๘. ตักกลชาดก ว่าด้วยการเลี้ยงดูบิดามารดา
โดย บ้านธัมมะ  25 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35908

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 865

๘. ตักกลชาดก

ว่าด้วยการเลี้ยงดูบิดามารดา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 865

๘. ตักกลชาดก

ว่าด้วยการเลี้ยงดูบิดามารดา

[๑๔๐๐] ข้าแต่พ่อ มันนก มันเทศ มันมือเสือ และผักทอดยอด ก็มิได้มี พ่อต้องการอะไร จึงขุดหลุมอยู่คนเดียว ในป่ากลางป่าช้า เช่นนี้เล่า.

[๑๔๐๑] แน่ะพ่อ ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว ถูกกองทุกข์ อันเกิดจากโรคภัยหลายอย่างเบียดเบียน วันนี้ พ่อจะฝังปู่ของเจ้านั้นเสีย ในหลุม เพราะพ่อไม่ปรารถนา จะให้ปู่ของเจ้ามีชีวิตอยู่ อย่างลำบากเลย.

[๑๔๐๒] พ่อได้ความดำริ อันลามกนี้แล้ว กระทำกรรมอันหยาบช้า อันล่วงเสีย ซึ่งประโยชน์ ดูก่อนพ่อ เมื่อพ่อแก่ลง ก็จักได้รับกรรมเช่นนี้ จากลูกบ้าง แม้ลูกเอง ก็จะอนุวัตรตามเยี่ยงตระกูลนั้น จักฝังพ่อเสียในหลุมบ้าง.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 866

[๑๔๐๓] แน่ะพ่อ เจ้ากล่าวกระทบกระเทียบ ขู่เข็ญพ่อ ด้วยวาจาหยาบคาย เจ้าเป็นลูกที่เกิด แต่อกของพ่อ แต่หาได้มีความอนุเคราะห์เกื้อกูล แก่พ่อไม่.

[๑๔๐๔] ข้าแต่พ่อ มิใช่ว่าฉัน จะไม่มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อ แม้ฉันก็มีความเกื้อกูลอนุเคราะห์แต่พ่อ แต่เพราะฉันไม่กล้า จะห้ามพ่อ ผู้ทำบาปกรรมโดยตรงได้ จึงได้พูดกระทบกระเทียบเช่นนั้น.

[๑๔๐๕] ท่านสวิฏฐกะ ผู้ใดเป็นคนมีธรรม อันลามก เบียดเบียนมารดาหรือบิดา ผู้ไม่ประ ทุษร้าย ผู้นั้น ครั้นตายไปภายหน้า ย่อมเข้าถึงนรก โดยไม่ต้องสงสัย.

[๑๔๐๖] ท่านสวิฏฐกะ ผู้ใดบำรุงเลี้ยงมารดาบิดา ด้วยข้าว น้ำ ผู้นั้น ครั้นตายไปภายหน้า เข้าถึงสุคติ โดยไม่ต้องสงสัย.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 867

[๑๔๐๗] แน่ะพ่อ เจ้าจะเป็นผู้ไม่มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อก็หาไม่ เจ้าชื่อว่า เป็นผู้มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อแล้ว แต่พ่อถูกแม่ของเจ้า ว่ากล่าว จึงได้กระทำกรรม ที่หยาบคายเช่นนี้.

[๑๔๐๘] หญิงชั่ว ผู้เป็นเมียของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของตัวฉัน พ่อจงขับไล่ไปเสีย จากเรือนของตน เพราะแม่จะทำทุกข์อย่างอื่น มาให้พ่ออีก.

[๑๔๐๙] หญิงชั่ว ผู้เป็นเมียของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของตัวฉัน ซึ่งมีใจบาปนั้น ถูก ทรมาน ดังช้างพัง ที่นายควาญฝึก ให้อยู่ในอำนาจแล้ว จงกลับมาเรือนเถิด.

จบ ตักกลชาดกที่ ๘


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 868

อรรถกถาตักกลชาดกที่ ๘

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ บุรุษผู้เลี้ยงบิดาคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า น ตกฺกลา สนฺติ ดังนี้.

ได้ยินว่า บุรุษนั้น เป็นลูกคนสุดท้องในตระกูล ยากจนตระกูลหนึ่ง เมื่อมารดาตายแล้ว เขาลุกขึ้นแต่เช้า ทำการปฏิบัติบิดา มีให้ไม้สีฟันแลน้ำบ้วนปาก เป็นต้น จัดอาหารมีข้าวยาคู แลภัตเป็นอาทิ โดยสมควรแก่ทรัพย์ที่ตนได้มา ด้วยการรับจ้าง และการไถ บำรุงเลี้ยงบิดา ครั้งนั้น บิดาพูดกะเขาว่า ลูกรัก เจ้าคนเดียว ทำการงานทั้งภายในภายนอก พ่อจักนำนางกุลทาริกา มาให้เจ้าสักคนหนึ่ง นางจักได้ช่วยทำการงานในเรือน. เขากล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ขึ้นชื่อว่า สตรีมาเรือนแล้ว คงจักไม่ทำความสุขใจ ให้แก่ฉัน และพ่อได้ ขอพ่ออย่าได้คิดเช่นนี้เลย ฉันจักเลี้ยงดูพ่อจนตลอดชีวิต เมื่อพ่อล่วงลับไปแล้ว ฉันจักบวช. ลำดับนั้น บิดาได้นำนางกุลทาริกา คนหนึ่งมาให้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการเลย นางได้มีอุปการะ และเคารพยำเกรงต่อพ่อผัว และผัว ฝ่ายผัวก็ยินดีต่อนางว่า เป็นผู้อุปการะต่อบิดาของตน จึงนำของที่ชอบๆ ใจ ซึ่งได้มาๆ มามอบให้ แม้นางก็ได้น้อมนำเข้าไป ให้พ่อผัวทั้งสิ้น.

ต่อมา นางคิดว่า สามีของเราได้อะไรมา ก็มิได้ให้แก่บิดา ให้แก่เราผู้เดียวเท่านั้น เขาคงไม่มีความรักในบิดาเป็นแน่ เราจักใช้อุบาย


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 869

อย่างหนึ่ง ทำตาแก่นี้ ให้เป็นที่เกลียดชังแห่งสามีเรา แล้วให้ขับเสียจากเรือน. ตั้งแต่นั้นมา นางก็ได้ทำเหตุ ที่ยั่วให้พ่อผัวโกรธ เป็นต้นว่า เมื่อจะให้น้ำ ก็ให้น้ำเย็นเกินไปบ้าง ร้อนเกินไปบ้าง ให้อาหารเค็มจัด บ้างจืดไปบ้าง ให้ภัตดิบๆ สุกๆ บ้าง แฉะเกินไปบ้าง ดังนี้ เมื่อพ่อโกรธ นางก็กล่าวคำหยาบว่า ใครจักอาจปฏิบัติตาแก่นี้ได้. แล้วก่อการทะเลาะขึ้น แลแกล้งขากก้อนเขฬะ เป็นต้น ในที่ทั่วๆ ไป แล้วฟ้องสามีว่า ท่านจงดูการกระทำของบิดา เมื่อฉันกล่าวว่า พ่ออย่าทำอย่างนี้ๆ พ่อก็โกรธ ท่านจะให้พ่ออยู่ในเรือนนี้ หรือจะให้ฉันอยู่. เขาได้กล่าวกะนางว่า น้องรัก เจ้ายังเป็นสาวอยู่ อาจที่จะเป็นอยู่ในที่ใดๆ ก็ได้ พ่อของฉันแก่แล้ว เมื่อเจ้าไม่อาจอดกลั้นแกได้ ก็จงออกจากบ้านนี้ไป นางมีความกลัว หมอบลงแทบเท้าพ่อผัว ขอขมาโทษว่า ตั้งแต่นี้ไป ฉันจักไม่ทำอย่างนี้อีก. แล้วนางก็เริ่มปฏิบัติตามปกติดังก่อน.

