[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 454
ทุติยปัณณาสก์
สมณวรรคที่ ๔
๖. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยเสขบุคคล
อรรถกถา ทุติยเสขสูตร 456
พระขีณาสพต้องอาบัติ 457
ลักษณะพระโสดาบัน 457
ลักษณะพระสกทาคามี 458
ลักษณะพระอนาคามี 458
ผู้ทําได้บางส่วน-ผู้ทําได้สมบูรณ์ 458
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 454
๖. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยเสขบุคคล
[๕๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาบทที่สำคัญ ๑๕๐ นี้ ย่อมมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ ศึกษากันอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่ สิกขา ๓ คือ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 455
อะไรบ้าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี้แล สิกขา ๓ ที่สิกขาบททั้งปวงนั่นรวมกันอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ... ในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติ (คือ แสดงอาบัติ) บ้าง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุอะไร เหตุว่าไม่มีใครกล่าวความอภัพ (คือ ไม่อาจบรรลุโลกุตรธรรม) เพราะการล่วงสิกขาบทเล็กน้อย และการออกจากอาบัตินี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้น เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้แน่ที่จะได้ตรัสรู้ในข้างหน้า
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นเพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ ราคะ โทสะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้หนเดียวเท่านั้น ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ... ในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นเพราะสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลก (ที่เกิด) นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ทั้งในศีล ทั้งในสมาธิ ทั้งในปัญญา เธอก็ย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 456
ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้
อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทำได้เพียงเอกเทศ ย่อมได้ดีเพียงเอกเทศ ผู้ทำได้บริบูรณ์ ย่อมทำได้ดีบริบูรณ์ เราจึงกล่าวว่า สิกขาบททั้งหลายหาเป็นหมันไม่.
จบทุติยเสขสูตรที่ ๖
อรรถกถาทุติยเสขสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยเสขสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อตฺตกามา ได้แก่ กุลบุตรทั้งหลายผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน. บทว่า ยตฺเถตํ สพฺพํ สโมธานํ คจฺฉติ ความว่า สิกขาบท ๑๕๐ ทั้งหมดนี้ ถึงการสงเคราะห์เข้าในสิกขาแม้เหล่าใด. บทว่า ปริปูริการี โหติ ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์. บทว่า มตฺตโสการี ความว่า เป็นผู้มีปกติทำพอประมาณ อธิบายว่า ไม่สามารถจะทำได้ทั้งหมด. บทว่า ขุทฺทานุขุทฺทกานิ ได้แก่ สิกขาบทที่เหลือเว้นปาราชิก ๔. อนึ่ง ในบทว่า ขุทฺทานุขุทฺทกานิ นั้น มีอธิบายว่า สังฆาทิเสส ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท ถุลลัจจัย ชื่อว่า อนุขุททกสิกขาบท อนึ่ง ถุลลัจจัย ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท ปาจิตตีย์ ชื่อว่า อนุขุททกสิกขาบท. อนึ่ง ปาจิตตีย์ ชื่อว่า ขุททกสิกขาบท ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต ชื่อว่า อนุขุททกสิกขาบท. แต่อาจารย์ผู้ใช้อังคุตตรมหานิกายนี้กล่าวว่า สิกขาบทที่เหลือทั้งหมด ยกเว้นปาราชิก ๔ ชื่อว่า ขุททานุขุททกสิกขาบท.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 457
พระขีณาสพต้องอาบัติ
ก็ในบทว่า ตานิ อาปชฺชติปิ วุฏฺาติปิ นี้ มีอธิบายว่า พระขีณาสพไม่ต้องอาบัติที่เป็นโลกวัชชะเลย จะต้องก็แต่อาบัติที่เป็นปัณณัตติวัชชะเท่านั้น และเมื่อต้อง ก็ต้องทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง คือ เมื่อต้องทางกาย ก็ต้องกุฏิการสิกขาบทและสหไสยลิกขาบทเป็นต้น เมื่อต้องทางวาจา ก็ต้องสัญจริตตสิกขาบทและปทโสธัมมสิกขาบทเป็นต้น เมื่อต้องทางใจ ก็ต้อง (เพราะ) รับรูปิยะ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. บทว่า น หิ เมตฺถ ภิกฺขเว อภพฺพตา วุตฺตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในที่นี้ เราตถาคตมิได้กล่าวว่า พระอริยบุคคลไม่ควรทั้งในการต้อง และการออกจากอาบัติเห็นปานนี้.
บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกานิ ความว่า สิกขาบทที่เป็นมหาศีล ๔ ซึ่งเป็นเบื้องต้นของมรรคพรหมจรรย์. บทว่า พฺรหฺมจริยสารุปฺปานิ ความว่า สิกขาบทที่เป็นมหาศีลเหล่านั้นแลเหมาะสม คือ สมควรแก่มรรคพรหมจรรย์ที่ ๔. บทว่า ตฺตฺถ ได้แก่ ในสิกขาบทเหล่านั้น.
ลักษณะพระโสดาบัน
บทว่า ธุวสีโล แปลว่า ผู้มีศีลประจำ. บทว่า ิตสีโล แปลว่า ผู้มีศีลมั่นคง. บทว่า โสตาปนฺโน ได้แก่ ผู้เข้าถึงผลด้วยมรรคที่เรียกว่า โสตะ. บทว่า อวินิปาตธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่ตกไปในอบาย ๔ เป็นสภาพ. บทว่า นิยโต ได้แก่ ผู้เที่ยงด้วยคุณธรรมเครื่องกำหนด คือ โสดาปัตติมรรค. บทว่า สมฺโพธิปรายโน ได้แก่ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้พร้อม คือ มรรค ๓ เบื้องสูง ที่เป็นไปในเบื้องหน้า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 458
ลักษณะพระสกทาคามี
บทว่า ตนุตฺตา แปลว่า เพราะ (กิเลสทั้งหลาย) เบาบาง. อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นของพระสกทาคามี เบาบาง ไม่แน่นหนา เปรียบเหมือนชั้นแผ่นเมฆ และเปรียบเหมือนปีกแมลงวัน.
ลักษณะของพระอนาคามี
บทว่า โอรมฺภาคิยานํ ได้แก่ เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ. บทว่า สํโยชนานํ ได้แก่ สังโยชน์ (เครื่องผูกทั้งหลาย).บทว่า ปริกฺขยา แปลว่า เพราะความสิ้นไป. บทว่า โอปปาติโก โหติ ได้แก่ เป็นผู้อุบัติขึ้น. บทว่า ตตฺถ ปรินิพฺพายี ได้แก่ มีอันไม่ลงมาเกิดในภพชั้นต่ำๆ จะปรินิพพานในภพชั้นสูงนั้นแล. บทว่า อนาวตฺติธมฺโม ได้แก่ มีอันไม่หวนกลับมาอีกเป็นธรรมดา ด้วยอำนาจกำเนิดและคติ.
ผู้ทำได้เป็นบางส่วน - ผู้ทำได้สมบูรณ์
ในบทว่า ปเทสํ ปเทสฺการี เป็นต้น มีอธิบายว่า พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มีปกติทำได้เป็นบางส่วน คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีนั้น ทำไตรสิกขาให้สมบูรณ์ได้เป็นบางส่วนเท่านั้น (ส่วน) พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ คือ พระอรหันต์นั้นทำไตรสิกขาให้สมบูรณ์ได้บริบูรณ์ทีเดียว. บทว่า อวญฺฌานิ คือ ไม่เปล่า อธิบายว่า มีผล มีกำไร. แม้ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสิกขา ๓ ไว้คละกัน.
จบอรรถกถาทุติยเสขสูตรที่ ๖