ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 362
เมตตสูตรที่ ๘
ว่าด้วยตรัสรู้สันตบท
[๓๐๘] กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และ ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่าขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ปานกลางหรือสั้น ผอม หรือพี ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ที่เกิดแล้ว หรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึง ความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่นไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น. มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำเบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวรไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้น ยืนอยู่ก็ดีเดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิต ทั้งหลายกล่าววิหาร-ธรรมนี้ ว่าเป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้และ กุลบุตรผู้เจริญเมตตาไม่เข้า ไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล.
จบเมตตสูตรที่ ๘
ขออนุโมทนาค่ะ
ไพเราะมากครับ
ขออนุโมทนาครับ
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
เห็นได้ถึงปัญญาขั้นสูงจริงๆ ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณpeeraphon คุณเซจาน้อย คุณผเดิม คุณคำปั่น และ ทุกท่านครับ
อรรถกถา กำลังจะตามมา ยี่งดีมากขึ้นครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ
เรียนคุณหมอและสหายธรรมทุกท่าน ครับ
จากที่คุณหมอ ยกเมตตสูตรมานั้น เป็น ประโยชน์มาก และเป็นพระสูตรที่ชอบมากเช่นกัน เพราะเมื่อได้อ่านแล้วพิจารณา ย่อมเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสและเจริญขึ้นของปัญญา ขออนุโมทนาคุณหมอที่ยก พระสูตรนี้มา ครับ และจากที่คุณหมอได้กล่าวไว้ในความเห็นที่ 5 ที่จะยกอรรถกถา อธิบาย ซึ่งกระผมขออธิบาย ตามนัยอรรถกถา ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อ ประโยชน์ในการเข้าใจพระธรรม ในแต่ละพระคาถา และเล่าความเป็นมาของพระสูตร ดังต่อไปนี้ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมตตสูตร
เหตุเกิดเรื่องดังต่อไปนี้
พระภิกษุ 500 รูป ได้อาศัย ภูเขา แนวป่าที่หนึ่ง ชาวบ้านได้เห็นภิกษุ 500 รูป เกิด ความเลื่อมใส นิมนต์ให้อยู่จำพรรษ ชาวบ้านจะบำรุงพระภิกษุเอง พระภิกษุเหล่านั้น จึงจำพรรษที่นั่น โดยอาศัยโคนไม้ เป็นที่พักอาศัยของท่านเหล่านั้น และเพราะคุณ ธรรมของพระภิกษุ ทำให้ เทวดาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ ที่ไม่มีคุณธรรมเท่า ไม่สามารถ อาศัยอยู่ได้ เปรียบเหมือน เมื่อพระราชา มาที่บ้านของชาวบ้าน ชาวบ้านเหล่านั้น ย่อม สละที่อยู่ของตนให้พระราชาอยู่ เพราะด้วยความมียศใหญ่ของพระราชา ฉันใด เทวดา เหล่านั้นก็ไม่สามารถอยู่ที่ต้นไม้นั้นได้ และคิดว่า ภิกษุเหล่านี้ คงจะต้องอยู่ตลอด 3 เดือน เราไม่สามารถที่จะอยู่โดยปราศจากวิมานที่อยู่ของเราได้ จึง ออกอุบาย โดยการ ทำรูปน่ากลัว และทำเสียงน่ากลัวตอนกลางคืน ให้ภิกษุทั้งหลายกลัว ภิกษุทั้ง 500 รูป เกิดความกลัว และฉันอาหารไม่ได้ เกิดโรคผอมเหลือง จึงประชุมปรึกษากัน และได้ เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ และตรวจดูว่าจะมี สถานที่อื่นเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้หรือไม่ ไม่ทรงเห็นสถานที่อื่น นอกเสียจาก ที่เดิม ที่ภิกษุถูก เทวดาเบียดเบียน จึงได้ตรัสสอน ด้วย เมตตสูตร ให้ภิกษุทั้งหลาย มีเมตตา กับ สรรพสัตว์ทั้งหลาย และ อบรมเจริญวิปัสสนาในที่นั้น ก็จะบรรลุธรรม พระองค์จึง ทรงได้ตรัสอนเมตตสูตรดังนี้ ดังจะอธิบายความแต่ละพระคาถาดังต่อไปนี้ ครับ
