เบือนหน้าหนี ... พระสัทธรรม
โดย ไตรสรณคมน์  5 ก.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21354

เบือนหน้าจากปริยัติ? หรือว่าเบือนหน้าจากปฏิบัติ? อย่างไรจึงชื่อว่าเบือนหน้า?

เชิญทุกท่านร่วมศึกษาและพิจารณาจากบทสนทนาดังต่อไปนี้ค่ะ ...

นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส


บทสนทนาจากธรรมบรรยายชุด ปกิณณกธรรม

คุณกฤษณา ทีนี้ถ้าเผื่อว่าไม่สนใจ ไม่ใฝ่ใจศึกษาพระสัทธรรม ถ้าไม่ศึกษา ในที่นี้พระสัทธรรม ถ้าจะหมายเอาปริยัติ คือไม่สนใจที่จะศึกษาปริยัติ คือพระไตรปิฎกและอรรถกถา แล้วก็มุ่งที่จะปฏิบัติอย่างเดียว และปฏิบัติก็เป็นหนึ่งในพระสัทธรรมด้วย อันนี้เขาก็ไม่ได้เบือนหน้าหนีพระสัทธรรมเสียทั้งหมด คือ เบือนหน้าหนีเฉพาะที่เป็นปริยัติสัทธรรม แต่ว่าไม่ได้หนีการปฏิบัติ จะเรียกว่าเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ไหมคะ เพราะว่า ...

เบือนหน้าหนีจากปริยัติ แต่ไม่ได้เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ?

อาจารย์สมพร ถ้าไม่มีปริยัติก็ปฏิบัติไม่ถูกนะครับ ถึงจะไม่เบือนหน้าหนีก็ปฏิบัติไม่ถูก ... ก็เหมือนเบือนหน้าหนี

คุณกฤษณา และในทางตรงข้ามอีกขั้นหนึ่ง สมมติว่าเบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ มุ่งแต่จะสนใจแต่ปริยัติอย่างเดียว อันนี้ก็เบือนหน้าหนีจากปฏิบัติ เป็นบางส่วนของพระสัทธรรมอีกเหมือนกัน

อาจารย์สมพร คือการเรียนปริยัติถูกต้องดีแล้วผู้นั้นต้องปฏิบัติครับ ต้องเป็นไปตามเหตุและผล คนที่ศึกษา "เข้าใจ" ดีแล้วที่จะไม่ "ปฏิบัติ" จะไม่มี นอกจากว่าปริยัติ คือการเรียนการศึกษา "ยังไม่ดีพอ"

ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม ฟังธรรมอยู่ ... นั่นคือปริยัติ พิจารณาตาม ... นั่นคือปฏิบัติ เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบแล้ว ... ปฏิเวธก็เกิดขึ้น ไม่ได้แยกอย่างนี้ ในสมัยนี้คนมีปัญญาน้อย เราก็แยกเรียนก็เรียนกันอย่างมากมายเลย ให้เข้าใจแล้วปฏิบัติ สมัยก่อนรวบรัด สิกขาเกิดพร้อมกัน เกิดในระดับเดียวกัน สิกขา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ



ความคิดเห็น 1    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 5 ก.ค. 2555

คุณกฤษณา ท่านอาจารย์สุจินต์มีความเห็นอย่างไรคะ?

ท่านอาจารย์ ...

รับฟังคำตอบของท่านได้ที่ลิงก์ค่ะ

เบือนหน้าหนีพระสัทธรรม

... ขออนุโมทนา ...


ความคิดเห็น 2    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 5 ก.ค. 2555

"... คนที่ศึกษา "เข้าใจ" ดีแล้ว ที่จะไม่ "ปฏิบัติ" จะไม่มี ..."

เพียงวลีสั้นๆ ก็มีความหมายลึกซึ้งมาก

เป็นประโยชน์มากครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิต และ กุศลวิริยะของคุณไตรสรณคมน์ ด้วยครับ


ความคิดเห็น 3    โดย saree  วันที่ 5 ก.ค. 2555

พร้อมกันดีที่สุด ต้องไปพร้อมกัน ถึงจะไม่หลง ตรงชัดๆ ไม่ต้องขัดกันดีที่สุด จะได้ ไม่เสียอะไรสักอย่าง


ความคิดเห็น 4    โดย kinder  วันที่ 5 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 5 ก.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21354 ความคิดเห็นที่ 3 โดย saree พร้อมกันดีที่สุด ต้องไปพร้อมกัน ถึงจะไม่หลง ตรงชัดๆ ไม่ต้องขัดกันดีที่สุด จะได้ ไม่เสียอะไรสักอย่าง

เห็นด้วยค่ะ พร้อมกันดีที่สุด ต้องไปพร้อมกัน

เพราะการฟัง (หรืออ่าน) ที่ถูกนั้น ต้องมีการ "พิจารณา" ตามไปด้วย

ความ "เข้าใจ" จึงจะเกิดขึ้นได้ นั่นคือการสั่งสมสภาพธรรมฝ่ายดี คือปัญญา

และปัญญานั้นเองจะตามรักษาให้เดินไปในหนทางที่ถูก คือไม่หลง

เพราะสภาพธรรมที่ปรากฏ ... ตรงตามปริยัติที่ได้เรียนมา

ตรงชัดๆ และไม่ขัดกันเลยค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย เซจาน้อย  วันที่ 5 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฟังธรรมอยู่ ... นั่นคือปริยัติ

