ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องนั้น คือ ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทั่วจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่เจริญสติ หรือเข้าใจว่าสติเกิดไม่ได้ กัมมัฏฐานรั่ว ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก มีแต่คำว่าหลงลืมสติ
กัมมัฏฐานจะรั่วได้อย่างไร มีตาเห็นไหม มีหูได้ยินไหม มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยเป็นสิ่งซึ่งสติระลึกรู้ได้ เป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งให้สติระลึก และปัญญาก็รู้ชัดได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ไปบังคับเพราะมีความไม่รู้ทั่วในนามรูป จึงได้เข้าใจว่า ขณะนั้น คือ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปเป็นกัมมัฏฐานรั่ว
อย่างเวลาที่รับประทานอาหาร ผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ รู้ลักษณะของรูปทางตาก็ได้ นามเห็น ลักษณะที่รู้ทางทางตาก็ได้ เสียงที่เกิดปรากฏทางหูก็ได้ นามได้ยิน ลักษณะที่รู้ทางหูก็ได้ หรือว่ารูปที่ปรากฏทางจมูกก็ได้ นามที่รู้กลิ่นก็ได้ จะคิดนึก จะมีความชอบ ความไม่ชอบใดๆ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปได้เป็นปกติ แต่เวลาที่หลงลืมสติ ก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอกุศลที่ได้สะสมมามากทำให้หลงลืมสติมาก แต่ผู้ที่เจริญสติ ปัญญาก็จะเพิ่มความรู้ชัดในลักษณะของนามของรูปมากขึ้น ในวันหนึ่งๆ ความเป็นตัวตนนี้จะลดลงไป น้อยลงไป เพราะเหตุว่ารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 123