พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 458
ได้ยินว่า ท้าวสักกะเป็นมาณพชื่อ มฆะ ในอจลคามในแคว้นมคธ พาบุรุษ ๓๐ คน ทำกัลยาณกรรมบำเพ็ญวัตรบท ๗ ทำกาละในที่นั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก. เทวดาพวกเก่าเจ้าถิ่นเห็นมฆมาณพนั้นพร้อมด้วยบริษัท ประกอบไปด้วยฐานะ ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันแรงกล้า คิดว่าเทวบุตรผู้เป็นอาคันตุกะมาแล้ว จึงเตรียมน้ำคันธบานเพื่อดื่ม. ท้าวสักกะได้ให้คำเตือนแก่บริษัทบริวารของตนว่า ดูก่อนผู้นิรทุกข์ อย่าดื่มน้ำคันธบานจงแสดงเพียงอาการดื่มเท่านั้น. พวกเขาได้ทำอย่างนั้น. เทวบุตรเจ้าถิ่นดื่มน้ำคันธบานที่เข้านำเข้าไปให้ด้วยจอกทองตามต้องการ เมาล้มลงนอนอยู่บนแผ่นดินทองนั้นๆ . ท้าวสักกะกล่าวว่า จงจับพร้อมทั้งแม่ทั้งลูกไปดังนี้แล้ว จับที่เท้าขว้างไปที่เชิงภูเขาสิเนรุ. เทวบุตรทั้งปวงแม้ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ก็ไปตกลงในที่นั้น ด้วยเดชแห่งบุญของท้าวสักกะ. เทวบุตรเหล่านั้นได้ความรู้สึกตัวในเวลาที่อยู่กลางภูเขาสิเนรุ จึงกล่าวว่า พวกเราไม่ดื่มสุราละพ่อ. จำเดิมแต่นั้นจึงได้ชื่อว่า อสูร. ภายหลังแดนอสุรมีประมาณหมื่นโยชน์ ซึ่งตั้งขึ้นตามฤดู.เพราะปัจจัยแห่งกรรมของพวกเขา ก็เกิดขึ้นในพื้นภายใต้แห่งภูเขาสิเนรุ. ท้าวสักกะตั้งอารักขาเพื่อต้องการไม่ให้เทวบุตรเหล่านั้นกลับมา. ท่านกล่าวหมายความว่า การคุ้มครองรักษา อย่างตั้งอยู่ในระหว่างเมืองที่ไม่มีใครรบได้ทั้งสอง คือ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์และมหาราชทั้ง ๔. จริงอยู่ เมืองทั้งสองคือ เทวนครและอสุรนคร ชื่อว่า เป็นเมืองที่ไม่มีใครรบได้ ก็เพราะเป็นเมืองที่ไม่อาจถูกยึดเอาด้วยการรบ ก็แล คราวใดพวกอสุรมีกำลัง คราวนั้น เมื่อประตูถูกพวกเทวดาหนีเข้าไปสู่เมืองและปิดเสียแล้ว แม้พวกอสูรตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. คราวใด พวกเทวดามีกำลังคราวนั้น เมื่อประตูถูกพวกอสูรหนีเข้าไป ปิดเสียแล้ว แม้พวกท้าวสักกะตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. เมืองทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่า กรุงอยุธยา ด้วยประการฉะนี้. ท้าวสักกะตั้งอารักขาไว้ในที่ ๕ แห่ง มีนาคเป็นต้นนี้ ระหว่างเมืองทั้ง ๒ นั้น ในสถานที่ ๕ แห่ง. ในที่นั้น พวกนาค ท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า น้ำ. จริงอยู่ พวกนาคนั้นมีกำลังอยู่ในน้ำ. การป้องกันของพวกนาคนั้นอยู่ที่แนวที่ ๑ แห่งภูเขาสิเนรุนั้น พวกครุฑถือเอาด้วยศัพท์ว่า กโรฏิ. ได้ยินว่า น้ำและข้าวของพวกครุฑนั้นชื่อ กโรฏิ. พวกครุฑได้ชื่อตามน้ำและข้าวนั้น. การป้องกันของพวกครุฑนั้นอยู่ที่แนวที่ ๒. พวกกุมภัณฑ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ปยสฺสุกริ.