การให้ทาน จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ให้หรือไม่ เช่น มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อนของผู้ป่วยก็จัดการหาเด็กนักเรียนมาเฝ้า อยู่เป็นเพื่อน ซึ่งตัวผู้ป่วยก็อยากให้เงินเด็กที่มาเฝ้า เพื่อตอบแทนน้ำใจ ซึ่งเด็กคนที่เฝ้า ก็ได้รับเงินจากญาติของผู้ป่วยส่วนหนึ่งแล้ว แต่ผู้ป่วยเหมือนอยากให้เด็กอีก เพราะสงสาร รู้ว่าเด็กฐานะไม่ค่อยดี ส่วนเพื่อนที่จัดหาเด็กมาเฝ้า ก็ห้ามว่าไม่ควรให้แล้ว กลัวเด็กจะเคยตัว ดิฉันฟังเขาเถียงกัน ในความรู้สึกของตัวเอง คิดว่า ถ้าผู้ป่วยเขามีจิตเมตตาที่อยากจะให้ทาน ช่วยสงเคราะห์เด็กอีก ก็น่าจะได้ คือให้แล้วเขามีความสุขก็เป็นบุญทั้งนั้น ส่วนเพื่อนที่ห้าม เขาก็มีเหตุผล กลัวว่าจะทำให้เด็กเสียนิสัย คือทำความดีอะไร ก็จะหวังผลตอบแทน ถ้าไปเจอคนไม่มีเงิน ก็จะไม่เต็มใจทำ กรณีนี้ท่านผู้ใดมีความคิดเห็นดีๆ ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การให้ทาน ต้องคำนึงถึงผู้รับ ถูกต้องครับ แต่หมายถึงสิ่งที่ให้ย่อมให้ ให้เหมาะกับผู้รับ เช่น เงินไม่ควรให้กับพระภิกษุ ควรให้สิ่งที่เหมาะสม แพทย์ย่อมเลือกให้ สิ่งที่เหมาะกับโรคของคนไข้ การให้ก็เช่นกัน ต้องให้สิ่งที่เหมาะสมกับผู้รับ จึงจะเป็นประโยชน์สูงสุด ส่วนประเด็นว่าเมื่อไหร่ควรให้ คนไหนควรให้ คนไหนไม่ควรให้นั้น ในพระไตรปิฎก ไม่ได้ห้ามว่า คนนี้ควรให้ คนนี้ไม่ควรให้ มีศรัทธาที่ไหนก็ให้ที่นั้น (ความเห็นที่ 2) แต่แสดงว่า สิ่งที่ให้ควรเหมาะสม (ความเห็นที่ 3) ส่วนประเด็นเรื่องเด็กจะเคยตัวนั้น เด็กจะเคยตัวหรือมีความโลภมาก ไม่ใช่เพราะมีคนให้ แต่อยู่ที่อุปนิสัยการสะสมของบุคคลนั้นว่า เป็นอย่างไร มีความเข้าใจเห็นถูกหรือไม่ หากเด็กมีความเข้าใจ ย่อมรู้ว่าควรรับมาก หรือรับน้อย แม้รับไปถ้าไปแจกจ่ายให้บุคคลอื่น ก็ไม่ชื่อว่าเคยตัว แต่ก็ชื่อว่าเป็นความสันโดษเช่นกัน เพราะนำไปแจกจ่ายให้ในบุคคลที่เหมาะสมครับ เช่น ให้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ (ความเห็นที่ 4) การจะทำดีแล้วหวังผลไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีคนให้จึงทำให้เด็กเป็นอย่างนั้น แต่ขึ้นอยู่กับการสะสมและการอบรมมาของครอบครัว และปัญญาของเด็กเองครับ พระเจ้ามหาสุทัสสนในพระไตรปิฎก ให้แม้บุคคลที่มีฐานะ ไม่เลือกให้ว่าคนนี้มีพอแล้ว แต่สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้รับจึงให้ด้วยความเห็นถูกครับ
เรื่อง การให้ควรให้ในที่ไหน
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๑๙
ข้อความบางตอนจาก อิสสัตถสูตร
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เขาว่าพระองค์ตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ฯลฯ ทานที่ให้แก่เหล่าสาวกของคนพวกอื่น ไม่มีผลมาก ดังนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบปัญหาของเราก็จักทรงทำลายวาทะของเหล่าเดียรถีย์ได้ในที่สุด ท้าวเธอเมื่อทรงทูลถามปัญหาจึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหนหนอ. บทว่ายตฺถ ความว่า (พระพุทธเจ้าตรัสว่า) จิตเลื่อมใสในบุคคลใด พึงให้ทานในบุคคลนั้น หรือพึงให้แก่บุคคลนั้น.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...ว่าด้วยให้วัตถุที่เหมาะสมแก่ผู้มีความต้องการ [จริยาปิฎก]
ได้มาแล้วแบ่งไปตามความเหมาะสม ไม่ชื่อว่าเคยตัวแต่เป็นความสันโดษเป็นกุศล [เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๐๑ ข้อความบางตอนจาก. อรรถกถา เมฆิยสูตร
ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้บิณฑบาตที่ประณีต เธอคิดว่าบิณฑบาตนี้สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน เป็นต้น ถวายแก่พระเถระเหล่านั้นเหมือนจีวรหรือถือเอาบาตรอันเป็นของๆ พระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตด้วย
ตนเอง แล้วฉันอาหารผสม จัดว่าเป็นผู้สันโดษแท้ อาการของภิกษุนั้นนี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาต.
เชิญคลิกอ่านเพิมเติมที่นี่ครับ ห้ามคนอื่นให้ทาน ห้ามคนอื่นให้ทาน... ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ
คุณ oom ช่วยอธิบายเรื่องอานิสงส์ของทาน โทษของการห้ามไม่ให้ผู้อื่นให้ทาน และเหตุผลที่เด็กจะเคยตัวว่าเพราะสาเหตุอะไร แก่เพื่อนของผู้ป่วย ถ้าเขาเข้าใจได้ ก็จะเป็นธรรมทานที่ประเสริฐยิ่งครับ ...อนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ให้ความกระจ่างในธรรม เพราะกลัวว่า สิ่งที่คิดนั้นจะไม่ถูกต้องส่วนเพื่อนดิฉันนั้น ความที่เป็นครูบาอาจารย์ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างไป คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมเหมือนๆ กับดิฉัน ถ้าชี้แจงเหตุผลแล้ว เขาคงยอมเข้าใจ