ความเห็นผิดในเรื่องกฏแห่งกรรม
โดย apiwit  6 ก.พ. 2564
หัวข้อหมายเลข 33676

มีผู้ใหญ่บางคนบอกผมว่า กฏแห่งกรรมไม่ได้ยุติธรรมเสมอไปหรอก เพราะว่า ในสังคมปัจจุบันบางครั้งก็เห็นคนชั่วลอยนวล ในขณะที่บางคนเกิดมาเป็นคนดีแท้ๆ ไม่ได้ไปทำชั่วอะไรแต่ซวยทั้งชีวิตก็มี บางคนเป็นคนเลวนะ แต่อาจเป็นคนใหญ่คนโต มีอำนาจบาทใหญ่ กดขี่ข่มเหงผู้คน แต่ชั่วชีวิตของเขาก็ยังอยู่สุขสบาย นี่ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเห็นผิดไปว่ากฏแห่งกรรมไม่มีจริง ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ฟังพระธรรมจริง ๆ ก็ย่อมมีความเห็นผิดได้ แต่แม้ฟังพระธรรมแล้วก็ทำให้ได้ทราบว่าเรื่องกรรมและผลของกรรมละเอียดลึกซึ้งมาก คือ คนมักมองตื้น ๆ ว่า อย่างเราไปขับรถชนคนก็ต้องโดนตำรวจจับเข้าคุก นี่ไง กฏแห่งกรรม แต่เรื่องกรรมจริง ๆ มันมีความละเอียดซับซ้อนกว่านั้น กรรมบางอย่างก็ให้ผลทันที กรรมบางอย่างต้องรอข้ามภพข้ามชาติกว่าจะให้ผล อย่างกรณีคนทำชั่วแต่กลับยังมีชีวิตที่ดีอยู่นั้นก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ก่อนแต่เมื่อถึงคราวที่อกุศลจะให้ผลเมื่อไหร่ ก็ต้องให้ผล วันนี้จึงอยากทราบความละเอียดในเรื่องกรรมและผลของกรรม กรรมมีกี่ประเภท กี่รูปแบบ ทำไมกรรมบางอย่างให้ผลช้า กรรมบางอย่างให้ผลเร็ว จนถึงกับทำให้มีความเข้าใจผิดในเรื่องกฏแห่งกรรมได้



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมที่ทำย่อมมีกาลเวลาที่จะให้ผลครับ กรรมบางอย่างให้ผลในปัจจุบัน ชาตินี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า กรรมบางอย่างให้ผลในชาติถัดๆ ไป ดังนั้น กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำก็ตาม ต้องมีกาลเวลาที่จะให้ผล ทำดี ไม่จำเป็นจะต้องให้ผลทันที บุคคลนั้นจึงเห็นว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย แต่กับประสบทุกข์ ซึ่งการประสบทุกข์เป็นผลมาจากกรรมชั่ว  ไม่ใช่เพราะกรรมดีเป็นเหตุครับ ส่วนคนที่ทำกรรมชั่ว กรรมชั่วอาจจะไม่ให้ผลตอนนั้น ในชาตินั้นก็ได้ แต่กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ในอดีตส่งผล เขาก็ประสบสุข จึงสำคัญว่าทำชั่วกลับได้ดีมีถมไป ดังนั้น จึงต้องมั่นคงในเรื่องของกรรมว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว และกรรมย่อมมีกาลเวลาที่จะให้ผลครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 2

๔. แม้คนผู้ทำบุญ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล  แต่เมื่อใดบาปเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใดกรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี


[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 215

"คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาล ย่อมประสพทุกข์

มีคำอธิบายที่เป็นพระพุทธพจน์ว่า

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 168

คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำเหตุดี ย่อมได้ผลดี ส่วนคนทำเหตุชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
ซึ่งก็ตรงกับคำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วครับ ซึ่งในอรรถกถา อธิบายไว้ว่า พืชสะเดาหรือพืชประเภทบวบขม ย่อมมีแต่รสขม ไม่ให้ผลเป็นรสหวาน ฉันใด กรรมชั่วที่ทำก็ย่อมให้ผลในทางที่ไม่ดี ไม่ให้ผลในทางที่ดี พืชอ้อย พืชสาลีย่อมให้รสหวาน ไม่ให้ผลเป็นรสขม ฉันใด แม้กรรมดีที่ทำย่อมให้ผลในทางที่ดี ไม่ให้ผลชั่วครับ ทำดีจึงได้ดี ทำชั่วจึงได้ชั่ว คือได้รับผลวิบากที่ดีหรือชั่วตามแต่ประเภทของกรรมที่ทำ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 7 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓- หน้าที่ ๒๙๓
“ท่านอย่าได้ทำบาปนะ บาปใดอันท่านทำไว้ บาปนั้นจะเผาผลาญท่านในภายหลัง บุรุษทํากรรมเหล่าใดไว้ทางกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร เมื่อเขากลับได้ผลของกรรมนั้น ย่อมพบกรรมเหล่านั้นเองในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมเสวยผลดี แต่ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมเสวยผลชั่วช้าลามก ไม่น่าปรารถนา แท้จริง แม้ในทางโลก บุคคลหว่านพืชเช่นใดไว้ ย่อมนำไปซึ่งพืชนั้น คือ ย่อมเก็บผล ได้รับผล เสวยผลอันสมควรแก่พืชนั้นเอง”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก จุลลนันทิยชาดก)


ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละขณะนั้น เป็นความจริง เป็นธรรม ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง อย่างเด็ดขาด บางขณะย่อมเป็นการกระทำเหตุที่ดี คือ กุศล บางขณะเป็นการกระทำเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศล ตามการสะสม บางขณะเป็นผลของกุศล มีการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ บางขณะเป็นผลของอกุศล ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผลของกุศล ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากตัวเองเท่านั้น (โทษใครไม่ได้) เนื่องจากว่าในอดีตชาติอันยาวอย่างนับไม่ถ้วน แต่ละคนได้กระทำทั้งกรรมดี และกรรมไม่ดีไว้มาก การที่กรรมใดจะให้ผลนั้น ไม่อาจเลือกได้ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ดังนั้น ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกรรม คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นผู้มั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม และสะสมกรรมดีต่อไปตามกำลัง เพื่อละความไม่ดีที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 5    โดย apiwit  วันที่ 8 ก.พ. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