การเห็น ส่วนใหญ่เห็นแต่รูป
โดย tanrat  13 ส.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25286

ขอความกรุณาท่านอาจารย์กรุณาให้ความกระจ่างของการเห็น ที่เป็นรูป และนาม ในกรณีเดียวกันได้ยินทางหู ก็เช่นกันค่ะ กราบอนุโมทนาค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีจริง มี 2 ประเภท คือ นามธรรม และรูปธรรม

นามธรรมมี สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และนิพพาน

รูปธรรมคือ สภาพธรรมที่เป็นรูป

นามธรรมโดยทั่วไปแล้ว หมายถึง สภาพธรรมที่รู้ ธาตุรู้

จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการู้

เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ปรุงแต่งจิตนั่นเองคือเมื่อเกิดขึ้นก็เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิตและที่สำคัญ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ด้วย เช่นเดียวกับ จิต คือ รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้ เจตสิกมีหลายประเภท ทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เช่น สัญญา เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่จำ เป็นต้น

รูปธรรม หรือ รูป เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่มีรู้อะไรเลย

จิตมีหลายประเภท เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยหลากหลาย ครับ จิตมีทั้งหมด 89 ประเภท แต่โดยละเอียดมี 121 ประเภท จิตแบ่งตามลักษณะการเกิดตามชาติของจิต จิตมี 4 ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก (ผลของกรรม) และชาติกิริยา เป็นต้น

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย รูปธรรมหรือรูป ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องเห็นได้นะครับ จึงจะเป็นรูปหรือรูปธรรม แต่สภาพธรรมใดที่ไม่รู้อะไรเลย สภาพธรรมนั้นแม้จะเห็นได้หรือเห็นไม่ได้ก็ต้องเป็นรูปทั้งนั้นครับ รูปมีทั้งหมด 28 รูป เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เป็นต้น จะเห็นนะครับว่า รูปคือสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ยกตัวอย่างเช่น สภาพธรรมที่แข็ง (ธาตุดิน) แข็งเมื่อมีใครไปกระทบ แข็งไม่รู้สึกอะไร แข็งไม่รู้อะไร แข็งไม่ปวด ไม่เจ็บ ไม่หนาวไม่ร้อน เพราะแข็งเป็นรูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ ไม่รู้อารมณ์อะไรเลยครับ ต่างจากจิตที่เป็นสภาพธรรมที่รู้ รู้อารมณ์ รู้สิ่งต่างๆ ครับ

เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ใครเห็น ไม่ใช่เราเห็น เป็นธรรมที่ทำหน้าที่เห็น เมื่อเห็นเกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ดังนั้น สภาพเห็นจึงเป็นสภาพรู้ เพราะรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ในขณะนั้นที่เห็นครับ เพราะฉะนั้น เห็นจึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นสภาพรู้ เมื่อเป็นจิตแล้วจึงเป็นนามธรรม ครับ ซึ่งจิตเห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง เรียกว่า จักขุวิญญาณจิต หรือ เรียกว่าจิตเห็นก็ได้ อันเป็นจิตชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรมนั่นเอง ครับ ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เจตสิกก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้เช่นกัน และเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น สิ่งที่ถูกเห็น หรือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ภาษาธรรมเรียกว่า อารมณ์ ดังนั้นเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีอารมณ์หรือมีสิ่งที่จิตเห็นรู้ในขณะนั้น สิ่งที่ถูกจิตเห็นรู้คืออะไร จิตเห็นจะรู้เสียงได้ไหม ไม่ได้ครับ จิตเห็นรู้กลิ่นก็ไม่ได้ครับ ดังนั้น สิ่งที่จิตเห็นรู้ ขณะนี้กำลังเห็นก็คือสีนั่นเอง หรือเรียกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา

จิตเห็นจึงทำหน้าที่รู้ รู้สี หรือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นจึงเป็นนามธรรม เพราะนามธรรมคือสภาพรู้ ขณะเห็น ขณะนั้นกำลังรู้ คือ รู้สีหรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ คือ จิตเห็นรู้ในขณะนั้น ครับ ทางหูก็โดยนัยเดียวกัน ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร? ยังไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรม เช่น เห็น เป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม โกรธ เป็นธรรม ติดข้อง เป็นธรรม ความละอาย เป็นธรรม ความเข้าใจ เป็นธรรม สี เป็นธรรม เสียง เป็นธรรม เป็นต้น เพราะมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อว่าอย่างไร ธรรม ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ

เมื่อกล่าวถึง ธรรม แล้ว ก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับสิ่งทีมีจริงนั้น ก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิกและพระนิพพาน) และ รูปธรรมธรรม เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เห็น เป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะนั้น มีจิตเห็น พร้อมทั้งเจตสิก เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เป็นต้น ซึ่งได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตและในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่าง เจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ผัสสะ เวทนา เจตนา เป็นต้น) [นอกจากนั้นก็ยังมีนามธรรม อีกประเภทหนึ่ง คือ พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์]

ส่วน รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์เหมือนอย่าง นามธรรม รูปธรรม มีทั้งหมด ๒๘ รูป มี สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นต้น

ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ต้องไม่หาที่ไหนเพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และรูป แต่ละอย่างแต่ละประการ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลยจริงๆ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่ามีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ การที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องมีความรู้ตั้งแต่ขั้นต้น คือ เริ่มจากการฟังธรรม ซึ่งก็คือฟังในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคง ในความเป็นจริงของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เห็น เป็นจิตประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทำกิจเห็น เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม แต่อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตเห็น คือ สี หรือ รูปารมณ์ เป็นรูปธรรม โดยนัยเดียวกัน สำหรับการได้ยิน ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ได้ยิน ได้ยินเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม แต่อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน คือ เสียง หรือ รูปารมณ์ เป็นรูปธรรม/เห็น กับ ได้ยิน ไม่ได้เกิดพร้อมกัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย tanrat  วันที่ 13 ส.ค. 2557

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง ตรงกับความเข้าใจของดิฉัน หลังจากฟังการบรรยายมานาน แต่ต้องฟังต่อและระลึกสติบ่อยๆ เนืองๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย peem  วันที่ 13 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 14 ส.ค. 2557

เห็น เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ อาการรู้ สีเป็นรูป เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่มีความรู้สึก ได้ยินเป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม เป็นธรรมะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ที่สำคัญคือให้รู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ค่ะ