พาลบัณฑิต .. ความต่างแห่งพาลและบัณฑิต
โดย บ้านธัมมะ  21 ก.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 13636

Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๖ ก.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

พาลบัณฑิตสูตร

ว่าด้วยความต่างแห่งพาลและบัณฑิต

จาก ... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๙๑

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๙๑

๙. พาลบัณฑิตสูตร

ว่าด้วยความต่างแห่งพาลและบัณฑิต

[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาล ผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ประ-กอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูปในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องคนพาลเป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ กายนี้ของบัณฑิต ผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้วประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วยนามรูปในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้จึงเกิด ผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องบัณฑิต เป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์.

[๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น จะแปลกกันอย่างไรจะมีอธิบายอย่างไร จะต่างกันอย่างไร ระหว่างบัณฑิตกับพาล พวกภิกษุกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมของพวกข้าพระองค์มีพระ-ผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเดิม มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าเป็นที่รวมลง ขอประทานพระวโรกาส เนื้อความแห่งพระ-ภาษิตนี้ แจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักทรงจำไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

[๕๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาล ผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบแล้วด้วยตัณหาใดเกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้น คนพาลยังละไม่ได้ และตัณหานั้นยังไม่สิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไปคนพาลย่อมเข้าถึงกายเมื่อเข้าถึงกาย ชื่อว่ายังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสก ปริเทว ทุกขโทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ กายนี้ของบัณฑิตผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบด้วยตัณหาใด เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้นบัณฑิตละได้แล้ว และตัณหานั้นสิ้นไปแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไป บัณฑิตย่อมไม่เข้าถึงกาย เมื่อเขาไม่เข้าถึงกาย ชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสก ปริเทว ทุกขโทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นจากทุกข์ อันนี้เป็นความแปลกกัน อันนี้เป็นอธิบาย อันนี้เป็นความต่างกันของบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.

จบพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙

อรรถกถาพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙

ในพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อวิชฺชานีวรณสฺส ได้แก่ถูกอวิชชากางกั้น. บทว่าเอวมยํ กาโย สมุทาคโต ความว่า กายนี้ ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว เพราะถูกอวิชชากางกั้น และเพราะประกอบด้วยตัณหานั่นเอง ด้วยอาการอย่าง นี้.

บทว่า อยญฺเจว กาโย ได้แก่ กายที่มีวิญญาณของตน ของคนพาลนั้น นี้. บทว่า พหิทฺธา จ นามรูปํ ได้แก่และกายที่มีวิญญาณของคนเหล่าอื่นภายนอก. ข้อความนี้พึงแสดงด้วยขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ ทั้งของตนและคนอื่น. บทว่า อิตฺเถตํ ทฺวยํ ได้แก่ หมวดสองนี้. ด้วยอาการอย่างนี้. ด้วยบทว่า ทฺวยํ ปฏิจฺจ ผสฺโส นี้ท่านกล่าวจักษุสัมผัสเป็นต้น เพราะอาศัยอายตนะทั้งสองฝ่าย มีจักษุและรูปเป็นต้น ไว้ในที่อื่น แต่ในที่นี้ท่านหมายอายตนะภายในและอายตนะภายนอก นัยว่า อายตนะทั้งสองฝ่าย ชื่อว่า ใหญ่ทั้งสอง. บทว่าสเฬวายตนานิ ได้แก่ ผัสสายตนะ คือเหตุแห่งผัสสะ ๖. บทว่า เยหิผุฏฺโฐ ได้แก่ ถูกผัสสะอันเกิดขึ้นเพราะอายตนะซึ่งเป็นตัวเหตุเหล่าใดถูกต้อง. ในบทว่า อญฺตเรน นี้ พึงทราบอายตนะอื่นๆ ที่บริบูรณ์และไม่บริบูรณ์. บทว่า ตตฺร ได้แก่ในเพราะการเกิดขึ้นแห่งกายเป็นต้นของคนพาลและบัณฑิตนั้น. บทว่า โก อธิปฺปายโส ได้แก่คืออะไรเป็นความพยายามอย่างยิ่ง. บทว่า ภควํมูลกา ได้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลแห่งธรรมเหล่านั้น เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า ภควํมูลกา. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์เหล่านั้นอันพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อนทรงให้บังเกิดขึ้น เมื่อพระ-องค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง คนอื่นจะเป็นสมณะก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม ชื่อว่า สามารถจะให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น มิได้มีเลย แต่ธรรมเหล่านี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย. เพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จึงมารู้ คือ แทงตลอดธรรมเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ธรรมของพวกข้าพระองค์ จึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ภควํเนตฺติกา ความว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะได้แก่ แนะนำธรรมทั้งหลาย คือ ระบุชื่อธรรมะ เฉพาะอย่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงแสดง เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายจึงชื่อว่ามีพระ-ผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้แนะนำ. บทว่า ภควํปฏิสรณา ความว่า ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เมื่อมาปรากฏแก่พระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่า ย่อมรวมลงในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่รวมลง. บทว่า ปฏิสรนฺติ ได้แก่ ย่อมประชุม. อีกอย่างหนึ่ง ผัสสะมาด้วยอำนาจการแทงตลอดแห่งพระผู้-มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่ง ณ โพธิมัณฑสถาน ทูลถามว่า ข้าแต่พระ-ผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ชื่ออะไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเธอชื่อผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง. เวทนา. . . สัญญา. . .สังขาร. . . วิญญาณ. . . ก็มาทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าข้าพระองค์ชื่ออะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอชื่อวิญญาณเพราะอรรถว่า รู้แจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระบุชื่อธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ เฉพาะอย่างๆ ตามสภาพความเป็นจริง รวมธรรมทั้งหลายไว้ด้วยอาการอย่างนั้น เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ภควํ ปฏสรณา.บทว่า ภควนฺตํเยว ปฏิภาตุ ความว่า เนื้อความแห่งภาษิตนั้นจงปรากฏ (แจ่มแจ้ง) แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทีเดียว อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงธรรม แก่พวกข้าพระองค์เถิด.

