ชราสูตรที่ ๖ ว่าด้วยชีวิตนี้น้อยนัก
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40209

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 738

สุตตนิบาต

อัฏฐกวรรคที่ ๔

ชราสูตรที่ ๖

ว่าด้วยชีวิตนี้น้อยนัก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 738

ชราสูตรที่ ๖

ว่าด้วยชีวิตนี้น้อยนัก

[๔๑๓] ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์เป็นอยู่ (๑๐๐ ปี) ไซร้ สัตว์นั้น ก็ย่อมตายแม้เพราะชราโดยแท้แล.

ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยงไม่มีเลย บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีอันต้องพลัดพรากจากกันมีอยู่ ดังนี้แล้วไม่พึงอยู่ครองเรือน.

บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไป แม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา.

บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรัก ผู้ทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 739

บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของคนทั้งหลายผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้น ที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่.

ชนทั้งหลายผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้เที่ยวไปแล้ว.

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ไม่แสดงตนในภพ อันต่างด้วยนรกเป็นต้น ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่งอันสงัด ว่าเป็นการสมควร.

มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและความตระหนี่ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังนั้น.

เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 740

ย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ฉันนั้น.

ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล.

จบชราสูตรที่ ๖

อรรถกถาชราสูตรที่ ๖

ชราสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อปฺปํ วต ชีวิตํ ชีวิตน้อยหนอ ดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำพรรษาอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงพิจารณาถึงจารีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในการเสด็จจาริกไปยังชนบทมีอาทิ คือ ให้ถึงความไม่มีโรค บัญญัติสิกขาบทที่ยังไม่ได้บัญญัติไว้ ทรมานเวไนยสัตว์ เล่าชาดกเป็นต้น อันเป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องนั้นๆ แล้วจึงเสด็จจาริกไปยังชนบท. พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงเมืองสาเกตในตอนเย็น เสด็จเข้าไปยังป่าไม้อัญชัน. ชาวเมืองสาเกตทราบข่าวแล้วคิดว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 741

บัดนี้ ยังไม่ถึงเวลาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นสว่างแล้วจึงถือดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำการบูชากราบไหว้และชื่นชมเป็นต้น ได้ยืนแวดล้อมจนถึงเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังบ้าน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปบิณฑบาต.

พราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งชาวเมืองสาเกตออกจากเมืองได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นที่ประตูเมือง. ครั้นเห็นแล้วเกิดความรักดังว่าเป็นบุตร ได้เดิน ตรงไปเฉพาะพระพักตร์ร่ำไห้ว่า ลูกรัก พ่อเห็นลูกมานานแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแจ้งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์นี้จงทำสิ่งที่ตนต้องการ อย่าห้าม. แม้พราหมณ์ก็ตรงเข้ากอดพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยรอบ คือข้างหน้า ข้างหลัง ข้างขวา และข้างซ้าย เหมือนแม่โคต้องการลูกโคฉะนั้น กล่าวว่า ลูกรัก พ่อเห็นลูกมานานแล้ว ลูกได้จากพ่อไปนานแล้ว. ผิว่า พราหมณ์นั้นไม่ได้ทำอย่างนั้น หัวใจจะแตกตาย. เขาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์สามารถจะถวายทานเเก่ภิกษุทั้งหลายที่มากับพระองค์ได้ ขอพระองค์จงอนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ. พราหมณ์รับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินออกหน้าส่งข่าวให้แก่นางพราหมณีทราบว่า บุตรของเรามาแล้ว พึงปูอาสนะไว้. นางพราหมณีได้ทำตามนั้น ยืนดูอยู่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ในระหว่างถนนเกิดความรักดังว่าเป็นบุตร จับที่พระบาท ร่ำไห้ว่าลูกรัก แม่เห็นลูกมานานแล้ว แล้วนำไปเรือนอังคาสด้วยความเคารพ.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 742

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว พราหมณ์นำบาตรออก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพราหมณ์แลนางพราหมณีนั้น จึงทรง แสดงธรรม. เมื่อจบเทศนาทั้งสองก็ได้เป็นพระโสดาบัน.

