[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 286
๘. อัฏฐิเสนชาดก
ว่าด้วยการขอ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 286
๘. อัฏฐิเสนชาดก
ว่าด้วยการขอ
[๑๐๒๑] ข้าแต่ท่านอัฏฐิเสนะ พวกวณิพกทั้งหลาย ที่โยมไม่รู้จัก พากันมาหาโยมแล้ว ขอสิ่งที่ต้องการกัน แต่เหตุไฉน พระคุณเจ้า จึงไม่ขออะไรกะโยม.
[๑๐๒๒] เพราะผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ส่วนผู้ให้เมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น อาตมภาพ จึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร.
[๑๐๒๓] ก็ผู้ใด เลี้ยงชีพด้วยการขอ แต่ไม่ขอสิ่งที่ควรขอ ในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมขจัดผู้อื่นจากบุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ ไม่ได้ด้วย.
[๑๐๒๔] ส่วนผู้ใด เลี้ยงชีพด้วยการขอ ขอสิ่งที่ควรขอ ทั้งขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ ได้ด้วย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 287
[๑๐๒๕] ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เห็นผู้ขอมาแล้ว ไม่ขึ้งเคียดเลย. ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระคุณเจ้า เป็นที่รักของโยม พระคุณเจ้า ต้องประสงค์อะไร ที่ควรบอก ขอพระคุณเจ้าจงบอก.
[๑๐๒๖] ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะไม่ออกปากขอเลย ธีรชนควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ยืน เจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือ การขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.
[๑๐๒๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โยมขอถวาย โคนมสีแดงพันตัว พร้อมกับโคตัวผู้ แก่พระคุณเจ้า เพราะผู้มีอาจาระอันประเสริฐ ได้ฟังคาถา ที่ประกอบด้วยธรรม ของท่านแล้ว เหตุไฉน จะไม่ถวายทาน แก่ท่านผู้มีอาจาระ อันประเสริฐ.
จบ อัฏฐิเสนชาดกที่ ๘
อรรถกถาอัฏฐิเสนชาดกที่ ๘
พระศาสดา ทรงอาศัยเมืองอาฬาวี เสด็จประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบท จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 288
เม อหํ น ชานามิ ดังนี้. เรื่องปัจจุบัน เป็นเช่นกับที่กล่าวมาแล้ว ในมณิกัณฐกชาดก ในหนหลัง นั่นเอง.
ก็พระศาสดาตรัสเรียก ภิกษุเหล่านั้น มาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยก่อน เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น บัณฑิตสมัยก่อน ได้บรรพชา ในพาหิรกลัทธิ แม้พระราชาทรงปวารณาแล้ว ก็ไม่ทูลขออะไร โดยคิดว่า ขึ้นชื่อว่า การขอของรัก ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของชนเหล่าอื่น ดังนี้แล้ว ได้ทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ ได้อุบัติในกระกูลพราหมณ์ ในนิคมหนึ่ง. พวกญาติ ได้ตั้งชื่อท่านว่า อัฏฐิเสนกุมาร. ท่านเจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่าง ในเมืองตักกศิลา ต่อมาเห็นโทษในกามทั้งหลาย แล้วได้ออกจากฆราวาส บวชเป็นฤาษี ให้ฌานสมาบัติ และอภิญญาสมาบัติเกิดขึ้น แล้วอยู่ที่ถิ่นหิมพานต์ เป็นเวลานาน ดำเนินไปสู่วิถีทางของมนุษย์ เพื่อต้องการลิ้มรสเค็ม และรสเปรี้ยว ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งเช้า ได้เที่ยวไปภิกขาจาร ถึงพระลานหลวง. พระราชา ทรงเลื่อมใสในอาจาระ และวิหารธรรมของท่าน จึงให้ราชบุรุษเรียก นิมนต์ท่านมา ให้นั่งที่พื้นปราสาท แล้วให้ฉันโภชนะอย่างดี ทรงสดับอนุโมทนากถา ในเวลาฉันเสร็จแล้ว ทรงเลื่อมใส จึงทรงรับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 289
