นรชนผู้มีปัญญา
โดย pornpaon  29 เม.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 12114

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 130

นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มี ความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด ภิกษุ นั้นพึงถางชัฏ (ตัณหา) นี้ได้. บทว่า สปญฺโญ ได้แก่ ผู้มีปัญญา โดยปฏิสนธิมาด้วยปัญญาอันเป็นไตรเหตุอันเกิดแต่กรรม. บทว่า จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ ได้แก่ ยังสมาธิและปัญญาให้เจริญอยู่. จริงอยู่ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส สมาบัติ ๘ ไว้ด้วยหัวข้อแห่งจิต ตรัสวิปัสสนาไว้โดยชื่อว่า ปัญญา. บทว่า อาตาปี แปลว่า มีความเพียร. จริงอยู่ ความเพียร ตรัสเรียกว่า อาตาปะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเผากิเลสทั้งหลายให้เร่าร้อน. ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสของนระนั้นมีอยู่เหตุนั้น นระผู้มีความเพียรนั้นจึงชื่อว่า อาตาปี แปลว่า ผู้มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน. ในบทว่า นิปโก นี้ ตรัสเรียกปัญญาว่า เนปกะ. อธิบายว่านระผู้ประกอบด้วยปัญญา ชื่อว่า เนปกะนั้น. ทรงแสดงปาริหาริยปัญญา ด้วยบทว่า นิปโก นี้. อธิบายว่า ปัญญาอันเป็นเหตุที่บุคคลพึงบริหารให้สำเร็จกิจทั้งปวง โดยนัยว่า นี้เป็นกาลสมควรเพื่อเรียน (อุเทศ) นี้เป็น กาลสมควรเพื่อสอบถาม (ปริปุจฉา) เป็นต้น ชื่อว่า ปาริหาริยปัญญา. ในปัญหาพยากรณ์นี้ ปัญญามา ๓ วาระ. ในปัญญาเหล่านั้น ปัญญาที่หนึ่ง ชื่อว่า สชาติปัญญา (ปัญญามีมาพร้อมกับการเกิด) ปัญญาที่สอง ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา. ปัญญาที่สาม ชื่อว่า ปาริหาริยปัญญา อันเป็นเครื่องนำไปในกิจทั้งปวง.