กราบสวัสดีท่านวิทยากร และมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
อยากเรียนถามว่า หากระลึกแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่
คือ อย่างเวลามีจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น มีรูปกระทบตา ก็เพียงระลึกที่ สิ่งที่ปรากฏทางตา มีลักษณะสว่าง มีสีสันต่างๆ อย่างนี้นั้น เป็นอารมณ์ แค่นั้น แล้วก็ผ่านไป พอเสียงปรากฏก็ระลึกที่เสียง แค่นั้น รสปรากฏก็สักว่ารส แค่นั้น กลิ่นก็สักว่ากลิ่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็สักว่าปรากฏ
คือแค่ระลึกที่ลักษณะเหล่านั้น ที่ปรากฏแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้มีการคิดนึกใดๆ ต่อจากนั้นเลย อย่างนี้ถูกไหม หรือเวลามีธรรมารมณ์เกิดขึ้น มีการนึกคิดเรื่องราว บางครั้งก็มีการระลึกที่ลักษณะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง คือไม่รู้หรอกว่า นี้นะเรียกว่าโทสะ นี้นะเรียกว่าโลภะ นี้นะเรียกว่าโมหะ เพียงแค่มีอาการรู้ ปรากฏที่ลักษณะของธรรมารมณ์นั้นๆ ที่ปรากฏ แล้วก็ดับไป ไม่ได้คิดเป็นคำๆ ต่อว่า "โลภะหนอ เกิดแล้วหนอ ดับแล้วหนอ" อะไรแบบนั้น แต่บางครั้งก็ห้ามไม่ได้ พอโลภะเกิด ระลึกปุ๊ป จิตก็คิดต่อทันทีว่า นี่โลภะ คิดเป็นเสียงพูดว่า นี่-โล-ภะ เป็นคำๆ อย่างนี้ ไม่ถูกใช่ไหม เพราะขณะนั้นคิด แต่ถ้าไม่พูดว่า นี่โลภะ ก็ไม่สามารถทราบได้ว่า ขณะนั้นโลภะเกิด คือ รู้แค่ว่า ลักษณะอย่างนี้ๆ ปรากฏอยู่ แต่ก็ไม่ทราบเลยว่าเรียกว่าอะไร แค่รู้ลักษณะนั้นเฉยๆ ไม่มีบัญญัติใดๆ ให้รู้ว่า นี่กุศล นี่อกุศล แล้วจะแยก กุศลกับอกุศลอย่างไรครับ? ระลึกแบบนี้ต่อไป ต่อไป มันจะแยกได้เองหรือ อาการที่ทราบว่า ขณะนี้กุศล ขณะนี้อกุศล ถ้าไม่อาศัยสัญญา ที่จําในพระธรรม ที่แสดงแล้วปรุงความคิดต่อว่า นี้โลภะนะ นี่กุศลนะ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ลําพังเพียงระลึกลักษณะ ที่ปรากฏเฉยๆ สามารถที่จะดับกิเลสได้ จริงๆ หรือครับ? อย่างไร?
