ชะตาชีวิตเกิดจากกรรม ฝืนไม่ได้ใช่หรือไม่
โดย Watcharin  7 ธ.ค. 2548
หัวข้อหมายเลข 577

เรียนถาม ท่านวิทยากร

ได้เคยอ่านมาบ้างว่า พระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อตอนประสูติ โหรได้ทำนายว่าจะปลงพระชนม์พระบิดาคือ พระเจ้าพิมพิสาร และในที่สุดท่านก็ได้ปลงพระชนม์พระบิดาจริงๆ ดังนั้น หมายความว่า เราไม่สามารถฝืนชะตาชีวิตใช่หรือไม่ เพราะบางครั้งเราไมอยากทำกรรมหนัก แต่เพราะอกุศลกรรมที่เราทำมาแล้ว ทำให้เราต้องทำกรรมหนักอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าเราจะเข้าใจประเด็นนี้แล้ว แต่เพราะกรรมเก่าบังคับเราเองใช่หรือไม่ อย่างไร ถ้าเป็นกรรมใหม่ คือเจตนาที่จะกระทำสิ่งได ในขณะนี้ เราจะเปลี่ยนมันเป็น กุศลเหตุได้หรือไม่ หรือถ้าไม่สามารถทำได้เพราะกรรมเก่าจะทำให้ กรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่เป็น อกุศลเหตุเสมอ แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 8 ธ.ค. 2548

เรื่องกรรมเก่าและกรรมใหม่เป็นเรื่องที่ละเอียด ควรศึกษาโดยละเอียด ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด ย่อมทราบตามหลักคำสอนว่าอกุศลกรรมมีโทษซึ่งนำมาซึ่งความทุกข์ กุศลกรรมไม่มีโทษ นำมาซึ่งความสุข ย่อมเว้นอกุศลกรรมอันเป็นเหตุ แห่งความทุกข์ เจริญกุศลกรรมอันเป็นเหตุแห่งความสุข อกุศลกรรมที่เคยทำสำเร็จไปแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือทำคืนได้ แต่กุศลกรรมเรา เลือกที่จะเจริญได้ ถ้าเราเห็นประโยชน์

ฉะนั้น ควรเจริญกุศลธรรมทุกๆ ประการ เพราะกุศลธรรมนำมาซึ่งความสุขทั้งโลกนี้ และโลกหน้า


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 8 ธ.ค. 2548

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑-หน้าที่ 302

นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอนคฤหบดีอุบาสก ตรัสพระคาถาว่า

[๙] บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก ด้วยคิดว่าเมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง ในคราทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวคับขันบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลก ก็เพื่อประโยชน์นี้แล

ขุมทรัพย์นั้น ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ในกาลทุกเมื่อที่เดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่ไปเสียบ้าง ความจำของเขาคลาดเคลื่อนเสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ผู้รับมรดกที่ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้น ย่อมสูญไป

ขุมทรัพย์คือบุญของผู้ใด เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล สัญญมะความสำรวม ทมะความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี

ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนไปได้ บรรดาโภคะทั้งหลายที่เขาจำต้องละไป เขาก็พาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป

ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแต่ชนเหล่าอื่น โจรก็ลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใด ติดตามตนไปได้ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น

บุญนิธินั้น อำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่างแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เทวดา แล ะมนุษย์ปรารถนานักซึ่งอิฐผลใดๆ อิฐผลทั้งหมดนั้นๆ อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ความมีวรรณะงาม ความมีเสียงเพราะ ความมีทรวดทรงดี ความมีรูปงาม ความเป็นใหญ่ยิ่ง ความมีบริวาร อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ ความเป็นใหญ่ (คือจักรพรรดิราช) สุขของพระเจ้าจักรพรรดิที่น่ารัก ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในทิพยกายทั้งหลาย อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

สมบัติของมนุษย์ ความยินดีในเทวโลก และสมบัติคือพระนิพพานอันใด อิฐผลทั้งหมดนั้นอันบุคคลย่อมได้ ด้วยบุญนิธินี้

ความที่บุคคลอาศัยสัมปทา คุณเครื่องถึงพร้อม คือมิตรแล้ว ถ้าประกอบโดยอุบายที่ชอบ เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมี ปัจเจกโพธิ และพุทธภูมิอันใด อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ ด้วยบุญนิธินี้

บุญสัมปทา คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา จึงสรรเสริญความเป็นผู้ทำบุญไว้แล

จบ นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ


ความคิดเห็น 3    โดย คุณ  วันที่ 6 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 1 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