พิจารณาตาม ... นั่นคือปฏิบัติ

เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบแล้ว ... ปฏิเวธก็เกิดขึ้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านด้วยครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เบือนหน้าหนีจากสัทธรรม

ในพระไตรปิฎก แสดง ในเรื่องของการเบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรมไว้ครับว่า

เมื่อสัตว์โลก ก่อนที่จะได้ฟังธรรม แม้จะสะสมอุปนิสัย การบรรลุไว้ แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม จิตก็ไหลไปกับอกุศลที่สะสมมามาก ก็ไม่สนใจพระธรรม มากไปด้วยอกุศล จึงเบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม เบือนหน้าคือไม่มีความสนใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เกิดปัญญาความเข้าใจ ท่านเหล่านั้น ก็ได้ทูลกับพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ทำให้ข้าพระองค์จากที่เคยเบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรมกลับมาเข้าใจถูก ข้าพระองค์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

จะเห็นนะครับว่า ปัญญานั่นเองที่เกิดขึ้นจากการฟังพระธรรม ทำให้ไม่เบือนหน้าหนี เพราะขณะนั้น เข้าใกล้ สนใจ ไม่เบือนหน้าด้วยอกุศล ความไม่รู้ ครับ แต่เกิดปัญญาในขณะนั้น

การเบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม จึงไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมที่เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจในขณะนั้น และข้อความในพระไตรปิฎก ยังแสดงต่อไปอีกครับว่า ที่ชื่อว่า ปุถุชน เพราะ เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม ด้วยเพราะว่า ปุถุชนย่อมยินดีในสิ่งที่ไม่น่ายินดี คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ด้วยอำนาจอกุศลเป็นส่วนมาก ก็ย่อมห่างเหินไม่สนใจพระธรรม ของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น เมื่อว่าโดยขณะจิตแล้ว ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะใด ขณะนั้น ชื่อว่า เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม ปุถุชน ผู้มากไปด้วยกิเลส ที่เกิดอกุศลบ่อยๆ จึงชื่อว่า ผู้ที่เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม

สำหรับในการศึกษาธรรม แม้ศึกษาธรรมแล้ว แต่ศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเพื่อได้ มีลาภ สักการะ ความรู้ เป็นต้น ขณะนั้นด้วยจิตที่เป็นอกุศล เบือนหน้าหนีจากสัทธรรม ย่อมห่างไกล ต่อ การเข้าใจพระธรรม เบือนหน้าที่จะเข้าใจ ตัวธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แต่ กลับหันหน้า ไปสู่กิเลส ความต้องการ การอยากรู้ชื่อ แต่ลืมว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ครับ

ในความเป็นจริง สัตว์โลก ผู้ที่เป็นปุถุชน ก็เป็นผู้ที่เบือนหน้าหนีจากสัทธรรมโดยส่วนมาก เพราะสะสมกิเลส และ เกิดอกุศลจิตได้บ่อยๆ แต่ผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชน แม้ จะเกิดอกุศลเป็นธรรมดา แต่เพราะได้สะสมศรัทธา ปัญญามา ก็เป็นผู้ไม่ประมาท ที่จะเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม ฟังพระธรรม เพื่อเป็นไปในการละคลายกิเลส ความไม่รู้ และ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ขณะใดที่เข้าใจพระธรรม แม้เพียงเล็กน้อย จากการฟังพระธรรม ก็เป็นผู้ไม่เบือนหน้าหนีจากสัทธรรมในขณะจิตนั้น ครับ และ เมื่ออบรมปัญญาไปเรื่อยๆ จนถึงความเป็นพระอริยบุคคล ย่อมไม่เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม โดยนัยที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางอื่น ข้อปฏิบัติอื่น เพราะได้เข้าใจถูก เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงตามที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว

ขออนุโมทนา คุณไตรสรณคมณ์และทุกท่าน ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Graabphra  วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย choonj  วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอแสดงความคิดเห็นด้วยคน

เบือนหน้าหนี แสดงว่าไม่สนใจ ในที่นี้มีสามอย่าง คือ เบือนหน้าหนี ปริยัติ ๑ ปฏิบัติ ๑ และ พร้อมกันปริยัติกับปฏิบัติ ๑ เบือนหน้าหนีปริยัติ แต่มุ่งหน้าปฏิบัติ การศึกษาคงล้มแหลวเพราะจะเต็มไปด้วยความสงสัย เป็นโอกาสให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย ไม่เข้าใจธรรมที่อยู่เฉพาะหน้า ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจจากปริยัติเท่านั้นที่จะพ้นจากความสงสัยได้ เบือนหน้าหนีปฏิบัติ แต่มุ่งหน้าปริยัติ การศึกษาน่าจะถูกต้อง เพราะเมื่อเข้าใจปริยัติ การปฏิบัติย่อมต้องมีขึ้นเอง เพราะเป็นการเจริญของสังขารขันธ์ ซึ่งการปฏิบัติไม่ใช่เราปฏิบัติแต่เป็นสังขารขันธ์ทำหน้าที่ปฏิบัติ พร้อมกันปริยัติกับปฏิบัติ ความเข้าใจอาจจะคลาดเคลื่อน เพราะยังมีการปฏิบัติ ซึ่งอาจจะเข้าใจไปว่าเราปฏิบัติ ซึ่งไม่มีเรา ...ฯ


ความคิดเห็น 11    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย pat_jesty  วันที่ 5 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย anantaya  วันที่ 15 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