ปฏิญญา ให้พระมหาสัตว์ พักอยู่ที่พระราชอุทยาน และได้เสด็จไปอุปัฏฐาก วันละ ๒, ๓ ครั้ง. วันหนึ่ง พระองค์ทรงเลื่อมใส ในธรรมกถา จึงทรงปวารณาว่า พระคุณเจ้าต้องการสิ่งใด ตั้งต้นแต่ราชสมบัติ ขอพระคุณเจ้าจงบอกสิ่งนั้นเถิด. พระโพธิสัตว์ไม่ถวายพระพรว่า ขอพระองค์ จง พระราชทานสิ่งนี้ แก่อาตมภาพ ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้ แก่อาตมภาพ. ผู้ขอเหล่าอื่น จะทูลขอสิ่งที่ตนปรารถนา ต้องการว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้ ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้. พระราชาจะพระราชทาน ไม่ทรงขัดข้อง. อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงดำริว่า ยาจก และวณิพกเหล่าอื่น ขอกะเราว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้ และสิ่งนี้ แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย แต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะนี้ ตั้งแต่เราปวารณามาแล้ว ไม่ขออะไรเลย ก็พระคุณเจ้านี้ เป็นผู้มีปัญญาจริง เป็นผู้ฉลาดในอุบาย เราจักเรียนถามท่าน. อยู่วันหนึ่ง พระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ได้เสด็จไปอุปัฏฐากฤาษี ทรงไหว้แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เมื่อจะตรัสถามถึงเหตุ แห่งการขอของยาจกเหล่าอื่น และเหตุแห่งการไม่ขอ ของท่าน จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าแต่ท่านอัฏฐิเสนะ พวกวณิพกทั้งหลาย ที่โยมไม่รู้จัก พากันมาหาโยมแล้ว ขอสิ่งที่ต้องการกัน แต่เหตุไฉน พระคุณเจ้า จึงไม่ขออะไรกะโยม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 290
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินิพฺพเก ได้แก่ ผู้ขอ. บทว่า สงฺคมฺม ความว่า พากันมาหา. มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ วณิพกเหล่านี้ใด ข้าพเจ้าไม่รู้จักแม้ว่า คนเหล่านี้ชื่อนี้ โดยชื่อ โคตรตระกูล และประเทศ วณิพกเหล่านั้น พากันมาหา แล้วขอสิ่งที่ตนต้องการ แต่เหตุไฉน พระคุณเจ้า จึงไม่ขออะไรกะโยม.
พระโพธิสัตว์ได้ฟัง ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.
เพราะผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ส่วนผู้ให้ เมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น อาตมภาพ จึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร ขอความบาดหมางใจ อย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจโก อปฺปิโย โหติ ความว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ก็บุคคลผู้ที่ขอว่า ขอจงให้สิ่งนี้แก่ข้าพเจ้า ขอจงให้สิ่งนี้แก่ข้าพเจ้า ย่อมไม่เป็นที่รัก. ไม่เป็นที่พอใจ ของมารดา บิดาบ้าง ของมิตร และอำมาตย์ เป็นต้นบ้าง ความที่เขาไม่เป็นที่รักนั้น ควรแสดงโดย มณิกัณฐกชาดก. บทว่า ยาจํ ได้แก่ สิ่งของที่เขาขอ. มีคำอธิบายว่า ฝ่ายบุคคลผู้ไม่ให้ นับแต่มารดาบิดา เป็นต้นไป ซึ่งไม่ให้สิ่งของที่เขาขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ. บทว่า ตสฺมา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 291
เพราะเหตุที่ผู้ขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ให้ ทั้งผู้ให้ เมื่อไม่ให้สิ่งของที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ ฉะนั้น อาตมาภาพจึงไม่ขออะไร กะมหาบพิตร. บทว่า มา เม วิทฺเทสนา อหุ ความว่า ถ้าหากอาตมภาพ จะพึงขอพระราชทานทีเดียวไซร้ มหาบพิตรก็คงพระราชทานสิ่งนั้น แต่อาตมภาพคงเป็นที่บาดหมาง พระทัยของมหาบพิตร ความบาดหมางใจที่เกิดขึ้น จากสำนักมหาบพิตรนั้น ก็จะมีแก่อาตมภาพ ถ้าแม้นว่ามหาบพิตร จะไม่พึงพระราชทานไซร้ มหาบพิตรก็คงเป็นที่บาดหมางใจ ของอาตมภาพ และอาตมภาพ ก็จะมีความบาดหมางใจ ในมหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมภาพ อย่าได้มีความบาดหมางใจ แม้ในที่ทุกแห่ง คือ ไมตรีระหว่างมหาบพิตรกับอาตมภาพ ทั้ง ๒ อย่าได้แตกกันเลย อาตมภาพ เมื่อเล็งเห็นประโยชน์นี้ จึงไม่ขออะไรกะมหาบพิตร.