ลำดับนั้น พราหมณ์และนางพราหมณีกราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับภิกษาในเรือนของข้าพระองค์ ตลอดเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองนี้เถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้เสด็จไปยังที่แห่งเดียวเท่านั้นติดต่อกัน. พราหมณ์และนางพราหมณีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าเช่นนั้น แม้พระองค์เสด็จบิณฑบาตกับภิกษุสงฆ์แล้วขอนิมนต์เสวยภัตตาหาร ณ ที่นี้ แสดงธรรมเสร็จจึงกลับพระวิหารเถิดพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำตามนั้นเพื่อทรงอนุเคราะห์พราหมณ์และนางพราหมณีนั้น. ชนทั้งหลายพากันกล่าวถึงพราหมณ์และนางพราหมณีว่า เป็นพุทธบิดา พุทธมารดา. แม้ตระกูลนั้นก็ได้ชื่ออย่างนั้น.

พระอานนท์เถระกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์รู้จักพระมารดาพระบิดาของพระองค์ แต่เหตุไร พราหมณ์และนางพราหมณีนี้จึง กล่าวว่า เราเป็นพุทธบิดา เราเป็นพุทธมารดา ดังนี้เล่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ นางพราหมณีและพราหมณ์ได้เคยเป็นมารดาบิดาของเราเป็นลำดับมาตลอด ๕๐๐ ชาติ เป็นลุงเป็นป้าของเรามา ๕๐๐ ชาติ เป็นอาเป็นน้ามา ๕๐๐ ชาติ พราหมณ์และนางพราหมณีนั้นกล่าวด้วยความรักในชาติก่อนนั่นเอง และได้ตรัสคาถานี้ว่า

ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน หรือเพราะเกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 743

แต่นั้นมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ตามความพอพระทัย ณ เมือง สาเกต แล้วเสด็จจาริกไปอีก ได้เสด็จกลับกรุงสาวัตถี. พราหมณ์และนางพราหมณีเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย ฟังธรรมเทศนาอันเหมาะสมแล้วบรรลุมรรคที่เหลือ นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. ในเมือง พวกพราหมณ์ประชุมปรึกษากันว่า เราจักสักการะญาติของพวกเรา. พวกอุบาสกและอุบาสิกาที่เป็นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี ต่างก็ประชุมปรึกษากันว่า พวกเราจักสักการะ เพื่อนร่วมปฏิบัติธรรมของพวกเรา. ชนทั้งหมดเหล่านั้นจึงยกเรือนยอดดาดด้วยผ้ากัมพล บูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ออกจากเมืองไป.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันนั้นตอนเช้าก็ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ทรงทราบว่า พราหมณ์และนางพราหมณีนิพพาน ทรงทราบต่อไปว่า เมื่อเราไป ณ ที่นั้น ชนเป็นอันมากจักบรรลุธรรม เพราะฟังธรรมเทศนา ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จมาจากกรุงสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังป่าช้า. พวกชนเห็นแล้วได้ยืนประชุมกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทำฌาปนกิจมารดาบิดาจึงเสด็จมา. แม้ชาวเมืองก็พากันบูชาเรือนยอด พากันมาป่าช้า กราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อริยสาวกที่เป็นคฤหัสถ์จะพึงบูชาอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความเป็นอเสกขมุนีของอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์เหล่านั้นโดยพระประสงค์ว่า ควรบูชาอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์เหล่านี้เหมือนบูชาพระอเสกขะ จึงตรัสคาถานี้ว่า

มุนีเหล่าใดเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสำรวมกายอยู่เป็นนิจ มุนีเหล่านั้นไปในที่ที่สัตว์ทั้งหลายไปแล้วไม่ตาย ไม่พึงเศร้าโศก.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 744

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูบริษัทนั้นเมื่อจะทรงแสดงธรรมสมควรแก่ขณะนั้นจึงได้ตรัสพระสูตรนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปํ วต ชีวิตํ อิทํ ชีวิตนี้น้อยหนอนี้มีนัยดังได้กล่าวแล้วในสัลลสูตรว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนิดเดียว เพราะตั้งอยู่ประเดี๋ยวเดียว เพราะมีรสอยู่ประเดี๋ยวเดียวดังนี้. บทว่า โอรํ วสฺสตาปิ มิยฺยติ สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี คือตายแม้ในเวลาที่ยังเป็นกลละ (รูปที่เกิดเป็นครั้งแรกในขณะเริ่มตั้งครรภ์) ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี. บทว่า อติจฺจ อยู่เกิน คืออยู่เกิน ๑๐๐ ปี. บทว่า ชรสาปิ มิยฺยติ คือ สัตว์นั้นย่อมตาย แม้เพราะชรา.

