นลำดับขั้นอย่างกิเลสทั้งหลายท่านวีตโสกเถระท่านก็เปรียบว่า กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวง ฉะนั้น บางท่านที่อ่านพระสูตรและพิจารณาอรรถพยัญชนะ ก็จะเห็นคล้อยตามไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ว่าเมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ได้เพียงความไพเราะ และเห็นโทษชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าคฤหัสถ์เวลาดูกระจก เจริญสติปัฏฐานบ้างหรือเปล่า เจริญได้ไหม หรือว่ากลัวอะไรเจริญไม่ได้ในขณะนั้น ชีวิตประจำวันของฆราวาสส่องกระจกกันแน่ทีเดียว แม้แต่พระภิกษุก่อนที่จะมีพระวินัยบัญญัติเรื่องห้ามการส่องกระจก หรือการดูเงาหน้าในน้ำใสสอาด ก่อนที่จะมีพระวินัยบัญญัติในเรื่องนี้ ท่านก็ส่องเพราะท่านเคยส่อง แต่เพราะเหตุว่าชาวบ้านเห็นว่าไม่เป็นสิ่งไม่สมควรแก่สมณะ ไม่พึงกระทำ โทษภัยก็ไม่มีเพราะว่าชีวิตของการเจริญสมณะวิสัย การเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะที่ส่องกระจกก็มีนามมีรูป ถ้ามีความพอใจเกิดจากการเห็นเงาในกระจกเป็นนามชนิดหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องหวั่นเกรงหรือไม่ต้องหวั่นกลัวว่าขณะนั้นจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

ฉะนั้น จึงใคร่จะเรียนถามว่า เวลาที่ส่องกระจกเคยเจริญสติบ้างไหม หรือ ว่าไม่กล้าเจริญสติ สติไม่เกิดเพราะว่าในขณะที่ส่องกระจกไม่เคยระลึกได้ในขณะ นั้น เพราะเหตุว่าสติไม่มีกำลัง เวลาที่ส่องกระจกว้าวุ่นใช่ไหมคะ พอส่องแล้วเอ๊ะ นามอะไร นี่รูปอะไร รูปอยู่ที่ไหน จะรู้นามอะไร รูปอะไร ในขณะไหนและถ้ายังหวั่นไหวสติไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ความไม่รู้ก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ ไม่มีทางที่จะละคลายให้หมดไปได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยกตัวอย่างมาให้เห็น ท่านพระเถระท่านสามารถจะบรรลุธรรมในขณะที่ช่างกัลบกเข้าไปเพื่อที่จะตัดผมของท่าน

สำหรับเรื่องของพระภิกษุ ท่านก็อาจจะเห็นว่าชีวิตของพระภิกษุท่านขัดเกลา มีเวลามากในการเจริญกุศล ฉะนั้นท่านก็บรรลุธรรมกันได้ ไม่ว่าท่านจะทำกิจใดๆ ฉะนั้น ก็จะขอยกตัวอย่างของอุบาสกอุบาสิกาบ้าง อย่างพระนางสามาวดี กับหญิงบริวารบรรลุธรรมที่ไหน ในป่าหรือเปล่าคะ? ไม่ใช่ ในพระราชวัง สถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือว่าอินทรีย์ที่ท่านได้เจริญมาแล้ว และพระนางสามาวดีกับนางบริวารก็ไม่ได้ออกไปไหน ก็ยังคงอยู่ในพระราชฐาน อยู่ในพระราชวัง ไฟไหม้ตำหนักที่อยู่ แล้วพระนางสามาวดีก็สิ้นพระชนม์พร้อมกับหญิงบริวารนั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 17