ขอเรียนถามว่า
คำว่า ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา มีความหมายเดียวกันหรือเปล่าคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา เป็นชื่อของโลภะ ความติดข้อง ซึ่ง โลภะ สามารถติดข้องได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้น โลกุตตรธรรม ๙ ที่เป็น มรรค ๔ ผล ๔ และ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น โลภะ ตัณหา ติดข้องใน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณด้วย
ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ฉันทะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ซึ่งเป็นไปในทางกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดร่วมกับจิตประเภทอะไร เป็นสำคัญ ครับ
โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นความยินดี พอใจ แต่ด้วยความติดข้อง ต้องการ ที่เป็น อกุศลเจตสิก เป็น เจตสิกที่ไม่ดี เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิต ครับ
โดยความละเอียดแล้ว บางครั้งหากได้ยินคำว่าฉันทะ บางที่ มุ่งหมายถึง โลภเจตสิก คือ ความติดข้องนั่นเอง ซึ่ง ตัณหา โลภะที่มีกำลังอ่อน ท่านก็เรียกว่าฉันทะ ดังข้อความที่ว่า
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 488
ตัณหาที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่า ฉันทะ ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้ แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า ราคะ ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้.
แต่ก็ควรเข้าใจโดยทั่วไปว่า ฉันทะเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรม ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ที่ยังไม่ได้ติดข้อง ที่เป็นฉันทะเจตสิก แต่เมื่อใดที่เกิดความติดข้อง ขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่ทำหน้าที่ และก็มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำในขณะนั้นด้วย ที่เกิดร่วมกันได้ ครับ ซึ่งการจะรู้ความละเอียดของความแตกต่างของสภาพธรรมทั้ง ๒ อย่าง ก็ด้วยปัญญาที่ละเอียด คือ สติปัฏฐาน ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้น ย่อมจะรู้ความแตกต่างของสภาพธรรมทั้งสองอย่างได้จริงๆ และ ที่สำคัญ จะต้องเริ่มรู้ก่อนครับว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นการเจริญปัญญาเป็นลำดับ ดั่งข้อความที่ท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายไว้ดังนี้ ครับ
จาก การสนทนาเรื่องปฏิบัติธรรม อาทิตย์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ผู้ฟัง ท่าน อ. ครับ มันแยกไม่ออกระหว่าง ฉันทะ และ โลภะ
อ. ค่ะ ไม่ใช่ให้แยกด้วยความเป็นเรา แต่เข้าใจลักษณะที่เป็นธัมมะ
ผู้ฟัง คือต้องเข้าใจธรรมไปก่อน
อ. ตั้งต้นค่ะ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ใครจะไปกลับ ไปสลับ ภาวนามยปัญญาก่อนแล้วก็มาสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ
ผู้ฟัง จินตามยปัญญา ก็คือ เราทบทวนที่ได้ยินได้ฟังก็เป็น จินตามยปัญญา
อ. คิด ปัญญาสำเร็จจากการคิด การไตร่ตรอง ความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วหมดเลย แล้วฟังใหม่ แล้วก็หมดไปอีกนะคะ
ผู้ฟัง. เพราะฉะนั้นก็คือเกิดสลับกันได้ระหว่าง....
อ. ทุกอย่างเป็นธัมมะทั้งหมดค่ะ ที่เกิดขึ้นจะไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป บังคับบัญชาไม่ได้
และ คำบรรยายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยท่านอาจารย์สุจินต์
ฉะนั้น ลักษณะของ "ฉันทะ" ในการเจริญกุศลจึงต่างกับลักษณะของ "โลภะ" ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะ เวลาที่อยากเจริญกุศลก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือต้องการกุศลบ้างหรือต้องการอานิสงส์คือผลของกุศลบ้าง ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือความต้องการได้ เพราะรู้ว่า ถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล ใจที่มุ่งหวังผลของกุศลนั้นเป็นโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลซึ่งไม่ใช่ต้องการกุศลด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจที่จะเจริญกุศลโดยไม่หวังผล เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ จึงเป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศลไม่ใช่โลภะที่จะเจริญกุศล
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
เป็น ฉันทะ หรือ โลภะ ครับ..?
ฉันทะและตัณหา..
แยกไม่ออกระหว่างฉันทะและโลภะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง
-ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่พอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นชาติวิบากถ้าเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา ในขณะที่มีการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ทาน บ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างนี้ มีฉันทะที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นผู้ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล แต่ถ้าอกุศลเกิด ที่เป็นประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย กับ ประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย ฉันทะในลักษณะอย่างนี้ เป็นอกุศลฉันทะ ไม่ใช่กุศล
ส่วน ราคะ (ความใคร่) นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) ก็เป็นความเป็นไปของความติดข้อง (โลภะ) นั่นเอง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นโลภเจตสิก จะเห็นได้จริงๆ ว่า ที่ตั้งความติดข้องยินดีพอใจ มีมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อประมวลแล้วก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็เป็นที่ตั้งให้โลภะติดข้องได้ เมื่อ ได้เหตุได้ปัจจัย โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ติดข้องไม่สละ ไม่ปล่อย ในขณะที่โลภะเกิดขึ้นนั้น เป็นอกุศลเท่านั้น จะเป็นกุศลไม่ได้ เพราะสะสมความติดข้องมานาน จึงติดข้องยินดีพอใจ ไม่พ้นไปจาก ความเป็นผู้ถูกกิเลสครอบงำ ซึ่งจะแตกต่างจาก ผู้ที่ดับกิเลสได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่ดับกิเลสได้หมดแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ก็ตาม ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