เพื่อนดิฉันเล่าให้ฟังว่า เวลาที่อยู่บ้าน ถ้ามีผู้ชายเดินผ่านหน้าบ้าน จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย และเขาก็ไม่ได้มาทำอะไรให้ เขาจึงถามว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เป็นอุปทานหรือไม่ ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นโทสะ เพื่อนดิฉันอยากทราบว่าอุปทานคืออะไร
ขณะที่ขุ่นใจ ไม่พอใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นต้น เป็นธรรมะประเภทโทสะ (ความโกรธ) เหตุให้โทสะเกิด ส่วนใหญ่แล้วเกิดเพราะประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) บางคนเกิดโทสะบ่อย โกรธง่าย เป็นเพราะสะสมโทสะมามาก มีอุปนิสัยมักโกรธ สำหรับคำว่าอุปาทานในภาษาธรรมะ หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่กิเลสประเภท ตัณหาและทิฏฐิ แยกเป็น ๔ คือ กามุปาทาน ทฺฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน สำหรับภาษาไทยทั่วไป อุปาทานมีความหมายไปอีกอย่าง
อุปาทาน มี ๔ แต่องค์ธรรมมีเพียง ๒ คือโลภเจตสิก และทิฏฐิเจตสิกเห็นผู้ชายแล้วโกรธน่าจะเป็น ทฺฏฐุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เพราะกามุปาทานมีโลภเจตสิกเป็นองค์ธรรมเท่านั้นถ้าเป็นผู้ชายเห็นผู้หญิงเดินมาแล้วพอใจเป็นกามุปาทานด้วย
ในอดีตชาติ พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก แล้วมาเกิดในมนุษย์ ตั้งแต่เกิดก็ไม่ชอบให้ผู้หญิงมาถูกตัว ถ้าถูกตัวก็จะร้องไห้ แต่ตราบใดที่ยังมีอนุสัยกิเลส ตอนแรกไม่ชอบผู้หญิง แต่ภายหลังก็ยินดีและมีกำลังถึงขนาดเอาดาบไล่ฟันผู้ชายที่อยู่ในพระนครนั้น เพราะไม่อยากให้ผู้หญิงของตนเองไปเป็นของชายอื่นค่ะ
แสดงว่าดิฉันเข้าใจถูกต้องแล้ว ว่าเป็นโทสะ ดิฉันจะได้บอกเขาได้ว่า เกิดจากโทสะ คือการสะสมมาจากอดีตทำให้รู้สึกอย่างนั้น จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร หรือว่าต้องเจริญปัญญาเท่านั้น
เจริญปัญญาเท่านั้นครับ วิธีอื่นไม่มี ถึงจะพยายามหาวิธีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ายังไม่ได้ดับโทสะเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องเวียนกลับมาเป็นอย่างนี้อีก คือโกรธได้อีก ก่อนอื่นคือ ไม่ใช่ให้เราไปหาวิธีคลายความโกรธ แต่ควรเจริญปัญญาเพื่อให้เข้าใจถูกขึ้นว่า ความโกรธนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ที่ได้สะสมมา ที่เมื่อปรากฏเมื่อไรก็จะแสดงสภาวะลักษณะอย่างนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะยึดถือความโกรธที่ดับไปแล้วนั้น ว่าเป็นอัตตาเลย มีแต่จะทำให้จิตใจเร้าร่อน ขุ่นมัว เปล่าๆ ควรที่จะเจริญปัญญาให้เกิดความเข้าใจความจริงที่เกิดปรากฏกับตนให้มากขึ้นๆ เท่านั้นเอง เพราะเรื่องของคนอื่นจนตาย เราก็ไปแก้การสะสมของเขาไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของเขาเองครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่โกรธ ขุ่นเคืองใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ เสียใจ น้อยใจ หรือแม้กระทั่ง กลัวก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ ทั้งนั้น เพราะขณะนั้นไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ สำหรับความโกรธหรือโทสะ รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทุกคนไม่ชอบที่จะให้โทสะเกิดเพราะเวลาเกิดโทสะ ก็ไม่สบายใจ (แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละวัน ดูเหมือนจะมีความติดข้องยินดีพอใจ มากกว่าที่โทสะจะเกิด) แล้วก็แสวงหาหนทางที่จะไม่โกรธพยายามหาทางที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามบุคคลในหน่วยงานต่างๆ หรืออ่านหนังสือของนักจิตวิทยาท่านต่างๆ เป็นต้น รู้สึกพอใจหรือดีใจถ้ามีใครบอกวิธีระงับความโกรธให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วหนทางที่ดีที่สุดก็คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ แล้วกุศลทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศลให้เบาบางลง และเมื่ออบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับความโกรธอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงแม้ว่าตั้งใจไว้ว่า วันนี้จะไม่โกรธ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้โกรธ ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะธรรมทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุรูปหนึ่ง เป็นคนมักโกรธ พอได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ผลก็คือ จากความเป็นผู้มักโกรธ แล้วท่านสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธได้เด็ดขาด ดังนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ ครับ ฟังพระธรรมต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่ท้อถอย นะครับ
...ขออนุโมทนาครับ...
ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านค่ะ
อนุโมทนาค่ะ คำตอบทุกคำตอบเยี่ยมจริงๆ
คิดไม่ได้ทุกข์ แต่เอาความคิดเป็นตัวตนจึงทุกข์ ทั้งๆ ที่เพียงแค่ปรากฎทางตา ที่ผ่านไปแล้วหมดไปแล้ว แต่นึกถึงคำ ว่าผู้ชายเดินผ่าน จึงเป็นปัจจัยเกิดโทษะ นี่คือความอนัตตา ผู้ชายเดินผ่านไปไม่ได้ทำร้ายจิตใจนะ แต่ความคิดเราทำร้ายใจเราเอง