การเจริญสติปัฏฐานนั้นละ ไม่ใช่ส่งเสริมให้ท่านมีความต้องการ
โดย สารธรรม  28 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44291

การเจริญสติปัฏฐานนั้นละอภิชฌา และโทมนัส ไม่ใช่ส่งเสริมให้ท่านมีความต้องการ หรือให้มีความอยากจะรู้นั่นรู้นี่ แต่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติ สติจะระลึกรู้ลักษณะของกายก็ได้ ของเวทนาก็ได้ ของจิตประเภทใดๆ ก็ได้ ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องเจาะจงว่าจะต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ แต่ของธรรมใดๆ ก็ได้ ที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้น และระลึกทันที รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันที ส่วนการที่จะรู้มาก ละคลายได้ ก็ต้องแล้วแต่ว่าสติระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ มากแค่ไหน

บางท่านอาจจะสงสัยว่า การเจริญสติละอภิชฌา และโทมนัส เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าในขณะที่ท่านเจริญสติโลภะย่อมไม่เกิด โลภะเกิดแล้วใครยับยั้งได้ไหม ยับยั้งไม่ได้ สติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ สติปัฏฐานเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เป็นอกุศล ต้องแยกกัน แต่โลภมูลจิตที่เกิดปรากฏในขณะนั้นเป็นอารมณ์ของสติ เป็นอารมณ์ของมรรคมีองค์ ๘ ได้

ในขณะที่สติระลึกรู้ สภาพที่ระลึกนั้นเป็นโสภณ เป็นกุศล แต่ระลึกรู้ในสิ่งที่เป็นอกุศล เช่น โลภะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น การละอภิชฌา และโทมนัส คือ การไม่เลือกอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปกั้นสติไม่ให้รู้นั่นไม่ให้รู้นี่ด้วยอภิชฌาและโทมนัส สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดก็ได้ ไม่มีอภิชฌาโทมนัสในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิต สติก็ระลึกรู้ได้ บางท่านก็อาจจะคิดถึงอริยสัจ ๔ คือ

๑. ทุกขอริยสัจจะ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณารู้ กำหนดรู้

๒. สมุทยอริยสัจจะ ได้แก่ตัณหา หรือโลภะซึ่งเป็นสิ่งที่ควรละ

๓. นิโรธสัจจะ ได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง

๔. นิโรธคามินีปฏิปทา เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ อริยสัจที่ ๔ มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

บางท่านอาจจะมีความสงสัยแทรกขึ้นมาว่า ก็ทรงแสดงไว้ว่า ตัณหา โลภะเป็นสิ่งที่ควรละจะรู้ได้หรือ ควรรู้หรือไม่ควรรู้ หรือว่าควรละอย่างเดียว ต้องพิจารณาถึงเหตุผลด้วยว่า ในอริยสัจ ๔ นั้น ทรงแสดงเรื่องของเหตุและผล แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อสมุทยสัจจะ คือ โลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วจะไม่ให้รู้โลภะ ให้รู้แต่ทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

เรื่องของการละสมุทยสัจจะ ละถึงอนุสัย ด้วยการระลึกรู้สภาพที่เป็นทุกข์ โลภะเป็นสังขารธรรมหรือไม่ เป็นสังขารธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น โลภะก็มีการเกิดขึ้น มีการดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไมใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงควรระลึกรู้ลักษณะของโลภะด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาเรื่องของอริยสัจธรรมแล้ว จะไปรู้อย่างอื่นทั้งหมดเว้นโลภะเสีย เพราะได้ฟังมาว่าโลภะนั้นเป็นสมุทยสัจจะ แต่ว่าสมุทยสัจจะที่จะละ คือ ละถึงอนุสัยด้วยการพิจารณารู้สภาพลักษณะของโลภะที่เป็นทุกขอริยสัจจะด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 126