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา
กุลบุตร หมายถึง ผู้ที่ประพฤติธรรม อบรมปัญญาทุกคน ควรเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ คือ ฉลาดที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ เช่น การรักษาศีล การอบรมปัญญา การฟังธรรม ศึกษาพระธรรม และเจริญกุศลทุกประการ เพื่อถึงการดับกิเลส ชื่อว่า เป็นผู้ฉลาดใน ประโยชน์ ประโยชน์ในที่นี้ จึงมุ่งหมายถึง เป็นไปในกุศลธรรม เพื่อที่จะตรัสรู้ สันติบท คือ บทแห่งความสงบ สงบระงับจากกิเลสและสภาพธรรมทั้งปวง สันติบทนี้ จึงหมายถึง พระนิพพาน
ผู้ที่จะถึง สันติบท คือ พระนิพพาน ต้องเป็นผู้ฉลาดด้วยประโยชน์ คือ เจริญกุศล ทุกประการและ บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน นั่นเองครับ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดมี ศีล สมาธิและปัญญาด้วย เป็นการเจริญไตรสิกขา และสติปัฏฐานก็เป็นทางที่จะถึง สันติบท คือ ประจักษ์ บทอันสงบ คือ พระนิพพาน
กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งสันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว
พึงเป็นผู้อาจหาญ ด้วยปัญญา และอาจหาญที่จะกระทำกิจน้อยใหญ่ ช่วยเหลือ กิจการงานต่างๆ ของผู้อยู่ร่วมกัน ชื่อว่า เป็นผู้อาจหาญในการเจริญกุศล นั่นเอง และต้องเป็นผู้ซื่อตรงด้วย จึงจะทำให้ถึง บทอันสงบ คือ พระนิพพาน ซื่อตรงด้วยกาย วาจาและใจที่ตรง ซื่อตรงที่การเจริญกุศล ซื่อตรงที่จะไม่โอ้อวด ไม่มายา ซื่อตรงด้วย กุศลทีเกิดที่เป็นสมถภาวนา และ ซื่อตรงด้วย สภาพธรรมที่ตรง คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นการเจริญวิปัสสนา ขณะที่วิปัสสนาเกิด ชื่อว่า ซื่อตรงด้วยดี
เป็นผู้ว่าง่าย ที่จะน้อมไปที่จะแก้ไข เห็นโทษของอกุศลและเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เป็น ผู้อ่อนโยน ไม่ดุร้ายด้วยอกุศลธรรม กุศลธรรมเท่านั้นที่อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง คือ ไม่ดู หมิ่นผู้อื่น ด้วยตระกูล เป็นต้น สันโดษ ตามมีตามได้ เป็นผู้ลี้ยงง่าย คือ ได้อะไรมา ก็ บริโภคตามนั้น ไม่ปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป และ มีกิจน้อย คือ กิจที่เป็นไปในการเจริญ อกุศลก็มีน้อย มีความประพฤติเบา คือ พระภิกษุ มีของติดตัวน้อย ที่จะทำให้เอื้อต่อ การสะสมและเจริญอกุศล คุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมา ควรประพฤติ เพื่อที่จะถึง สันติ บท คือ บรรลุธรรม ประจักษ์พระนิพพาน ครับ
มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และ ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้