ลำดับนั้น พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ๓ คาถาว่า :-
ก็ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการขอ แต่ไม่ขอสิ่งที่ควรขอ ในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมขจัดผู้อื่น จากบุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ ไม่ได้ด้วย. ส่วนผู้ใด เลี้ยงชีพด้วยการขอ ขอสิ่งที่ควรขอ ทั้งในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ ได้ด้วย. ผู้มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 292
ปัญญาทั้งหลาย เห็นผู้ขอมาแล้ว ไม่ขึ้งเคียดเลย. ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม พระคุณเจ้าต้องประสงค์อะไร ที่ควรบอก ขอพระคุณเจ้าจงบอก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจนชีวาโน ได้แก่ผู้มีชีวิตอยู่ด้วย การขอ. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ ก็เป็น ยาจนชีวาโน นี้เหมือนกัน. มีคำอธิบายว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ ผู้ใดประพฤติดำรงชีพ ด้วยการขอ จะเป็นสมณะก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม ขออะไรๆ ที่ควรขอ ในเวลาที่สมควรก็หาไม่ ผู้นั้นย่อมขจัดผู้อื่น ที่เป็นผู้ให้ คือ ยังเขาให้เสื่อมไป จากบุญด้วย ทั้งตนเองก็มีชีวิตอยู่ ไม่เป็นสุขด้วย. บทว่า ปุญฺํ ลเภติ ความว่า แต่เมื่อขอสิ่งที่ควรขอ ในเวลาที่ควรขอ ยังผู้อื่นให้ได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็มีชีวิตอยู่ เป็นสุขด้วย ด้วยบทว่า น เว ทุสฺสนฺติ พระราชาทรงแสดงว่า พระคุณเจ้ากล่าวคำใดว่า ขอความบาดหมางใจ อย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย เหตุไฉน พระคุณเจ้าจึงกล่าวคำนั้น? เพราะว่า ผู้มีปัญญาทั้งหลาย คือ เหล่าบัณฑิตผู้รู้ทั้งทาน และผลของทาน เห็น ยาจกผู้มาแล้ว ไม่ขึ้งเคียด คือ ไม่โกรธ แต่เป็นผู้บันเทิงใจโดยแท้. ม อักษรในคำว่า ยาจกมาคเต ท่านกล่าวไว้ ด้วยอำนาจพยัญชนสนธิ. ความหมายก็คือ ยาจเก อาคเต ยาจกผู้มาแล้ว. บทว่า พฺรหฺมจารี ปิโย เมสิ ความว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ ผู้ประพฤติ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 293
บริสุทธิ์ ผู้มีปัญญามาก พระคุณเจ้า เป็นที่รักของอาตมภาพ เหลือเกิน เพราะฉะนั้น ขอให้พระคุณเจ้าบอก คือขอพรทีเดียวกะโยม. บทว่า ภญฺิตมิจฺฉสิ ความว่า พระคุณเจ้าต้องประสงค์ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ควรพูดขอ โยมจะถวายทุกอย่างทีเดียว แม้แต่ราชสมบัติ.
พระราชาทรงปวารณา แม้ด้วยราชสมบัติอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ ก็ไม่ทูลขออะไรๆ เลย.
