[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 680
๖. ตัณหักขยสูตร
ว่าด้วยท่านที่สิ้นแล้วจากเครื่องผูก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 680
๖. ตัณหักขยสูตร
ว่าด้วยท่านที่สิ้นแล้วจากเครื่องผูก
[๑๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาซึ่งความสิ้นตัณหา อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาเห็นซึ่งความหลุดพ้นเพราะความสิ้นตัณหาอยู่ในที่ไม่ไกล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 681
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงได้ทรงอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พระอริยบุคคลใดไม่มีอวิชชาอันเป็นมูลราก ไม่มีแผ่นดิน คือ อาสวะ นิวรณ์ และอโยนิโสมนสิการ ไม่มีเถาวัลย์ คือ มานะและอติมานะเป็นต้น ใบ คือ ความมัวเมา ประมาท มายา และสาเถยยะเป็นต้น จะมีแต่ที่ไหน ใครเล่าจะควรนินทาพระอริยบุคคลนั้นผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก แม้เทวดาก็ชม ถึงพรหมก็ย่อมสรรเสริญพระอริยบุคคลนั้น.
จบตัณหักขยสูตรที่ ๖
อรรถกถาตัณหักขยสูตร
ตัณหักขยสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โกณฺฑญฺโ ในบทว่า อญฺาโกณฺฑญฺโ นี้ เป็นชื่อของท่านที่มาโดยโคตร. ก็ในบรรดาสาวกทั้งหลาย พระเถระปรากฏในพระศาสนาว่า อัญญาโกณฑัญญะนั่นแล โดยคำอุทานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อญฺาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโ เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก่อนพระสาวกทั้งหมด.
บทว่า ตณฺหาสงฺขยวิมุตฺตึ ชื่อว่าธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เพราะเป็นที่สิ้นตัณหา คือ เป็นที่ละตัณหา ได้แก่ พระนิพพาน. ความหลุดพ้นในเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น. อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรค
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 682
ชื่อว่าธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เพราะเป็นเหตุสิ้น คือ เป็นเหตุละตัณหา. ชื่อว่าตัณหาสังขยวิมุตติ เพราะวิมุตติเป็นผลหรือเป็นที่สุดแห่งอริยมรรคโดยนิปปริยาย ได้แก่ สมาบัติอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผล. เป็นผู้นั่งพิจารณาสมาบัติอันสัมปยุตด้วยอรหัตนั้น. จริงอยู่ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนี้ เข้าผลสมาบัติมาก. เพราะฉะนั้น แม้ในที่นี้ ท่านก็ได้ทำอย่างนี้.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ครั้นทรงทราบการพิจารณาอรหัตตผลของพระอัญญาโกณฑัญญะนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส มูลํ ฉมา นตฺถิ ความว่า พระอริยบุคคลใด ไม่มีอวิชชาอันเป็นดุจรากของต้นไม้คืออัตภาพ และไม่มีแผ่นดิน กล่าวคือ อาสวะ นีวรณ์ และอโยนิโสมนสิการ อันเป็นที่ตั้งอาศัยของอวิชชานั่นเอง เพราะถอนขึ้นได้ด้วยอรหัตตมรรค. พึงทราบสัมพันธ์บท ในบทว่า ปณฺณา นตฺถิ กุโต ลตา นี้ ว่า เครือเถาไม่มี ใบไม้จะมีแต่ที่ไหน. อธิบายว่า แม้เครือเถา กล่าวคือ กิ่งใหญ่กิ่งน้อยเป็นต้น อันต่างด้วยมานะและอติมานะเป็นต้น ย่อมไม่มี ใบไม้ คือ มทะ ปมาทะ มายา และสาไถยเป็นต้น จักมีแต่ที่ไหนเล่า. อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า ปณฺณา นตฺถิ กุโต ลตา ความว่า เมื่อหน่อไม้งอกงามขึ้น ใบไม้ก็บังเกิดขึ้นก่อน ภายหลังท่านกล่าวตั้งชื่อว่า ลตา คือ กิ่งใหญ่ กิ่งน้อย. ในคำนั้น มูล คือ อวิชชา และกิเลส มีอาสวะเป็นต้น อันเป็นที่ตั้งอาศัยของมูลคืออวิชชานั้น ย่อมไม่มีแก่ต้นไม้คืออัตภาพใด อันควรแก่การเกิดขึ้น ในเมื่อไม่มีการเจริญอริยมรรค เพราะเจริญอริยมรรคแล้ว. ก็ในที่นี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 683
ด้วยมูลศัพท์นั่นเอง พึงทราบว่า ท่านถือเอาแม้ภาวะที่กรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งพืช เพราะเป็นเหตุแห่งมูลนั่นเอง. ก็เมื่อพืชคือกรรมไม่มี หน่อคือวิญญาณซึ่งมีพืชคือกรรมเป็นเครื่องหมาย และใบ กิ่ง มีนามรูปสฬายตนะเป็นต้น เป็นอาทิ อันมีหน่อคือวิญญาณเป็นเครื่องหมาย จักไม่บังเกิดขึ้นเลย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอริยบุคคลใดไม่มีอวิชชาเป็นมูลราก ไม่มีเครือเถาคือมานะเป็นต้น ใบคือความมัวเมาเป็นต้นจักมีแต่ที่ไหน.
บทว่า ตํ ธีรํ พนฺธนา มุตฺตํ ความว่า ซึ่งพระอริยบุคคลนั้น ผู้ชื่อว่าธีระ เพราะชำนะมาร ด้วยการประกอบความเพียร คือ สัมมัปปธาน ๔ ผู้พ้นจากเครื่องผูก คือ อภิสังขาร อันเป็นตัวกิเลสทั้งหมดนั้น นั่นแล.
บทว่า ตํ ในบทว่า โก ตํ นินฺทิตุมรหติ นี้ เป็นนิบาต. ใครเล่า ผู้มีชาติแห่งวิญญูชน ควรเพื่อจะนินทา ครหา ผู้พ้นจากสัพพกิเลส ผู้ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยมมีศีลคุณเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะไม่มีการนินทาเป็นเครื่องหมายนั่นเอง.
บทว่า เทวาปิ นํ ปสํสนฺติ ความว่า โดยที่แท้ ทวยเทพผู้รู้คุณวิเศษ มีท้าวสักกะเป็นต้น ก็ย่อมสรรเสริญ ด้วยอปิศัพท์ แม้มนุษย์มีกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นต้น ก็ย่อมทรงสรรเสริญ. ยิ่งขึ้นไปอีกเล็กน้อย แม้พรหมก็สรรเสริญ คือ มหาพรหมก็ดี พรหม นาค ยักษ์ และคนธรรพ์เป็นต้น แม้เหล่าอื่นก็ดี ก็ย่อมสรรเสริญ คือ ย่อมชมเชยเหมือนกันแล.
จบอรรถกถาตัณหักขยสูตรที่ ๖