มีปัญญาเครื่องรักษาตน คือ อบรมปัญญา เมื่อมีปัญญา ย่อมรักษาตน คือ รักษาจิตให้พ้นจากอกุศลธรรม เป็นกุศลธรรมในขณนั้น ชื่อว่า มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง คือ ไม่คะนองด้วยกาย วาจาและใจที่ไม่เหมาะสม อันเกิดจากอกุศลเป็นเหตุ และไม่พัวพัน ในสกุลทั้งหลาย คือ พระภิกษุ ไม่ติดในตระกูล เขาเศร้าเราก็เศร้าด้วย เป็นต้น และไม่ ประพฤติทุจริต บาปเล็กน้อย คือ เห็นโทษของกิเลสเล็กน้อยทีเกิดขึ้น เมื่อกิเลสเกิด ขึ้น ก็มีปัญญาที่จะละอกุศลที่เกิดแล้ว โดยรู้โทษขงออกุศลและสำรวมระวังต่อไปด้วย ปัญญา เพราะอกุศลไม่ว่ามาก หรือน้อย ก็ไม่ดี นำมาซึ่งโทษและผู้รู้ที่ติเตียน ครับ
พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่าขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุขมีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด
เจริญเมตตาที่เป็นสมถภาวนา คือ เมตตาที่มีกำลัง คือ จะต้องเป็นผู้มีปัญญามากแล้ว รู้ว่าจะเจริญเมตตาให้มากอย่างไร ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องท่องคำเหล่านี้และจะมีเมตตากับสัตว์ทั้งปวง แต่จะต้องมีปัญญาที่รู้ว่าขณะไหนเป็นเมตตา ขณะไหนไม่ใช่เมตตา จึงเจริญเมตตา นึกถึงสภาพธรรมเมตตาบ่อยๆ จนมีกำลัง เมื่อถึงฌานย่อมสามารถมีเมตตากับสัตว์ทั้งปวงได้จริงๆ ครับ
สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ปานกลางหรือสั้น ผอม หรือพี ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ที่เกิดแล้ว หรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึง ความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่นไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น.
สัตว์ทุกประเภท ทั้งที่ยังสะดุ้ง คือ สะดุ้งด้วยกิเลส คือ มีกิเลสที่ยังทำให้สะดุ้ง และ ไม่สะดุ้ง คือ ไม่มีกิเลสแล้ว ก็ควรมีเมตตากับสัตว์ทั้งสองเหล่านั้นและ และสัตว์เหล่า ใด จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะอ้วน ผอม ก็มีเมตตา ขอสัตว์เหล่านั้น จงมีความสุข จะเห็นนะครับว่า ไม่ใช่เรื่องการท่องตามว่า ขอให้สัตว์จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด แล้ว จะเป็นการเจริญเมตตา เพราะเมตตา เป็นเรื่องของจิตใจ ที่มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ด้วยความหวังดี ไม่ใช่จากการท่องเป็นคำ เพราะฉะนั้น จะมีเมตตา กับสรรพสัตว์ ทั้งหมด ต้องเป็นเมตตาที่มีกำลังถึงฌาน ที่เป็น ปฐมฌาน แล้วครับ หากท่องเมตตา แต่ เมตตาในชีวิตประจำวันเกิดน้อย ยังมีคนที่ไม่ชอบ นั่นก็ไม่สามารถจะท่อง กว่าสัตว์ ทั้งปวง ได้ครับ
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
ผู้ที่มีเมตตาไม่มีประมาณ คือ ผู้ที่อบรมเมตตา จนได้ฌาน ย่อมเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อ มีเมตตาระดับนั้น ย่อมมีเมตตากับผู้ที่แม้จะทำร้ายตน หรือ แม้จะเป็นผู้ที่น่ากลัวอย่างไร ก็ตาม ก็เหมือนว่า คนที่มาทำร้าย หรือ น่ากลัว เป็นเหมือนลูกของตน ความรู้สึกเป็น แบบนั้น จึงเป็นเมตตาที่มีกำลังมากแล้วนั่นเองครับ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ ว่าเป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ และกุลบุตรผู้เจริญเมตตาไม่เข้า ไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะนำ ความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้วย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล.
