ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปมตฺต”
คำว่า ปมตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ – มัด – ตะ] แปลว่า บุคคลผู้ประมาทแล้ว เมื่อกล่าวถึงความเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่าเป็นใครหรือเป็นอะไร ความประมาท คือ อกุศลจิต เกิดขึ้นกับผู้ใด ก็เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้ประมาท ซึ่งต้องได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้
ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ขัคควิสาณสูตร แสดงความหมายของคำว่า ปมตฺต ไว้ว่า.- บทว่า ปมตฺตํ (ผู้ประมาทแล้ว) ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตในกามคุณ (รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ทั้งหลาย หรือ ผู้เว้นจากกุศลภาวนา (เว้นจากการอบรมเจริญกุศล)
ข้อความในชาตกัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก ภัณฑุติณฑุกชาดก แสดงความเป็นจริงว่าบุคคลผู้ประมาทก็เหมือนกับบุคคลผู้ตายไปแล้ว ดังนี้.-
“บุคคลเหล่าใดประมาทแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรเห็นเหมือนคนตายแล้ว เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ยังกิจให้สำเร็จไม่ได้ แท้จริง สำหรับคนที่ตายแล้ว ย่อมไม่มีความคำนึง ความปรารถนา หรือ ความขวนขวาย ว่า เราจักให้ทาน จักรักษาศีล จักทำอุโบสถกรรม (รักษาอุโบสถศีล) จักบำเพ็ญคุณงามความดี เพราะเป็นผู้ปราศจากวิญญาณ (คือ ปราศจากจิต เนื่องจากตายไปแล้ว) สำหรับคนประมาท ก็ไม่มี (ความคิดในการเจริญกุศล) เพราะขาดความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น คนตาย กับ คนประมาท ทั้งสอง นี้ จึงเสมอเหมือนเป็นบุคคลประเภทเดียวกัน”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ยินได้ฟังคำจริงที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อันเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่ใครๆ ก็ไม่สามารถคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ละคำที่พระองค์ตรัส ไม่ว่าจะปรากฏในส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด ความเข้าใจพระธรรมนี้เอง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล ใครๆ ก็แย่งชิงไปไม่ได้ เก็บรักษาอย่างดีในจิต สะสมเป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย
ในฐานะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้น เจริญขึ้นได้ ก็ต้องได้ฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะได้ยินได้ฟังความจริง ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้เลย แต่เพราะมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและทรงแสดงพระธรรม จึงทำให้สัตว์โลกที่สะสมเหตุที่ดีมามีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง มีการอบรมเจริญปัญญา ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ตามกำลังปัญญาของตนเอง
ชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมากไปด้วยกิเลส ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อกุศลจิต ก็เกิดขึ้นเป็นไปมาก เป็นผู้ประมาทแล้ว ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละวัน กุศลจิตเกิดน้อยมาก เทียบส่วนกับอกุศลจิตไม่ได้เลย พระธรรม จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีให้รู้จักตัวเอง ว่า ยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ เพราะมากไปด้วยอกุศล
บุคคลผู้ประมาทอยู่ แม้จะมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปีก็ตาม ก็เป็นเหมือนกับคนที่ตายแล้ว เพราะคนที่ตายแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ ไม่สามารถเจริญกุศลประการต่างๆ มีการให้ทาน เป็นต้น ได้ เช่นเดียวกันกับบุคคลผู้ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ จะกี่ปีก็ตาม ก็ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้ทำความดีอะไรๆ เลย ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม บุคคลผู้ประมาทแล้ว จึงไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะมีการเกิด การตาย จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่งอยู่ แต่โอกาสของการดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีการเกิดการตายอีกเลยนั้น ย่อมมีได้ สังสารวัฏฏ์ มีโอกาสจบสิ้นได้ เพราะอาศัยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท จึงได้ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย เพราะในที่สุดแล้วก็จะไม่มีการเกิดการตายอีก ไม่เหมือนกับผู้ที่ประมาทอยู่เนืองๆ ซึ่งโอกาสของการหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่มีเลย ก็ต้องท่องเที่ยววนไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่สิ้นสุด
ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ว่า ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการมีชีวิต ไม่ใช่อยู่ด้วยความประมาท แต่เพื่ออบรมเจริญปัญญา จากที่ไม่เคยเข้าใจความจริง จากที่เต็มไปด้วยความมืด คือ อวิชชา ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี เปลี่ยนจากที่เคยอยู่ด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นผู้อยู่ด้วยกุศลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้
บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ละทิ้งในสิ่งที่ผิดโดยประการทั้งปวง ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ จึงเป็นเสมือนมีเครื่องปกครองหรือเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ว่า สิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ สิ่งนี้ควรอบรมให้เจริญมากขึ้น เป็นต้น เพราะปัญญาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิตของทุกคนก็คือ ปัญญา แล้วปัญญาจะมาจากไหน ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องอาศัยเหตุ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา โดยไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะพระธรรม เป็นสิ่งที่ล้ำค่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ทำให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่หวั่นไหวตามกำลังของความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เพราะเริ่มเข้าใจความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งที่เกิดแล้วดับไป
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอนก็ตาม รวมถึงที่กล่าวถึงบุคคลผู้ประมาท ด้วย ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีอยู่เสมอ เตือนให้เป็นผู้ไม่ควรประมาทในชีวิต และ พระธรรมก็เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองที่เคยสะสมมาอย่างมากและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