บัญญัติหายไปใหน
โดย WS202398  15 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15134

เดิมผมไม่รู้จักบัญญัติธรรม กับปรมัตถธรรม แต่เมื่อเริ่มรู้จักปรมัตถธรรม ผมหาบัญญัติธรรมไม่พบครับ บัญญัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของปรมัตถธรรมใช่หรือไม่ เพราะสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ ต้องมีสภาพเป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป บัญญัติธรรมจะปรากฏให้รู้ได้ก็ต้องผ่านทางปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เช่นกัน ไม่ว่าจะมีกระบวนการอย่างไรก็ตาม ดังนั้น บัญญัติธรรมคือสภาวะหนึ่งของการปรากฏของปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ใช่หรือไม่ บัญญัติธรรม คือ การปรากฏของสัญญาขันธ์เป็นหลักผสมกับสังสารขันธ์ ใช่หรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ควรทราบว่า บัญญัติธรรม ไม่มีสภาวะ บัญญัติเป็นเพียงเรื่อง หรือชื่อ ของ ปรมัตถธรรม เพราะมีปรมัตถธรรม ชื่อ หรือคำบัญญัติจึงมีบัญญัติ เป็นเหมือนเงาของปรมัตถธรรม...

ขอเชิญคลิกอ่าน...

บัญญัติอารมณ์


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริง มี จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของปรมัตถธรรมเพราะบัญญัติไม่มีลักษณะให้รู้ ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะ แต่เพราะมีปรมัตถธรรมนั่นแหละจึงมีบัญญัติธรรม เพราะมีขันธ์ 5 จิต เจตสิก รูปจึงบัญญัติว่าเป็นคนนั้น คนนี้ สัตว์ตัวนั้น ตัวนี้ เมื่อไม่มีปรมัตถธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ไม่มีการสมมติเรียกว่าเป็น บุคคลนั้น สิ่งนั้น สิ่งนี้ เพระไม่มีสิ่งที่มีจริงให้รู้ได้นั่นเอง ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 15 ม.ค. 2553

จิต เจตสิก รูป ไม่ต้องเรียกชื่อแต่ก็มีลักษณะใหรู้ แสดงถึงความมีจริง เช่น แข็งเมื่อ เราลองเอามือจับที่เก้าอี้ ลักษณะปรากฏคือความแข็ง ขณะนั้นเราไม่ต้องไปพูดว่านี่ แข็งนะ แต่ลักษณะแข็งก็ปรากฏแล้ว และเพราะอาศัยลักษณะแข็งที่มีจริงนั่นแหละ จึงบัญญัติเรียกชื่อว่า แข็ง ชื่อที่เรียกว่าแข็งเป็นบัญญัติ ลักษณะแข็งเป็นปรมัตถ์ เพราะมีลักษณะให้รู้ได้จริงๆ เพราะอาศัยปรมัตถ์ บัญญัติจึงมี ขณะนี้เห็น เห็นอะไร ต้องเห็นเพียงสี สีมีจริง แต่จิตคิดนึกต่อหลังจากเห็นแล้ว เป็นเรื่อง เป็นรูปร่างสัณฐานเป็นสัตว์ บุคคล (บัญญัติ) เพราะอาศัยปรมัตถ์คือ สีและการเห็น จึงมีบัญญัติเรื่องราวต่างๆ แต่บัญญัติไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปรมัตถ์ เพราะไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะให้รู้ ครับ

อุทิศกุศลให้สรรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย WS202398  วันที่ 18 ม.ค. 2553

บ้านธัมมะ

วันที่ 7 เม.ย. 2551 อ่าน 125 บัญญัติอารมณ์

บัญญัติอารมณ์

ปญฺญตฺติ (ให้รู้โดยประการต่างๆ การแต่งตั้ง) + อารมฺมณ (สภาพที่ยึดหน่วงจิต สิ่งที่ถูกจิตรู้) อารมณ์ที่จิตแต่งตั้งขึ้น หมายถึง ธัมมารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มีจริงโดยปรมัตถ์ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏแก่จิต เพราะจิตคิดนึกขึ้นจากสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น บัญญัติอารมณ์จึงเป็นสัณฐาน เรื่องราวของจิตเจตสิก รูป จึงกล่าวได้ว่า บัญญัติเป็นเงาของอรรถ คือส่วนเปรียบของปรมัตถ์


ความคิดเห็น 5    โดย WS202398  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ธัมมารมณ์ทุกชนิดเป็นบัญญัติหรือไม่


ความคิดเห็น 6    โดย WS202398  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ถ้าจะกล่าวว่าบัญญัติอันเนื่องจากรูป คือสิ่งที่ไม่สามรถ จับคู่ได้กับ รูปเสียงกลิ่นรส สัมผัสโดยปรมัตถ์ได้สนิทใช่หรือไม่

ขอตัวอย่างธัมมารมณ์ที่มิใช่บัญญัติมีหรือไม่ครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 18 ม.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 5 และ 6

ธัมมารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ มีจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน และบัญญัติ เพราะฉะนั้นธัมมารมณ์จึงไม่ได้หมายเฉพาะบัญญัติเท่านั้น ครับ ที่ไม่ใช่บัญญัติก็มีตามที่กล่าวมา ส่วนตัวอย่างธัมมารมณ์ที่ไม่ใช่บัญญัติก็ตามที่ได้ยกมาข้างต้นว่า ธัมมารมณ์มีอะไรบ้าง ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย WS202398  วันที่ 19 ม.ค. 2553
ประโยชน์ของการแยกแยะ บัญญัติกับปรมัตถ์คืออะไรครับ

ความคิดเห็น 9    โดย prachern.s  วันที่ 19 ม.ค. 2553

ควรทราบว่า ในชีวิตประจำวัน มีบัญญัติ มีปรมัตถ์ การแสดงความจริง เพื่อเข้าใจตามความเป็นจริงการรู้ตามความเป็นจริงย่อมมีประโยชน์ คือ ละความเห็นผิด ละความไม่รู้


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 6 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