ได้ยินว่า พวกกุมภัณฑ์นั้นเป็นพวกทานพและรากษส. การป้องกันของพวกนี้อยู่ที่แนวที่ ๓. พวกยักษ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ทมนยุทธ์ . ได้ยินว่า พวกยักษ์นั้นเป็นนักรบกองโจร. การป้องกันของพวกยักษ์นี้อยู่ที่แนวที่ ๔. บทว่า จตุโร จ มหตฺถาคือ มหาราชทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้ว. การป้องกันของมหาราชเหล่านี้ อยู่ที่แนวที่ ๕. เพราะฉะนั้น ถ้าพวกอสูรโกรธ มีใจขุ่นมัว เข้าไปบุกรุกเมืองของพวกเทวดาในการรบ. ที่ใด เป็นขอบเขตแรกแห่งภูเขา พวกนาคย่อมป้องกันที่นั้น. พวกอื่นที่ยังเหลือก็ป้องกันที่อื่นที่ยังเหลือ. ก็แล พวกอสูรนั้น เช่นเดียวกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยสมบัติคืออายุ ผิวพรรณ เกียรติยศและความเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงไม่รู้ตัว ในระหว่างเมื่อดอกแคฝอยบานจึงรู้ว่า นี่ไม่ใช่เมืองของเทวดา ดอกปาริฉัตรบานในเมืองของเทวดานั้น แต่ในที่นี้มีต้นแคฝอยพวกเราถูกพวกสักกะแก่หลอกลวงให้ดื่มสุรา ก็แลเราจะไปยังเทวนครพวกเราจักยึดไว้ เราจักรบกับเทวนครนั้น ดังนี้แล้ว ขึ้นช้างม้าและรถจัดทองเงินแก้วมณีและแก้วผลึก เตรียมรบ ลั่นกลองอสูร แยกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วน เตรียมพร้อมอยู่. พวกอสูรนั้นเริ่มขึ้นภูเขาสิเนรุ คล้ายแมลงเม่าขึ้นจอมปลวกเมื่อฝนตก. ในเวลานั้น พวกอสูรนั้นรบกับพวกนาคเป็นครั้งแรก. ก็ในการรบนั้น ผิวหรือหนังของใครๆ ไม่ขาด. เลือดก็ไม่ออก. เป็นเพียงยังกันและกันให้ร้อน เหมือนพวกเด็กเอาแพะไม้ชนกันอย่างเดียวเท่านั้น. พวกนาคตั้งร้อยโกฏิ พันโกฏิรบกับพวกอสูรนั้น ขับไล่พวกอสูรนั้นไปสู่เมืองอสูรแล้วกลับมา. ก็เมื่อใด พวกอสูรมีกำลัง เมื่อนั้น พวกนาคก็ล่าถอยไปร่วมกับพวกครุฑ รบในแนวที่ ๒. แม้ในครุฑเป็นต้นกันอย่างนี้. แต่เมื่อใดพวกอสูรเหยียบย่ำที่ทั้ง ๕ แห่งนั้นได้ เมื่อนั้น ๕ กองพล ล่าถอยลงมารวมเป็นอันเดียวกัน ทีนั้นมหาราชทั้ง ๔ จึงไปกราบทูลความเป็นไปแก่ท้าวสักกะ. ท้าวสักกะฟังคำกราบทูลของมหาราชนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นเวชยันตรถ ๑๕๐ โยชน์ออกไปเอง หรือส่งพระโอรสองค์หนึ่งไป. ก็แลในเวลานั้น ท้าวสักกะผู้ต้องการจะส่งพระโอรสไป จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ดูก่อนพ่อสุวีระ ดังนี้.
ฯลฯ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