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ท้ายนี้ อยากเรียนถามเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ ไม่แน่ใจว่าเคยได้เรียนถามข้อนี้แล้วหรือยัง หากว่าได้เคยเรียนถามแล้ว ต้องขออภัยด้วยครับ อยากจะรบกวนเรียนถามว่า
ลักษณะอาการสงสัย มีความสงสัยปรากฏ เข้าใจว่าสงสัยด้วยอกุศล ย่อมต้องเป็นโมหมูลจิตแน่นอน เพียงแต่จะเป็นวิจิกิจฉาหรืออุทธัจจสัมปยุตต์ ก็แล้วแต่เรื่อง แต่ถ้าสงสัยที่เป็นกุศล กับสงสัยที่เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ เช่น พระอรหันต์สงสัยในลู่ทางในการธุดงค์ ไม่ทราบว่า เส้นทางนี้ไปที่ไหน จึงถามคฤหัสถ์ ขณะที่พระอรหันต์สงสัยในเส้นทาง ด้วยกิริยาจิตนั้น ลักษณะสงสัยก็ไม่ได้เปลี่ยน
เลยอยากทราบว่า สงสัยด้วยจิต ๓ ประเภทนี้ ต่างกันอย่างไร ระหว่าง อาการสงสัยที่เป็นอกุศล ที่เป็นกุศล และที่เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์
ขอกราบเรียนยกตัวอย่างหน่อยครับผม
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ที่เป็นนามธรรม รูปธรรม โดยไม่ใช่การคิดนึก แต่ขณะนั้นจะต้องมีสติที่ระลึกที่ตัวธรรม และไม่ใช่มีสติเท่านั้น ครับ แต่จะต้องมีสัมปชัญญะ คือปัญญาที่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมะ ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่การคิดนึกอีกเช่นกัน ขณะที่สติปัฏฐานเกิด กำลังรู้ที่ลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น ปรากฏกับสติและปัญญา ขณะนั้นไม่มีเรื่องราวที่สมมติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ เช่น ทางจักขุทวาร ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสี ขณะนั้น จะต้องมีเพียง สี ที่ปรากฏกับสติและปัญญา ไม่มีรูปร่าง คน สัตว์ สิ่งต่างๆ และ ไม่ใช่เพียงรู้สีเฉยๆ แต่เพราะปัญญารู้ลักษณะของสี จึงรู้ในขณะที่ระลึกในลักษณะของสีว่าเป็นแต่เพียงธรรม เพราะอะไร เพราะว่ามีแต่เพียงลักษณะของธรรมเท่านั้น ครับ
ส่วนการห้ามคิด เช่น คิดว่าเป็นแต่เพียงโลภะ ห้ามไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐานไม่มีการห้ามหรือไม่ห้ามให้คิด เพราะจิตที่เกิดขึ้นเป็นอนัตตา แล้วแต่ว่าจิตอะไรเกิดขึ้นก็เป็นธรรมดา เพียงแต่ว่า หนทางที่ถูก คือเข้าใจถูกในขณะที่สภาพธรรมอะไรเกิดก็ตาม ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แม้แต่ขณะที่คิดว่าโลภะก็ไม่พ้นจากสภาพธรรม สติและปัญญาก็สามารถเกิดระลึกลักษณะที่คิดได้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ
ส่วนประเด็นที่ว่า รู้ลักษณะของกุศล อกุศลเฉยๆ และจะแยกออกระหว่างกุศลและอกุศลได้อย่างไร
- ในความเป็นจริง ปัญญา ที่เป็นสติปัฏฐานเบื้องต้นยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างกุศล อกุศลได้เลย เป็นแต่เพียงรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมและรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ยังไม่ได้รู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะปัญญายังไม่คมกล้า สติปัฏฐานยังไม่เกิดคล่องแคล่วทั้ง ๖ ทวาร ต่อเมื่อใด ปัญญาคมกล้า ย่อมสามารถแยกออกระหว่างสภาพธรรม กุศล และ อกุศล ซึ่งไม่ใช่เราแยก แต่เป็นปัญญาที่คมกล้า แยกครับ
ส่วนประเด็น เรื่องความสงสัยของพระอรหันต์
- ความสงสัย วิจิกิจฉา เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลที่เป็นโมหะ ซึ่งพระโสดาบันละความสงสัยได้หมด ซึ่งมุ่งหมายถึงความสงสัยในพระรัตนตรัย ในขันธ์ ส่วนอดีต อนาคต ปัจจุบัน และในสภาพธรรม ส่วนความสงสัยในเรื่องราวที่เป็นกิจการงานในเรื่องต่างๆ ของปุถุชน โดยมากก็เป็นอกุศล แต่ของพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่ทราบ และคิดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตท่านจะเป็นอกุศล จะเป็นความลังเลสงสัย เพราะท่านดับความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและในสภาพธรรมได้หมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นโดยมาก วิจิกิจฉา มุ่งหมายถึง ความสงสัยในสภาพธรรมในพระรัตนตรัยเป็นสำคัญ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงในขณะนี้นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้น ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไป ตามเหตุ ตามปัจจัย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ
เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึก และปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริง เนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผล แล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย
ธรรม คือสิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไป เพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย ย่อมไม่มีเหตุที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นได้เลย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ปัญญามีหลายขั้น ขั้นการฟัง ขั้นพิจารณา และขั้นสติปัฏฐานเกิด
ขั้นแรกก็ต้องรู้ว่ามีสติและหลงลืมสติ ต่างกันอย่างไร ถ้าสติไม่เกิดก็เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าสติเกิด ก็ระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ซึ่งยากที่สุดตรงที่ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน ค่ะ
ขออนุโมทนา
อ่านแล้วทำให้รู้ว่าเรายังไม่เข้าใจธรรมะอีกมาก ต้องพยายามอ่านและปฏิบัติมากขึ้น
ขอบคุณมากครับ
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของตัวเองครับ
เวลาสติปัฏฐานเกิด ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เช่นถ้าสติระลึกตรงลักษณะของสี ขณะนั้นไม่มีรูปคน สัตว์ สิ่งของ ปรากฏใช่ไหมครับ พร้อมกับความเข้าใจในขณะนั้น ว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของสี เป็นเพียงธรรมะ แต่เป็นชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น หลังจากสติดับไปก็ปรากฏเป็นรูปร่างคน สัตว์ สิ่งของ ตามปกติ คือไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานเกิดแล้วจะไม่เห็นเป็นคน สัตว์ เช่น ขณะที่นั่งคุยกับเพื่อน เราก็รู้ว่าคุยกับใคร แต่อาจมีขณะหนึ่งที่สติระลึกขึ้นได้โดยระลึกตรงสีที่ปรากฏที่เคยเข้าใจว่าเป็นเพื่อนเรา แต่ขณะนั้นเข้าใจ (โดยไม่คิด) ว่าแท้จริงเป็นแค่สี จากนั้นสติก็ดับ ก็เป็นเพื่อนเราที่นั่งอยู่เหมือนเดิม คุยกันต่อไปเหมือนปกติ หรือ เช่นฟังเพลงอยู่ เราก็รู้ว่าเพลงอะไร นักร้องคนไหน แต่อาจมีขณะหนึ่งที่ระลึกตรงเสียงหนึ่ง ที่ปรากฎพร้อมกับความเข้าใจว่าเป็นแค่เสียง แต่จากนั้นก็เป็นเพลงนั้นเหมือนเดิม
เช่นนี้ผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ ถ้าไม่ถูกต้องขอความกรุณาช่วยแก้ไขด้วยครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ฟังพระธรรม (ที่ถูกต้อง) ให้เข้าใจ บ่อยๆ เนืองๆ ฟังๆ ๆ และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่คาดหวัง ไม่จดจ้อง ไม่ต้องการ เพียง ฟังๆ ๆ และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สำคัญที่สุด ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐาน ครับ ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ "เข้าใจ" ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จากการฟังพระธรรม ครับ ไม่มีรูปแบบ ไม่มีวิธีการ เพียงฟังๆ ๆ และ เข้าใจ ในสิ่งที่ได้ฟังครับ
ขออนุโมทนาครับ
เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ
ถูกต้อง ครับ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน คือ ก็ยังเห็นเป็นคนเป็นสัตว์ บุคคล ธรรมดาอย่างนี้เอง แต่ก็มีขณะที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ก็เกิดสติ เพียงชั่วขณะที่มีสภาพธรรมเป็นอารมณ์ได้ และก็คิดนึกต่อ เป็นรูปร่างสัณฐาน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็จะต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์เช่นกัน ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็มีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ แต่สติสามารถเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏชั่วขณะได้ ครับ
ขออนุโมทนาในความเห็นถูก
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
... ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็มีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ แต่สติสามารถเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎชั่วขณะได้ ...
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