ความเป็นผู้ตรง
โดย ใหญ่ราชบุรี  17 ก.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23196

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอความกรุณา อธิบาย "ความเป็นผู้ตรง" คืออะไร เป็นสภาพธรรมอย่างไร ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในความอนุเคราะห์ค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อว่าโดยสัจจะ ความจริง คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ของ จิต เจตสิก ดังนั้นความตรง และ ความไม่ตรงที่คด ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น ขณะใดที่ไม่ตรง คือ คด ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจาและใจ ขณะนั้น ชื่อว่าคดแล้ว ดังเช่น คันธนูที่โก่งคด ไม่ตรงอกุศลทีเกิดขึ้นก็คด ไม่ตรงตามความเป็นจริงเช่นกันครับ แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ตรง ไม่คดด้วยอกุศลที่เกิดขึ้น

ส่วนความเป็นผู้ตรง ก็คือ สภาพธรรมที่ตรง ด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้น เป็นผู้ตรง ตรงต่อธรรม และ มีธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่ตรง ที่เป็น จิตที่ดีเกิดขึ้นในขณะนั้น ครับ

ซึ่งตรง เป็นการ ไม่คด ไม่งอ ตรง จึงหมายถึง ตรงตามหลักพระธรรมคำสอน เป็นผู้ที่มีสัจจะ มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสและเจริญกุศลประการต่างๆ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละกิเลส ดังนั้น ในการศึกษาฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ความเป็นผู้ตรงจึงควรที่จะมีเป็นอย่างยิ่ง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละคลายความไม่รู้ พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริงไม่ใช่ศึกษาเพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะสรรเสริญ หรือแม้เพียงเพื่อหวังคำยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น

การเจริญอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส จึงจะต้องเป็นผู้ที่ตรง ตรงต่อสภาพธรรม ว่าอกุศล เป็นอกุศล กุศล เป็นกุศล เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา และ ขณะใดที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้น กำลังดำเนินหนทางที่ตรง คือ สติปัฏฐาน ๔ ที่จะถึงการบรรลุ มรรค ผลนิพพาน ครับ

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ยังมีกิเลส ยังมีอกุศล ยังเป็นผู้ไม่ตรงทางกาย วาจาและใจเป็นปกติ แต่หนทางการอบรมให้เป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่เข้าใจก็ค่อยๆ ตรงทีละน้อย เหมือนค่อยๆ ดัดไม้ที่โก่งงอ แต่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเป็นผู้ตรงที่สุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

ความเข้าใจพระธรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องดัดศรให้ตรง ดัดอุปนิสัย ที่เต็มไปด้วยกิเลส ให้ตรงด้วยปัญญา ครับ

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 340
ข้อความบางตอนจาก เมตตสูตร

ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะ ไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มี จริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง พึง ชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)


เชิญคลิกอ่านที่นี่

ชื่อว่าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม

ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน

ตรง

ผู้ตรง...ไม่ลืมพิจารณาตนเอง

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 17 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตรง ไม่คดงอ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยสภาพที่ตรง ไม่คดงอนั้นก็ย่อมไม่พ้นไปจากกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ มีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั่นเอง เพราะถ้าเป็นอกุศลเมื่อใด เมื่อนั้นก็ไม่ตรงแล้ว แต่จะตรงได้ก็ต่อเมื่อเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 17 ก.ค. 2556

ความเป็นผู้ตรง คือ วาจาตรง ใจก็ตรง กายก็ตรง เป็นไปในสุจริตธรรม ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Boonyavee  วันที่ 18 ก.ค. 2556

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย thilda  วันที่ 20 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย kullawat  วันที่ 7 มิ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 24 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