ก็เมื่อพระราชาตรัสถาม ถึงอัธยาศัยของตน อย่างนี้แล้ว ฝ่ายพระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงปฏิปทา ของนักบวช ถวายว่า ขอถวายพระพร บพิตรมหาราช ขึ้นชื่อว่า การขอนี้ เป็นของที่พวกคฤหัส ผู้บริโภคกาม ประพฤติมาชินแล้ว ไม่ใช่พวกบรรพชิต ส่วนบรรพชิต ตั้งแต่เวลาบวชแล้ว ควรเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ด้วยการสังวร ด้วยทวารทั้ง ๓ เพื่อแสดง ถึงบรรพชิตปฏิบัติ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ถวายว่า :-
ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะไม่ออกปากขอเลย ธีรชนควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ยืน เจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือการขอ ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สปฺปญฺา เป็นต้น ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พุทธสาวกทั้งหลายก็ดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 294
ผู้บวชเป็นฤาษี ปฏิบัติเพื่อโพธิญาณก็ดี แม้ทั้งหมดชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญาด้วย เป็นผู้มีศีลด้วย ท่านเหล่านั้น เป็นผู้มีปัญญา เห็นปานนี้ จะไม่ขอว่า ขอท่านทั้งหลาย จงให้สิ่งนี้ และสิ่งนี้ แก่อาตมภาพทั้งหลาย. บทว่า ธีโร เวทิตุมรหติ ความว่า ส่วนธีรชน คือ บัณฑิตผู้อุปัฏฐาก ควรรู้ คือทราบ ความต้องการทุกอย่าง ของท่านเอาเอง ทั้งในเวลาอาพาธ และในเวลาไม่อาพาธ. บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตร อย่างเดียวเท่านั้น คือ ไม่ให้องค์คือกาย และองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิกาล ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่า ให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่า ให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้น ยืนอยู่เฉยๆ. บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์ คือวาจาไหว ยืนอยู่ เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่า เป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.
พระราชาทรงสดับคำ ของพระโพธิสัตว์แล้ว เมื่อตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าหากว่า อุปัฏฐากผู้มีปัญญา รู้ด้วยตนเองแล้วไซร้ ก็จะถวาย สิ่งที่ควรถวาย แก่กุลบุตร ฝ่ายโยมก็จะถวายสิ่งนี้ และสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย ดังนี้ จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 295
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โยมขอถวาย โคนมสีแดงพันตัว พร้อมกับโคตัวผู้ แก่พระคุณเจ้า เพราะผู้มีอาจาระอันประเสริฐ ได้ฟังคาถาที่ประกอบ ด้วยธรรมของท่านแล้ว เหตุไฉน จะไม่ถวายทานแก่ท่าน ผู้มีอาจาระอันประเสริฐ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โรหินีนํ ความว่า มีสีแดง. บทว่า ควํ สหสฺสํ ความว่า โยมจะถวาย โคชนิดนี้พันตัว แด่พระคุณเจ้า เพื่อประโยชน์แก่การดื่ม รสนมสด และนมเปรี้ยว เป็นต้น ขอพระคุณเจ้าจงรับโคนั้น ของโยม. บทว่า อริโย ได้แก่ ผู้มีอาจาระประเสริฐ. บทว่า อริยสฺส ความว่า แก่ท่านผู้มีอาจาระประเสริฐ. บทว่า กถํ น ทชฺชา ความว่า เหตุไร จึงจะไม่ถวาย.
เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ ก็ทูลปฏิเสธว่า มหาบพิตร ธรรมดาบรรพชิต ไม่มีความกังวลอะไร อาตมาภาพ ไม่มีความต้องการ ด้วยแม่โคทั้งหลาย. พระราชาทรงดำรงอยู่แล้ว ในโอวาท ของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงบำเพ็ญบุญมีทาน เป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ มีฌานไม่เสื่อม เกิดขึ้นแล้วในพรหมโลก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 296
พระศาสดา ครั้นทรงนำ พระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกไว้ว่า. ในที่สุดแห่งสัจธรรม คนจำนวนมาก บรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น. พระราชาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนอัฏฐิเสนฤาษี ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา อัฏฐิเสนชาดกที่ ๘