ลำดับนั้น อุบาสกตั้งแต่วันที่ถูกภรรยา รบกวนบิดาให้เดือดร้อน ก็มิได้ไปฟังธรรม ในสำนักพระศาสดา ต่อเมื่อภรรยาดำรงเป็นปกติแล้ว จึงได้ไปที่นั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า อุบาสก เหตุไร? ท่านจึงไม่มาฟังธรรมถึง ๗ วัน. เขาได้กราบทูลเหตุการณ์ ให้ทรงทราบ. พระศาสดาตรัสว่า ในกาลนี้เท่านั้น ที่ท่านไม่เชื่อถ้อยคำของภรรยา ไม่ขับบิดาออกจากเรือน แต่ในกาลก่อนท่านเชื่อถ้อยคำ ของภรรยาของท่าน นำบิดาไปป่าช้าผีดิบ ขุดหลุมฝังบิดา เราตถาคต เกิดเป็นบุตรมีอายุ ๗ ขวบ


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 870

แสดงคุณของมารดาบิดา ห้ามการฆ่าบิดาได้ ในเวลาที่จะตายคราวนั้น ท่านเชื่อฟังถ้อยคำของเรา ปฏิบัติบิดาจนตลอดชีวิต แล้วไปเกิดในสวรรค์ โอวาทที่เราให้ไว้นี้นั้น แม้ท่านไปเกิดในภพอื่นก็ไม่ละวาง ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่เชื่อถ้อยคำของภรรยา ไม่ขับไล่บิดาออก ในบัดนี้ อุบาสกนั้น ทูลอาราธนา ให้ตรัสเรื่องราว พระองค์จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี. ณ บ้านของชาวกาสีตำบล ๑ ตระกลแห่ง ๑ มีบุตรน้อยคนเดียว ชื่อ สวิฏฐกะ เขาบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาอยู่ ต่อมาเมื่อมารดาล่วงลับไปแล้ว ก็บำรุงเลี้ยงบิดา เรื่องทั้งหมดต่อไปนี้ เหมือนเนื้อเรื่องปัจจุบัน นั่นแหละ ในที่นี้ จะกล่าวแต่เนื้อความที่แปลก ดังต่อไปนี้ ครั้งนั้น หญิงนั้นกล่าวว่า ท่านจงดูการกระทำของบิดาเถิด เมื่อฉันกล่าวว่า อย่าทำอย่างนี้ๆ ก็โกรธ. แล้วกล่าวต่อไปว่า ข้าแต่นายบิดาของท่าน ดุกับหยาบคาย ก่อการทะเลาะอยู่เรื่อย แกแก่คร่ำคร่า พยาธิเบียดเบียน ไม่ช้าก็จักตาย ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือน กับแกได้ ในวันสองวันนี้ แกต้องตายแน่ ท่านจงนำแกไปป่าช้าผีดิบ ขุดหลุม แล้วเอาแกใส่เข้าไปในหลุม เอาจอบทุบศีรษะให้ตาย เอาฝุ่นกลบข้างบน แล้วจงมา.

นายสวิฏฐกะถูกภรรยารบเร้า อยู่บ่อยๆ จึงกล่าวว่า แน่ะหล่อน ขึ้นชื่อว่า การฆ่าคน เป็นกรรมหนัก ฉันจักฆ่าบิดาอย่างไรได้. นาง


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 871

กล่าวว่า ฉันจักบอกอุบายแก่ท่าน นายสวิฏฐกะกล่าวว่า จงบอกมาก่อน นางจึงบอกว่า ข้าแต่นาย ท่านจงไปที่บิดานอน ในเวลาเช้ามืด ทำเสียงดัง ให้คนทั้งหมดได้ยิน แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ลูกหนี้ของพ่อ มีอยู่ที่บ้านโน้น เมื่อฉันจะไปแต่ลำพัง เขาจะไม่ให้ เมื่อพ่อล่วงลับไปแล้ว เงินจักสูญ พรุ่งนี้ เรานั่งบนยานไปด้วยกัน แต่เช้าทีเดียว. ดังนี้แล้วนาย จงลุกขึ้นตามเวลา ที่บิดาบอกไว้ เทียมยานให้แกนั่งบนยาน แล้วนำไปป่าช้าผีดิบ ขุดหลุมแล้ว ทำเป็นเสียงโจรปล้น ฆ่าแกแล้ว ผลักลงหลุม ทุบศีรษะ แล้วอาบน้ำมาเรือน. นายสวิฏฐกะคิดว่า อุบายนี้เข้าที. จึงรับคำของนาง แล้วตระเตรียมยานที่จะไป ก็นายสวิฏฐกะ มีบุตรอยู่คนหนึ่ง มีอายุ ๗ ขวบ เป็นเด็กฉลาดเฉียบแหลม. เขาฟังคำของมารดา จึงคิดว่า มารดาของเรา มีธรรมลามกยุบิดาเรา ให้ทำปิตุฆาต เราจักไม่ให้บิดาเรา ทำปิตุฆาต. แล้วก็ค่อยๆ ย่องเข้าไปนอนอยู่กับปู่. ครั้นได้เวลา ที่บิดาบอกไว้ นายสวิฏฐกะ เทียมยานแล้ว กล่าวว่า มาเถิดพ่อ เราไปสะสางลูกหนี้กันเถิด. แล้วให้บิดานั่งบนยาน กุมารได้ขึ้นยานก่อน แล้วนายสวิฏฐกะ ไม่อาจห้ามบุตรได้ จึงต้องพาไปป่าช้าผีดิบด้วย ให้บิดา และกุมารพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งกับยาน ตนเองลงถือจอบ และตะกร้า เริ่มจะขุดหลุม ๔ เหลี่ยม ณ ที่ลับแห่งหนึ่ง แม้กุมารก็ลง แล้วไปสำนักบิดา ทำเป็นไม่รู้ เริ่มคำพูดกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ข้าแต่พ่อ มันนก มันเทศ มันมือเสือ และ