บทว่า มมายิเต คือ เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา. บทว่า วินาภาวสนฺตเมวิทํ คือ สิ่งนี้มีความพลัดพรากจากกันมีอยู่ ท่านอธิบายว่า จะไม่มีการพลัดพรากจากกันไปไม่ได้. บทว่า มามโก ผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา คือนับถือว่าอุบาสกหรือภิกษุของเรา หรือนับถือพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่าเป็นของเรา. บทว่า สงฺคตํ อารมณ์อันประจวบคืออารมณ์ที่มาถึงหรือที่เคยเห็น. บทว่า ปิยายิตํ บุคคลที่คนรัก คือบุคคลที่ตนทำให้เป็นที่รัก. บทว่า นามเมวาวสิสฺสติ อกฺเขยฺยํ ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวถึงยังเหลืออยู่ คือ ธรรมชาติมีรูปเป็นต้นทั้งหมดละไป ส่วนชื่อเท่านั้นยังเหลือเพื่อเรียกกันอย่างนี้ว่า พุทฺธรกฺขิโต ธมฺมรกฺขิโต. บทว่า มุนโย มุนีทั้งหลาย ได้แก่พระมุนี ผู้เป็นขีณาสพ. บทว่า เขมทสฺสิโน ได้แก่ ผู้เห็นนิพพาน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาที่ ๗ เพื่อทรงแสดงถึงการปฏิบัติอันสมควรในโลกที่ถูกความตายกำจัดอย่างนี้.


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 745

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิลีนจรสฺส ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้นอยู่ คือของภิกษุผู้ประพฤติทำจิตหลีกเร้นอยู่จากที่นั้นๆ. บทว่า ภิกฺขุโน ได้แก่ กัลยาณปุถุชนหรือพระเสกขะ. บทว่า สามคฺคิยมาหุ ตสฺส ตํ โย อตฺตานํ ภวเน น ทสฺสเย ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ไม่แสดงตนในภพอันต่างด้วยนรกเป็นต้น ว่าเป็นการสมควร. อธิบายว่า ยิ่งไปกว่านั้น บัณฑิตนั้นพึงพ้นจากความตาย.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระขีณาสพอย่างนี้ว่า ผู้ที่ไม่แสดงตนในภพ ดังนี้ จึงตรัสคาถา ๓ คาถา ต่อจากนี้เพื่อพรรณนาคุณของพระขีณาสพนั้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สพฺพตฺถ ในอายตนะทั้งปวง คือในอายตนะ ๑๒. ก็ในบทนี้ว่า ยทิทํ ทิฏฺํ สุตํ มุเตสุ วา พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้ว่า มุนี ย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง หรือในอารมณ์ที่ได้ทราบ อย่างนี้. บทว่า โธโน น หิ เตน มญฺติ ยทิทํ ทิฏฺํ สุตํ มุเตสุ วา พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้เหมือนกันว่า ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น ด้วยเสียงที่ได้ฟัง หรือย่อมไม่สำคัญในอารมณ์ที่ได้ทราบ. บทว่า น หิ โส รชฺชติ โน วิรชฺชติ ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดีย่อมไม่ยินร้าย ความว่า ผู้มีปัญญา ย่อมไม่ยินดี เหมือนปุถุชนที่เป็นพาล ย่อมไม่ยินร้าย เหมือนกัลยาณปุถุชน และพระเสกขะ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยินดียินร้าย เพราะสิ้นราคะแล้วนั่นเอง. บทที่เหลือในที่ทั้งปวงชัดดีแล้ว.

ในเวลาจบเทศนาสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมแล้ว

จบอรรถกถาชราสูตรที่ ๘๔,๐๐๐ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา