ในทางธรรมได้อธิบายเรื่องกาลเทศะในการกล่าวธรรมไว้อย่างไรบ้างคะ พอดีมีข้อคิดเกี่ยวกับรุ่นน้องที่ศึกษาธรรมอยู่คนนึง เวลานั่งคุยสนทนากันตามชีวิตประจำวันของคนธรรมดาทั่วไป เขาจะชอบพูดย้อนด้วยข้อธรรมต่างๆ ซึ่งทำให้คนในกลุ่มไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ อย่างเช่น กำลังสนทนากันว่างานที่ทำโดนคนสบประมาทจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่ได้เป็นแบบที่คนๆ นั้นสบประมาท รุ่นน้องคนนี้ก็จะพูดย้อนขึ้นมากลางวงสนทนาว่า “มีอัตตากันเหรอ อย่าไปยึดถืออัตตาตัวตนกันเลย ควรปล่อยวางเสียบ้าง” พอได้ยินแบบนี้ทุกคนก็เงียบ เป็นอันรู้กัน พอบางวันคนในกลุ่มกำลังจะชวนกันไปอ่านหนังสือธรรมะในห้องสมุด เขาก็จะพูดขึ้นมากลางวงว่า “ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง มีอยู่แล้วทุกขณะจิต ไม่ได้อยู่ในตำรา จะต้องไปอ่านอะไรหรือยึดติดตำราทำไม” บางทีคนในกลุ่มก็คุยกันว่าจะต้องขายของแบบนี้ๆ จะได้มีเงินไปใช้จ่ายต่างๆ เขาก็จะพูดผ่าขึ้นมากลางวงว่า “อย่าไปยึดติดกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เลย มีเงินมากก็อกุศลมาก วันๆ เอาแต่พูดเรื่องเงินๆ ทองๆ จิตใจจะมีแต่ความโลภ” ทำให้คนในกลุ่มมองว่าเขากล่าวธรรมแบบไม่มีกาลเทศะ ชอบพูดย้อน ชอบตำหนิติเตียนคนอื่นด้วยธรรมะแต่ไม่มีกาลเทศะ โดยที่เขาเองก็ยังเป็นแบบที่เขากล่าวสอนคนอื่นไม่ได้ด้วยซ้ำ เขาไม่ค่อยชอบให้คนอื่นพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่พอเขาไม่มีเงิน ก็แอบมาขอยืมคนในกลุ่ม แถมเขายังเครียดเรื่องเงินไม่มีใช้อยู่บ่อยๆ มันช่างขัดกับคำพูดที่เขาคอยพร่ำสอนหรือตำหนิคนอื่น ทีนี้ก็เลยมีรุ่นพี่โทรไปตักเตือนเป็นการส่วนตัว แต่เขาก็ยังดึงดันว่า เขามีธรรมเป็นใหญ่ กล่าวธรรมเพราะหวังดีหวังเตือนสติคน เขาบอกว่าไม่แคร์หากใครจะรับไม่ได้ เพราะเขาพูดความจริง เขามีธรรมเป็นใหญ่ พอได้ยินกันแบบนี้จึงไม่มีใครอยากจะคุยกับเขาอีกเลย แถมบางคนก็มองธรรมะที่เขาศึกษาอยู่ในแง่ลบๆ ไปเลย ดังนั้นจึงเกิดสงสัยว่าการกล่าวธรรมนั้นจะต้องมีกาลเทศะหรือไม่คะ ถ้าต้องมีแล้วพิจารณากาลเทศะนั้นอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่สาธารณะกับทุกคน เพราะฉะนั้นการกล่าวธรรมก็ต้องพิจารณาหลายประการ มี 4 ประการ เป็นต้น ดังนี้
1. ผู้ฟังว่าสนใจพระธรรมหรือไม่
2. กาลเวลาที่เหมาะสม
3. เนื้อหาของธรรมที่แสดง
4. กล่าวธรรมด้วยเมตตา ด้วยจิตอ่อนโยน
พระธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน ครับ บางคนไม่มีศรัทธา ไม่สนใจธรรม แม้คำที่เป็นธรรมจะเป็นคำดี แต่คำนั้นกับทำให้ผู้อื่นเกิดอกุศลได้ เพราะคนที่ไม่สนใจ ไม่ชอบที่จะฟังในเรื่องธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูบุคคลที่จะรับฟังว่า ควรกล่าวพระธรรมหรือไม่
กาลเวลาที่เหมาะสม หากเป็นช่วงที่ทำกิจการงาน หรือ มากไปด้วยผู้คนอยู่ แม้จะเป็นผู้สนใจพระธรรม แต่กาลเวลาที่ไม่เหมาะสม ก็ทำให้ไม่มีความสนใจ มีสมาธิที่จะฟังพระธรรมในช่วงนั้น พระธรรมที่แสดงออกไปก็เปล่าประโยชน์ ครับ
เนื้อหาของธรรม พระธรรมต้องแสดงเนื้อหาให้เหมาะสม ตามลำดับ กับทั้งตนเองและผู้อื่น คือ ต้องเป็นไปตามลำดับ เพราะไม่ได้เข้าใจธรรม โดยถูกต้องโดยละเอียด ก็คิดที่จะละโลภะ ละความยึดถือ ลืมว่าจะต้องละกิเลสเป็นไปตามลำดับ คือ ความยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์บุคคลที่เป็นความเห็นผิดก่อน ก็แสดงธรรมกล่าวให้คนอื่นอย่ายึดถือ อย่าติดข้อง แต่ในความเป็นจริงผู้ที่จะไม่ยึดถือเลย คือ พระอรหันต์ ผู้ที่ไม่ติดข้องเลยในเงินทอง รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เมื่อเป็นพระอนาคามี เมื่อกล่าวแสดงข้ามขั้น ก็ล่วงเลยวิสัยในฐานะที่ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะ แท้จริง เพียงเห็น อกุศลเกิดไม่รู้ตัวเลย ก็ติดข้องยึดถือ และ เสพกาม คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ครับ เพราะฉะนั้น การกล่าวธรรม ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่ข้ามขั้น แม้แต่เรื่องของการละกิเลส เพราะยังไม่มีปัญญาที่จะละได้ถึงระดับนั้น จะละได้อย่างไร แม้แต่ผู้ที่กล่าวเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องที่จะให้ทำจะละ แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจไปตามลำดับการแสดงธรรม จึงต้องแสดงตามเนื้อหาที่เหมาะสมเป็นพื้นฐาน ความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่การเริ่มเข้าใจถูกแม้แต่คำว่าธรรม คืออะไร
แสดงธรรมด้วยจิตที่อ่อนโยน คือ กล่าวธรรมเพื่อประโยชน์คืออนุเคราะห์เพื่อให้คนอื่นเข้าใจ แต่ไม่ใช่มุ่งติเตียนว่าคนอื่นหรือจะไปบังคับคนอื่น เพราะขณะนั้นลืมความเป็นธรรมและอนัตตา และกล่าวธรรมด้วยจิตที่อ่อนโยนหวังดีให้ผู้รับฟังเกิดปัญญา ความเข้าใจพระธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยจิตที่มีเมตตา เป็นสำคัญ ครับ
การกล่าวธรรม จุดประสงค์ ก็เพื่อประโยชน์กับผู้ได้รับฟัง เกิดความเข้าใจเห็นถูก เกิดกุศลธรรม เพราะฉะนั้น การกล่าวธรรม ที่ถูกต้อง จึงต้องมาจากจิตที่ดีงามเพื่อประโยชน์กับผู้อื่นเป็นสำคัญ
หากกล่าวธรรมเพื่อติเตียน ว่าคนอื่น ไม่ชื่อว่ากล่าวธรรม แต่เป็นการกล่าววาจาหยาบ เพราะจิตหยาบ ด้วยโทสะในขณะนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๑๓
ข้อความบางตอนจาก.. เวนาคสูตร
พระธรรมกถึกรูปใดแสดงธรรมด้วยหวังว่า เราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาศัยธรรมเทศนานี้ เทศนาของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์.
แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมุ่งหวังโลกามิส ทรงมีพระทัยอ่อนโยน ด้วยการแผ่ประโยชน์เกื้อกูลด้วยการเจริญเมตตา ทรงแสดงธรรมด้วยพระทัยที่ดำรงอยู่ในการยกย่อง เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์.
นี่ก็เป็นเหตุผลของการแสดงธรรม ต้องตามความเหมาะสม ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการตามที่กล่าวมา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นที่เคารพสักการะบูชาของมนุษย์เทวดาพรหมทั้งหลาย เพราะพระปัญญาคุณ ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงมีพระมหากรุณา แสดงพระธรรม ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง การแสดงพระธรรมของพระองค์นั้น ไม่ได้ทรงมุ่งหวังสิ่งอื่นเลย แต่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น พระอริยสงฆ์ สาวกทั้งหลายประกาศพระธรรมคำสอนตามที่พระองค์ทรงแสดง ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย เช่นเดียวกัน
การสนทนาธรรม ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูก ตรงกัน ตรงตามความเป็นจริงของธรรม (ไม่ใช่การนำเอาชื่อของธรรมมาเล่าสู่กันฟัง) ประโยชน์ของการสนทนาธรรม ก็คือ จากที่ไม่เคยเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น หรือ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็เพิ่มพูนความมั่นคงในความเข้าใจ ให้ยิ่งขึ้น
สรุปแล้ว คือ การสนทนาธรรมเป็นมงคล เป็นความดี เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นไม่ใช่เพื่อลาภสักการะสรรเสริญแต่เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้รับฟัง เป็นสำคัญ ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ได้ฟัง อันเป็นความจริงเป็นสิ่งที่มีจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง, ถ้ามุ่งประโยชน์เกื้อกูลแล้ว โอกาสที่ได้พบปะกัน แล้วได้สนทนาธรรมกันเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้น เป็นขณะที่ประเสริฐจริงๆ ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กล่าวธรรม ต้องมีเมตตากล่าว มีหลักฐาน รู้จักกาลเวลา กล่าวด้วยวาจาสุภาษิต ค่ะ
สาธุ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