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 872

ผักทอดยอด ก็มิได้มี พ่อต้องการอะไร จึงขุดหลุมอยู่คนเดียว ในป่ากลางป่าช้า เช่นนี้เล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตกฺกลา สนฺติ ได้แก่ มันนก ก็ไม่มี. มันเทศ ชื่อว่า อาลุปานิ. มันมือเสือ ชื่อว่า วิลาลิโย. ผักทอดยอด ชื่อว่า กลมฺพานิ.

ลำดับนั้น บิดาได้กล่าวคาถาที่ ๒ ตอบบุตรว่า :-

แน่ะพ่อ ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว ถูกกองทุกข์ อันเกิดจากโรคภัยหลายอย่าง เบียดเบียน วันนี้ พ่อจะฝังปู่ของเจ้านั้นเสีย ในหลุม เพราะพ่อไม่ปรารถนา จะให้ปู่ของเจ้า มีชีวิตอยู่อย่างลำบากเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกพฺยาธีหิ คือ ถูกทุกข์ อันเกิดจากพยาธิหลายอย่าง เบียดเบียนแล้ว. บทว่า น หิสฺส ตํ ความว่า เพราะว่าพ่อไม่ปรารถนา จะให้ปู่ของเจ้านั้น มีชีวิตอยู่อย่างลำบากเช่นนั้น พ่อเข้าใจว่า ความตายของปู่เท่านั้น ประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่ เห็นปานนี้ จึงจักฝังปู่ของเจ้านั้นเสีย ในหลุม.

กุมารได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกึ่งคาถาว่า:-


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 873

พ่อได้ความดำริ อันลามกนี้แล้ว กระทำกรรมที่หยาบช้า อันล่วงเสียซึ่งประโยชน์.

พึงทราบความแห่งคำ อันเป็นคาถานั้นว่า ข้าแต่พ่อ ท่านคิดว่า เราจักเปลื้องบิดาออกจากทุกข์ จึงผูกไว้ด้วยมรณทุกข์ ชื่อว่า กระทำกรรมอันหยาบช้า อันล่วงเสียซึ่งประโยชน์ เพราะได้ความดำริ อันลามกนี้ และเพราะก้าวล่วงประโยชน์ ด้วยอำนาจแห่งความดำรินั้น ตั้งอยู่.

ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ฉวยจอบจากมือบิดา ตั้งท่าจะขุดหลุม อีกหลุมหนึ่ง ในที่ใกล้ๆ กัน. ลำดับนั้น บิดาจึงเข้าไปถามกุมารนั้นว่า ลูกรัก เจ้าจะขุดหลุมทำไม? เมื่อกุมารจะตอบบิดา ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ข้าแต่พ่อ เมื่อพ่อแก่ลง ก็จักได้รับกรรมเช่นนี้ จากลูกบ้าง แม้ลูกเอง ก็จะอนุวัตรตาม เยี่ยงตระกูลนั้น จักฝังพ่อเสียในหลุมบ้าง.