ในคำว่า สา เจว อวิชฺชา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

อวิชชาและตัณหานั้น แม้ยังกรรมให้แล่นไป ชักปฏิสนธิมาแล้ว ดับไปก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็กล่าวคำนี้ว่า สา เจว อวิชชาสา เจวตณฺหา ไว้แม้ในที่นี้ เพราะอรรถว่า เห็นสมกัน เหมือนเภสัชที่ดื่มวันวาน แม้วันนี้บริโภคโภชนะเข้าไป เภสัชนั้นก็ยังเรียกว่า เภสัชนั่นเอง ฉันนั้น. บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่มรรคพรหมจรรย์. บทว่าทุกฺขกฺขยาย ได้แก่ เพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏทุกข์. บทว่า กายูปโคโหติ ได้แก่เป็นผู้เข้าถึงปฏิสนธิกายอื่น. ด้วยบทว่า ยทิทํ พฺรหฺมจริย-วาโส นี้ ท่านแสดงว่า มรรคพรหมจริยวาสนี้ใด. นี้คือความแปลกกันของบัณฑิตจากคนพาล. ดังนั้นในพระสูตรนี้ ท่านจึงเรียกว่าปุถุชนผู้ยังมีปฏิสนธิทั้งหมดว่าเป็นคนพาล พระขีณาสพผู้ไม่มีปฏิสนธิเรียกว่าเป็นบัณฑิต. ส่วนพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนา-คามี ใครๆ ไม่ควรเ รียกว่า บัณฑิต หรือคนพาล. แต่เมื่อคบ ก็คบแต่ฝ่ายบัณฑิต.

จบอรรถกถาพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙



ความคิดเห็น 1    โดย hadezz  วันที่ 22 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 22 ก.ย. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 22 ก.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พาลบัณฑิตสูตร (ว่าด้วยความต่างแห่งคนพาลและบัณฑิต)

ข้อความโดยสรุป

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความต่างระหว่างคนพาลกับบัณฑิต แก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า บุคคลทั้งสองประเภทนี้ ถูกต้องผัสสะ อันเป็นเหตุทำให้ได้เสวยสุขและทุกข์ เหมือนกัน แต่ที่ต่างกัน คือ คนพาล (ปุถุชนผู้ยังมีปฏิสนธิทั้งหมด) ยังละอวิชชา และตัณหาไม่ได้ เพราะไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เมื่อตายไปย่อมมีการเกิดอีก ยังเป็นผู้ไม่พ้นไปจากทุกข์ ส่วนบัณฑิต (ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์) ละอวิชชาและตัณหาได้แล้ว เพราะได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบเมื่อตายไป ไม่มีการเกิดอีก จึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง, ความต่างระหว่างบุคคลทั้งสองประเภทนี้ คือ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย pornpaon  วันที่ 23 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 23 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Jans  วันที่ 23 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย Sam  วันที่ 24 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย พุทธรักษา  วันที่ 24 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย ups  วันที่ 24 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย chamaikorn  วันที่ 25 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย talaykwang  วันที่ 28 ก.ค. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