เมตตภาวนา เป็น เครื่องอยู่อันประเสริฐของผู้ประเสริฐ มีพระอริยเจ้า เป็นต้น เจริญ เมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ หมายถึง ผู้ที่เจริยเมตตา มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ คือ มี เมตตา ต่อสัตว์ต่างๆ ถ้าศึกษาไม่ดี ย่อมสำคัญด้วยทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล จริงๆ ย่อมชื่อว่าเข้าไปอาศัยทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า พึงเจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัย ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล เป็นผู้มีศีลแล้วดัวยทัศนะ คือ มีศีลระดับโลกุตตระ และมี ทัศนะ คือ ปัญญา ระดับโลกุตตระ ดับกิเลส ครับ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว คือ เพราะ ละกิเลส คือ โลภะในอนาคามิมรรค ย่อมละกามได้ และไม่ถึงการนอนในครรภ์ คือเกิด ในพรหมโลก ไม่ต้องมาเกิดในมนุษย์อีก ครับ
พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมนี้จบ ให้ภิกษุ 500 รูป เรียนพระธรรมบทนี้ให้มีเมตตา แต่ ไม่ใช่ให้ท่องเมตตา และให้กลับไปสถานที่เดิม ภิกษุเหล่านั้นเจริญเมตตา พร้อมกับ การเจริญวิปัสสนา เทวดาทั้งหลายคิดว่า ภิกษุเหล่านี้มีเมตตา หวังดีกับเรา จึงไม่ทำ รูปน่ากลัวอีก กับดูแล สถานที่ปัดกวาดให้เรียบร้อย ไม่นาน ภิกษุทั้ง 500 รูป เจริญ เมตตา มีเมตตา็ป้นบาท อบรมวิปัสสนาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครับ
ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่าน ครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณ paderm คุณดำปั่น และทุกท่าน ครับ คุณ padermและคุณคำปั่น เป็นผู้มีความรู้ และ ปัญญา มาก พร้อมด้วยวิริยะและเมตตา ในการให้ความรู้กับผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายเสมอมา น่าชื่นชมและน่านับถือมากครับ เท่าที่รู้จักสนิทสนมกันมาหลายปี ผมรู้สึกว่าคุณ paderm คุณคำปั่น เป็นผู้ที่เรียกได้ว่า ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ อีกด้วย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมตตสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา หรือ เมตตาภาวนา ซึ่งเป็นการมีไมตรีจิตเกื้อกูลปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวง โดยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ปราศจากความโกรธความขุ่นเคืองใจ และ เมตตา นี้เอง เป็นธรรมที่กำจัดความโกรธ ความขุ่นเคืองใจโดยเฉพาะ สาระสำคัญของพระสูตร นี้ นอกจากจะทรงแสดงเรื่องเมตตาแล้ว ยังทรงแสดงถึงทางดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ซึ่งเป็นสันติบท ด้วยกล่าวคือ ต้องดำเนินตามทางคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่ควรทำซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา และประการที่สำคัญผู้ที่จะไปดำเนินไปทางดังกล่าวนั้น ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมประการต่างๆ ด้วย เช่น ต้องเป็นผู้อาจหาญ ตรง ตรงด้วยดีไม่มีมารยา เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง เป็นผู้มีความสันโดษ คือ ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ มีความประพฤติเบาด้วยการไม่สะสมบริขาร เป็นผู้ไม่คะนองทั้งกาย วาจา และ ใจ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในที่สุดก็จะสามารถบรรลุถึงผลอันสูงสุด คือ อรหัตตผล ได้ ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
แสดงให้เห็นถึงคุณของพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสจนกว่าจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด
กล่าวได้ว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นไปเพื่อปัญญา ครับ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาสาธุกับทุกท่านที่มีจิตเมตตา กรุณาอธิบาย ให้ความรู้ความเข้าใจและความคิดเห็นเพิ่มเติม