พึงทราบเนื้อความแห่งคำ อันเป็นคาถานั้นว่า ข้าแต่พ่อ แม้ลูกก็จักฝังพ่อเสีย ในหลุมอีกหลุมหนึ่ง ในเวลาที่พ่อแก่บ้าง อธิบายว่า พ่อ เพราะเหตุนี้แล เมื่อพ่อแก่ลง ก็จักได้รับกรรมเช่นนี้ ในหลุมที่ขุดไว้นี้ จากตัวลูกบ้าง แม้ลูกเองก็จะอนุวัตร ตามเยี่ยงตระกูลนั้น คือ ที่พ่อให้


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 874

เป็นไปแล้วนั้น คือ เมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่กินกับภริยา ก็จักฝังพ่อเสียในหลุมบ้าง.

ลำดับนั้น บิดาได้กล่าวคาถาที่ ๔ แก่กุมารว่า :-

แน่ะพ่อ เจ้ามากล่าวกระทบกระเทียบ ขู่เข็ญพ่อ ด้วยวาจาหยาบคาย เจ้าเป็นลูกที่เกิด แต่อกของพ่อ แต่หาได้มี ความอนุเคราะห์เกื้อกูล แก่พ่อไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปกุพฺพมาโน แปลว่า ขู่เข็ญ. บทว่า อาสชฺช แปลว่า กระทบกระเทียบ.

เมื่อบิดากล่าวอย่างนี้แล้ว กุมารผู้เป็นบัณฑิต จึงกล่าวคาถา ๓ คาถา คือ คาถาโต้ตอบคาถา ๑ คาถา อุทาน ๒ คาถาว่า :-

ข้าแต่พ่อ มิใช่ว่าฉันจะไม่มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อ แม้ฉันก็มี ความเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่พ่อ แต่เพราะฉันไม่กล้าจะห้ามพ่อ ผู้ทำบาปกรรมโดยตรงได้ จึงได้พูดกระทบกระเทียบเช่นนั้น.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 875

ท่านสวิฏฐกะ ผู้ใดเป็นคนมีธรรมอันลามก เบียดเบียนมารดาหรือบิดา ผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้นั้น ครั้นตายไปภายหน้า ย่อมเข้าถึงนรก โดยไม่ต้องสงสัย.

ท่านสวิฏฐกะ ผู้ใดบำรุงเลี้ยงมารดาบิดา ด้วยข้าวน้ำ ผู้นั้นครั้นตายไปภายหน้า เข้าถึง สุคติ โดยไม่ต้องสงสัย.

บิดาครั้นได้ฟังธรรมกถาของบุตร ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-

แน่ะพ่อ เจ้าจะเป็นผู้ไม่มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อก็หาไม่ เจ้าชื่อว่า เป็นผู้มีความเกื้อกูล อนุเคราะห์แก่พ่อแล้ว แต่พ่อถูกแม่ของเจ้าว่ากล่าว จึงได้กระทำกรรม ที่หยาบคาย เช่นนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหญฺจ เต มาตรา คือ อหํปิ เต มาตรา อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 876

กุมารได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ธรรมดาสตรี เมื่อเกิดโทสะขึ้น ข่มไว้ไม่ได้เลย จึงทำชั่วบ่อยๆ ควรที่พ่อ จะขับแม่ของฉันไปเสีย ไม่ให้ทำชั่วเช่นนี้อีกได้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-

หญิงชั่ว ผู้เป็นเมียของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของตัวฉัน พ่อจงขับไล่ไปเสีย จากเรือนของตน เพราะแม่จะนำทุกข์อย่างอื่น มาให้พ่ออีก.

นายสวิฏฐกะ ได้ฟังคำของบุตร ผู้เป็นบัณฑิตแล้ว มีความโสมนัส กล่าวว่า เราไปกันเถิดลูก แล้วขึ้นนั่งบนยานกับบุตร และบิดาไปบ้าน.

ฝ่ายหญิงอนาจารนั้น ก็ร่าเริงยินดีว่า คนกาลกรรณีออกจากเรือน เราไปแล้ว. จึงเอามูลโคสดมาทาเรือน หุงข้าวปายาส แล้วคอยแลดูทาง ที่ผัวจะมา ครั้นเห็นมาทั้ง ๓ คน ก็โกรธว่า พาคนกาลกรรณีที่ออกไป กลับมาอีกแล้ว. จึงด่าว่า เจ้าคนร้าย เจ้าพาคนกาลกรรณีที่ออกไปแล้ว กลับมาอีกทำไม? นายสวิฏฐกะไม่พูดอะไรๆ ปลดยานแล้ว จึงพูดว่า คนอนาจาร เจ้าว่าอะไร? แล้วทุบนางนั้นเสียเต็มที่ กล่าวว่า แต่นี้ไป เจ้าอย่าเข้ามาเรือนนี้ แล้วจับเท้าลากออกไป ครั้นไล่ภรรยาไปแล้ว ก็อาบน้ำให้บิดากับบุตร แม้ตนเองก็อาบ แล้วบริโภคข้าวปายาส พร้อมกันทั้ง ๓ คน หญิงใจบาปนั้น ไปอยู่เรือนผู้อื่นได้ ๒, ๓ วัน.


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 877

ในกาลนั้น บุตรกล่าวกะบิดาว่า ข้าแต่พ่อ แม่ฉันคงยังไม่รู้สำนึก ด้วยการถูกลงโทษเพียงเท่านี้ พ่อจงแกล้งพูดว่า จะไปขอลูกสาวลุง ในตระกูลโน้น มาปรนนิบัติตัวกับบิดา และบุตร เพื่อทำให้แม่ฉันเก้อ แล้วถือเอาของหอม และดอกไม้ เป็นต้น ขึ้นยานไปเที่ยวอยู่ตามท้องนา แล้ว กลับมาเวลาเย็น. นายสวิฏฐกะ ได้กระทำตามทุกประการ สตรีในตระกูลที่คุ้นเคย บอกหญิงนั้นว่า ได้ยินว่า ผัวของเธอไปบ้านโน้น เพื่อนำหญิงอื่นมาเป็นภริยา.

หญิงนั้นสะดุ้งกลัวว่า ฉิบหายละเราคราวนี้ เราไม่มีโอกาสอีกแน่ คิดว่า จะอ้อนวอนบุตรดูสักครั้ง. จึงแอบไปหาบุตร หมอบลง แทบเท้ากล่าวว่า ลูกรัก เว้นเจ้าเสียแล้ว คนอื่นไม่เป็นที่พึ่งของแม่ได้ ตั้งแต่นี้ไป แม่จะปฏิบัติพ่อ และปู่ ของเจ้าราวกะพระเจดีย์ ที่ประทับไว้ เจ้าจะช่วยให้แม่ ได้เข้ามาอยู่ในเรือนนี้อีก. กุมารกล่าวว่า ดีแล้วแม่ ถ้าแม่ไม่ทำเช่นนี้อีก ฉันจักช่วย แม่อย่าประมาท. ครั้นเวลาบิดามา ได้กล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า :-

หญิงชั่ว ผู้เป็นเมียของพ่อ เป็นแม่บังเกิดเกล้าของตัวฉัน ซึ่งมีใจบาปนั้น ถูกทรมานดังช้างพัง ที่นายควาญ ฝึกให้อยู่ในอำนาจแล้ว จงกลับมาเรือนเถิด.


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 878

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาต เป็นต้น ความว่า ข้าแต่พ่อ บัดนี้ หญิงชั่ว ผู้เป็นเมียของพ่อ ซึ่งก่อเหตุวุ่นวายนั้น ถูกทรมานดังช้างพัง ที่นายควาญ ฝึกให้อยู่ในอำนาจ สิ้นพยศแล้ว. บทว่า ปุนราวชาตุ คือ จงกลับมาสู่เรือนนี้อีกเถิด.

กุมารนั้น ครั้นแสดงธรรมแก่บิดา ดังนี้แล้ว ก็ไปนำมารดามา นางขอขมาโทษผัว และพ่อผัว แล้วตั้งแต่นั้นมา ก็ประกอบด้วยธรรมเครื่องข่ม ปฏิบัติผัวพ่อผัว และลูกเป็นอย่างดี สองผัวเมียตั้งอยู่ในโอวาทของลูก ทำบุญมีทาน เป็นต้น แล้วได้ไปเกิดในสวรรค์.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจธรรม บุรุษผู้เลี้ยงบิดา ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพล ทรงประชุมชาดกว่า บิดาบุตร และหญิงสะใภ้ในครั้งนั้น ได้มาเป็นบิดาบุตร และหญิงสะใภ้ในบัดนี้ ส่วนกุมารผู้เป็น บัณฑิตในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา ตักกลชาดกที่ ๘