พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 46 อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๒
[๓๔] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงความสะดุ้งเพราะความถือมั่น และความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ฯลฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ย่อมมีอย่างไรดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมตามเห็นรูปว่านั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา รูปของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไปโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น ย่อมเห็นเวทนาว่านั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่นนั่นเป็นตัวตนของเรา วิญญาณของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวน และเป็นอย่างอื่นไป โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ย่อมมีอย่างนี้แล. ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 312 [๖๔๙] ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรย่อมเป็นอันไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลายอริยสาวก ผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง. รูปนั้นของท่านย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้. เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของรูปท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดความปรวนแปรไปตามความแปรปรวน ของรูป ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของท่านได้. เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ ท่านจึง เป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใยและไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น. ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนา. . . ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญา . . . ย่อมไม่เล็งเห็นสังขาร. . .ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ความสะดุ้งก็คือความเศร้าโศก ทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือในสิ่งต่างว่าเป็นเรา เป็นของๆ เรา เมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนหรือไม่เป็นดังใจ ก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชนที่จะต้องสะดุ้งอยู่ร่ำไปเพราะยังมีความเห็นผิด ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ทั้งที่ความจริงเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ดังนั้น หนทางที่จะดับความสะดุ้งความเศร้าโศก ทุกข์เพราะความยึดถือ เห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นครับ เพราะเป็นหนทางที่สามารถรู้ความจริงของธรรมว่า ที่เรายึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงธรรมที่เกิดขึ้นทีละขณะและก็ดับไป แต่ที่กล่าวมาต้องรู้ด้วยปัญญา ขั้นสติปัฏฐาน จนถึงปัญญาขั้นสูง แต่จะถึงปัญญาขั้นนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากการอบรมปัญญาจากการฟังให้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ธรรมมีอะไรบ้าง ธรรมมีในขณะไหน และอบรมปัญญาอย่างไรครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์