ถ. ตามนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาวธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้จริงๆ มีเพียงเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เท่านี้เอง แต่ทำไมท่านจึงบัญญัติบรรพไว้ต่างๆ กัน เช่น อานาปานบรรพ อริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ทำไมจึงต้องบัญญัติไว้มากมายอย่างนี้
สุ. ถ้าท่านจะพิจารณาอรรถของมหาสติปัฏฐาน ทั้งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ประมวลได้ว่า เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความไม่หลงลืมสติ
ลมหายใจทุกท่านมี จึงให้ระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่ปรากฏ กำลังนั่งก็ให้ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ ที่ส่วนของกายที่กำลังทรงอยู่ในอิริยาบถใด ก็มีลักษณะของรูปที่สติระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เห็นกายในกาย ในอิริยาบถที่รูปทรงอยู่ตั้งอยู่ในขณะนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น มีปรากฏให้สติระลึกได้
ส่วนต่างๆ ของกายที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ บรรพนั้น เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าลมหายใจปรากฏ สติก็ระลึก กำลังนั่ง สติก็ระลึกรู้ลักษณะรูปที่ปรากฏในขณะที่นั่ง กำลังยืน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั้น กำลังนอน กำลังเดิน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะนั้น กำลังกระทบผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่ปรากฏโดยความเป็นธาตุ ผู้นั้นก็ระลึกตรงลักษณะที่เป็นธาตุ บางท่านอาจจะไม่ระลึกตรงลักษณะที่เป็นธาตุ แต่ระลึกถึงลักษณะที่เป็นผม หรือเป็นเล็บก่อน แล้วอาศัยเพียงสักว่าเป็นเครื่องระลึก แล้วปัญญาก็รู้ชัดในสภาพของรูปที่กำลังปรากฏ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ รวมทั้งสติปัฏฐานอื่น คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ
โดยนัยที่กลับกัน เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ท่านก็ควรจะพิจารณาว่า วันหนึ่งก็พูดถึงเรื่องผมกันบ่อยๆ พูดถึงเรื่องเล็บกันบ่อยๆ ปัญญารู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงหรือยัง
ท่านมีทางที่จะสอบสติปัฏฐานได้หลายนัยทีเดียว เป็นต้นว่า ถ้าท่านยังไม่แน่ใจในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ว่าจะเจริญอย่างไร ปัญญานั้นรู้อย่างไร ท่านก็ดูในมหาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ อานาปานบรรพว่า ในขณะที่มีลมหายใจปรากฏบ้างในวันหนึ่งๆ นั้น สติเคยระลึกไหม ถ้าท่านไม่ระลึก ขณะนั้นหลงลืมสติหรือเปล่า ถ้าไม่ได้รู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรมใดๆ แม้ว่ามีลมหายใจปรากฏ ก็เป็นเรา กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เคยระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถที่กำลังทรงอยู่ตั้งอยู่ในขณะนี้ไหม
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 167