[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 467
๕. นัตถิทินนสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 27]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 467
๕. นัตถิทินนสูตร
[๔๒๕] กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรหนอมีอยู่ เพราะถือมั่นอะไร เพราะยึดมั่นอะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์โอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ กระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เมื่อใดทำกาลกิริยา เมื่อนั้น ธาตุดินก็ไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟก็ไปตามธาตุไฟ ธาตุลมก็ไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ บุรุษ ๔ คน รวมเป็น ๕ ทั้งเตียงที่หามเขาไป รอยเท้าปรากฏอยู่เพียงแค่ป่าช้า (ต่อมา) ก็กลายเป็นกระดูกสีเทา สีนกพิลาป การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกที่พูดว่ามีผล ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ.
ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะถือมั่นรูป เพราะยึดมั่นรูป จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายสลาย ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะถือมั่นวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 468
จึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี.
[๔๒๖] ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. แม้สิ่งที่บุคคลเห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 469
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่ถือมั่นสิ่งนั้น จะพึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนี้ว่า ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ฯลฯ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญ พินาศสิ้น หลังจากตายไปย่อมไม่มี ใช่ไหม?
ภิ. ไม่พึงเกิดทิฏฐิขึ้นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.
ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกละความสงสัยในฐานะ ๖ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นอันละความสงสัยแม้ในทุกข์ แม้ในทุกขสมุทัย แม้ในทุกขนิโรธ แม้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อนั้น อริยสาวกนี้เราตถาคตเรียกว่า เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.
จบ นัตถิทินนสูตร
อรรถกถานัตถิทินนสูตรที่ ๕
ในบทว่า นตถิ ทินฺนํ เป็นต้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
ด้วยบทว่า นตฺถิ ทินฺนํ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายกล่าว หมายถึงว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล.
การบูชาใหญ่ เรียกว่า ยิฏฐะ. ในบทว่า หุตํ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาลาภสักการะมาก. บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายปฏิเสธบุญกรรมทั้งสองอย่างนั้น โดยหมายเอาว่าไม่มีผลเลย.
บทว่า สุกฏทุกฺกฏานํ ได้แก่ แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่ว อธิบาย ว่า แห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 470
บทว่า ผลํ วิปาโก ความว่า สิ่งใดที่เรียกว่าผลหรือวิบาก บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมกล่าวสิ่งนั้นว่า ไม่มี.
บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก ความว่า โลกนี้สำหรับผู้อยู่ในปรโลก ไม่มี.
บทว่า ปรโลโก ความว่า โลกอื่นสำหรับผู้ที่อยู่ในโลกนี้ ก็ไม่มี. อุจเฉทวาทีบุคคล ย่อมแสดงว่า สรรพสัตว์ย่อมขาดสูญในโลกนั้นนั่นแล.
อุจเฉทวาทีบุคคล กล่าวว่า นตฺถิ มาตา ปิตา (มารดาไม่มี บิดาไม่มี) ดังนี้ เป็นเพราะ (เขาถือว่า) ไม่มีผลการปฏิบัติชอบและการปฏิบัติผิดในมารดาบิดาเหล่านั้น.
อุจเฉทวาทีบุคคลกล่าวว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา (สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นโอปปาติกะ ไม่มี) ดังนี้ เพราะความเชื่อว่า ชื่อว่าสัตว์ที่จุติแล้วจะอุบัติขึ้น (อีก) ไม่มี.
บทว่า จาตุมฺมหาภูติโก ความว่า เกิดมาจากมหาภูตรูป ๔
บทว่า ปฐวี ปฐวีกาย ได้แก่ ปฐวีธาตุภายใน (ไปเป็น) ปฐวีธาตุภายนอก.
บทว่า อนุเปติ แปลว่า เข้าถึง. บทว่า อนุปคจฺฉติ เป็นไวพจน์ของบทว่าอนุเปตินั้นนั่นแหละ หมายความว่า แซกซึมเข้าไปดังนี้บ้าง (๑)
ด้วยบทแม้ทั้งสอง ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิย่อมแสดงว่า เข้าถึง คือ เข้าไปถึง. ในธาตุที่เหลือมีอาโปเป็นต้น ก็มีนัย (ความหมาย) อย่างเดียวกันนี้แล.
บทว่า อินฺทฺริยานิ ความว่า อินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ ย่อมลอยไปสู่อากาศ.
(๑) อรรถกถา อนุยาติ อนุคจฺฉตีติ ตสฺเสว เววจนํ อนุคจฺฉตีติ อตฺโถ. ฉบับพม่าว่า อนุเปตีติ อนุยาติ อนุปคจฺฉตีติ ตสฺเสว เววจนํ อนุคจฺฉตีติปิ อตฺโถ. แปลตามฉบับพม่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 471
บทว่า อาสนฺทิปญฺจมา ความว่า (บุรุษ ๔ คน) กับทั้งเตียงที่ (คนตาย) นอน เป็นที่ ๕. อธิบายว่า เตียงและบุรุษ ๔ คนผู้ยืนแบกเตียง ๔ ขา.
บทว่า ยาว อาฬาหนา แปลว่า จนกระทั่งถึงป่าช้า.
บทว่า ปทานิ ความว่า รอยเท้า คือคุณความดี (และความชั่ว) (๑) ที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ท่านผู้นี้ได้เป็นผู้มีศีลดีอย่างนี้ ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลอย่างนี้.
อีกอย่างหนึ่ง ร่างกายนั่นเอง ท่านประสงค์เอาว่ารอยเท้าในที่นี้. บทว่า กาโปตกานิ แปลว่า มีสีดังนกพิราบ อธิบายว่า มีสีดังปีกนกพิราบ.
บทว่า ภสฺสนฺตา คือ ภสฺมนฺตา (แปลว่ามีเถ้าเป็นที่สุด) อีกอย่างหนึ่ง ภสฺมนฺตา นี้แล คือ บาลี (เดิม).
บทว่า อาหุติโย ความว่า ทานที่บุคคลให้แล้ว แยกประเภทเป็นของรับแขกและเครื่องสักการะ เป็นต้น ทั้งหมดล้วนมีเถ้าเป็นที่สุดทั้งนั้น ไม่ได้ผลยิ่งไปกว่านั้น.
บทว่า ทตฺตุปฺปญฺตฺตํ คือ ทานพวกคนโง่บัญญัติไว้. มีคำอธิบายดังนี้ว่า พวกมิจฉาทิฏฐิแสดงว่า ทานนี้พวกคนโง่ คือคนไม่รู้ บัญญัติไว้ หาใช่คนฉลาดบัญญัติไว้ไม่ คนโง่ให้ (ทาน) คนฉลาดรับ (ทาน).
จบ อรรถกถานัตถิทินนสูตรที่ ๕
(๑) พม่าว่า ปวตฺตานิ คุณาคุณปทานิ. แปลตามพม่า. แต่อรรถกถาว่า ปวตฺตา คุณปทานิ.